ส่องปัญหา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รุนแรง เลวร้าย ที่กระทบทุกชีวิต หากไม่ร่วมมือแก้ไข จะส่งผลเสียระยะยาว...
ต้องยอมรับว่า เวลานี้โลกเรากำลัง “แปรปรวน” จากภัยธรรมชาติ โดยมีสาเหตุหลักมาจาก “ภาวะโลกร้อน” ที่มีต้นตอจาก การปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยฝีมือมนุษย์
จากข้อมูล สหประชาชาติ ประเทศไทย (thailand.un.org/th) ระบุว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศนั้น ส่งผลร้ายแรงถึงทุกชีวิตบนโลก และมีความเสี่ยงที่สัตว์นับล้านชนิด ส่อจะสูญพันธุ์ในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า โดยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น เริ่มเห็นชัดตั้งแต่ปี ค.ศ. 1800 จากการใช้พลังงาน เผาเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกขึ้น
“ก๊าซเรือนกระจก” เปรียบลักษณะเหมือน ผ้าห่อคลุมโลกไว้ ทำให้ความร้อนไม่ระบายออก เป็นสาเหตุให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น ซึ่งก๊าซเรือนกระจกดังกล่าวได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ และ มีเทน โดยแหล่งปล่อยก๊าซใหญ่มาจากภาคพลังงาน อุตสาหกรรม ขนส่ง รวมไปถึงเกษตร
ที่ผ่านมา สหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ได้วางเป้าหมายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน และ ความตกลงปารีส ไว้ 3 ข้อกว้างๆ คือ ลดการปล่อยก๊าซ ปรับตัวให้เข้ากับผลกระทบด้านสภาพอากาศ และจัดหางบประมาณสำหรับการปรับเปลี่ยนที่จำเป็น
หมุดหมายสำคัญคือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ต้องเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 แต่ก่อนอื่นต้องลดให้ได้ครึ่งหนึ่งก่อนภายในปี 2030 เพื่อควบคุมไม่ให้อุณหภูมิโลกร้อนเกิน 1.5 องศาเซลเซียส
แต่...ในทศวรรษที่ผ่านมา ค.ศ. 2011-2020 อุณหภูมิของโลกร้อนขึ้นแล้ว 1.1 องศา นับตั้งแต่ปี 1800 ซึ่งถือว่ามาถึงจุดที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีบันทึกไว้แล้ว...
...
ผลกระทบ ที่เกิดจากโลกร้อน รุนแรง กระทบทุกชีวิต
อุณหภูมิสูงขึ้น : เกือบทุกภูมิภาคบนโลกต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนมากขึ้น ปี 2020 เป็นปีที่อากาศร้อนที่สุดในประวัติการณ์ อุณภูมิที่สูงขึ้นจะทำให้เกิดโรคและความเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากความร้อน การทำงานหรือการเดินทางลำบากขึ้น ไฟป่าก็จะเกิดง่าย อุณหภูมิในบริเวณขั้วโลกเหนือสูงขึ้นด้วยความเร็วอย่างน้อย 2 เท่าของค่าเฉลี่ยทั่วโลก
พายุรุนแรงขึ้น : การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิส่งผลต่อปริมาณฝน โดยทำให้เกิดพายุที่รุนแรงขึ้นและถี่ขึ้น เกิดน้ำท่วม ดินถล่ม
ภัยแล้งสาหัสขึ้น : หลายภูมิภาคเริ่มขาดแคลนน้ำ ความแห้งแล้งจะยิ่งทำให้พายุฝุ่นและพายุทรายรุนแรง ทะเลทรายที่ขยายตัวทำให้พื้นที่ในการเพาะปลูกลดลง ผู้คนมากมายไม่มีน้ำดื่มน้ำใช้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต
น้ำทะเลร้อนและสูงขึ้น : มหาสมุทรต้องดูดซับความร้อน ส่วนใหญ่เกิดจากภาวะโลกร้อน ส่งผลให้น้ำแข็งละลายและระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ซึ่งถือเป็นภัยต่อชุมชนริมชายฝั่งและบนเกาะต่างๆ นอกจากความร้อน มหาสมุทรยังต้องดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ให้ขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศ จนทำให้น้ำทะเลเป็นกรดและเป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเล
สิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์ : การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยต่อการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ทั้งบนบกและในน้ำ เกิดสภาพภูมิอากาศที่สุดขั้ว เกิดการแพร่กระจายของแมลงศัตรูพืชและโรคระบาด สิ่งมีชีวิตบางชนิดอาจย้ายถิ่นอาศัยเพื่อความอยู่รอด แต่บางชนิดอาจตายและสูญพันธุ์ ในอัตราที่เร็วกว่าช่วงเวลาใดๆ ที่เคยบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ถึง 1,000 เท่า โดยมี สิ่งมีชีวิตกว่า 1 ล้านชนิดเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ภายในไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า
อาหารขาดแคลน : สภาพอากาศที่แปรปรวนและรุนแรงซ้ำเติมปัญหาความอดอยากและภาวะทุพโภชนาการ ตลอดจนสร้างความเสียหายต่อการประมง การเพาะปลูก และปศุสัตว์ เพราะความร้อนทำให้แหล่งน้ำแห้งและพื้นที่ทุ่งหญ้าสำหรับเลี้ยงสัตว์ลดลง มหาสมุทรที่เป็นกรดมากขึ้นสร้างความเสียหายต่อทรัพยากรทางทะเลที่ใช้หล่อเลี้ยงผู้คนหลายพันล้านคน
ขณะที่ การเปลี่ยนแปลงของหิมะและน้ำแข็งในบริเวณขั้วโลกเหนือส่งผลกระทบอย่างหนักต่อปริมาณอาหารที่มาจากการเลี้ยงปศุสัตว์ การล่าสัตว์ และการประมง ความร้อนที่สูงยังทำให้ปริมาณน้ำและทุ่งหญ้าสำหรับเลี้ยงสัตว์หดหาย กระทบต่อปริมาณพืชผลและปศุสัตว์
...
ปัญหาสุขภาพ : การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บมากขึ้น เช่น โรคมาลาเรีย ส่งผลให้ผู้คนเจ็บป่วยเสียชีวิตจำนวนมากจนระบบสุขภาพไม่อาจรองรับได้ พื้นที่เพาะปลูกไม่เพียงพอกับผู้คน ส่งผลต่อการขาดแคลนอาหาร
ความยากจนและการพลัดถิ่น : การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นตัวกระตุ้นปัจจัยที่นำไปสู่ความยากจน เช่น อุทกภัยที่สร้างความเสียหายแก่ชุมชนแออัดในตัวเมือง บ้านเรือน ตลอดจนชีวิตของผู้คน และความร้อนที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานกลางแจ้ง ภัยพิบัติที่เกิดจากความร้อนทำให้ในแต่ละปีมีผู้คนต้องพลัดถิ่นถึง 23 ล้านคน และอีกนับไม่ถ้วนต้องเผชิญความยากจน
ต้องร่วมมือแก้ปัญหา ไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่าย (ในชีวิตจริง)
สำหรับแนวทางการแก้วิกฤติ ที่สหประชาชาติระบุไว้ มี 10 แนวทางประกอบด้วย
ประหยัดพลังงานที่บ้าน : การผลิตไฟฟ้าและความร้อนส่วนใหญ่ใช้พลังงานจากถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ เราสามารถใช้พลังงานให้น้อยลงได้โดยการปรับระดับการทำความร้อนและความเย็นให้ต่ำลง เปลี่ยนมาใช้หลอดไฟ LED และเครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน ซักผ้าด้วยน้ำเย็น หรือตากผ้าแทนการใช้เครื่องอบผ้า
...
เดิน ปั่นจักรยาน หรือใช้ระบบขนส่งสาธารณะ : ถนนทั่วโลกน้ำมันดีเซลหรือเบนซินเป็นเชื้อเพลิง การเดินหรือขี่จักรยานแทนการขับรถจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งยังช่วยเสริมสร้างสุขภาพและความแข็งแรงอีกด้วย หากคุณต้องเดินทางไกล ลองเปลี่ยนมาโดยสารรถไฟหรือรถประจำทาง และติดรถไปกับผู้อื่นเมื่อทำได้
รับประทานผักให้มากขึ้น : แค่รับประทานผัก ผลไม้ ธัญพืชเต็มเมล็ด พืชตระกูลถั่ว และเมล็ดพืชมากขึ้น และลดเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนมให้น้อยลง คุณก็สามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมาก โดยทั่วไปกระบวนการผลิตอาหารที่มาจากพืชจะสร้างก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่า อีกทั้งยังใช้พลังงาน ที่ดิน และน้ำน้อยกว่า
เลือกวิธีเดินทาง : เครื่องบินใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างมหาศาล และปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก การนั่งเครื่องบินให้น้อยลงจึงเป็นหนึ่งในวิธีที่เร็วที่สุดในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หากทำได้ ให้คุณนัดพบกันในทางออนไลน์ ขึ้นรถไฟ หรือยกเลิกการเดินทางระยะไกลนั้นไปเลย
...
รับประทานอาหารให้หมด : ทุกครั้งที่คุณทิ้งอาหาร คุณกำลังทิ้งทรัพยากรและพลังงานที่ใช้ในการเพาะปลูก/เลี้ยง ผลิต บรรจุ และขนส่งอาหารนั้นๆ และอาหารที่บูดเน่าอยู่ในบ่อขยะก็จะปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่รุนแรงมาก ดังนั้น รับประทานอาหารที่คุณซื้อมาให้หมดและส่วนที่เหลือให้หมักทำปุ๋ย
ลด ใช้ซ้ำ ซ่อมแซม และรีไซเคิล : อุปกรณ์ไฟฟ้า เสื้อผ้า และสินค้าอื่นๆ ที่เราซื้อล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ณ จุดใดจุดหนึ่งของการผลิต ตั้งแต่การหาวัตถุดิบ ไปจนถึงการผลิต และการขนส่งสินค้าสู่ตลาด คุณสามารถช่วยรักษาสภาพอากาศของเราด้วยการซื้อของให้น้อยลง ซื้อของมือสอง ซ่อมของหากซ่อมได้ และรีไซเคิล
เปลี่ยนแหล่งพลังงานในบ้าน : สอบถามบริษัทสาธารณูปโภคของคุณว่าพลังงานที่คุณใช้ในบ้านนั้นผลิตมาจากน้ำมัน ถ่านหิน หรือก๊าซหรือไม่ ถ้าเป็นไปได้ ให้ลองเปลี่ยนไปใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น ลมหรือพลังงานแสงอาทิตย์ หรือติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาเพื่อผลิตพลังงานให้บ้านของคุณ
เปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า : หากคุณวางแผนที่จะซื้อรถยนต์ ลองเลือกดูรถยนต์ไฟฟ้าซึ่งตอนนี้มีหลายรุ่นและราคาถูกลง แม้ว่าไฟฟ้าที่ใช้จะยังผลิตมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลอยู่ แต่รถยนต์ไฟฟ้าก็ช่วยลดมลพิษทางอากาศและปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่ารถยนต์ที่ใช้แก๊สหรือดีเซลอย่างมีนัยสำคัญ
เลือกผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม : ทุกการใช้จ่ายของเราส่งผลกระทบต่อโลกทั้งสิ้น คุณมีอำนาจว่าจะเลือกสนับสนุนสินค้าและบริการใดเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ให้คุณซื้ออาหารตามฤดูกาลที่ผลิตในท้องถิ่น เลือกผลิตภัณฑ์จากบริษัทที่ใช้ทรัพยากรอย่างมีความรับผิดชอบและมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและของเสีย
เป็นกระบอกเสียง : เปล่งเสียงของคุณและชักชวนผู้อื่นให้ร่วมลงมือด้วยกัน นี่เป็นหนึ่งในวิธีที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพที่สุดในการสร้างการเปลี่ยนแปลง ชักชวนเพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงาน เพื่อน และครอบครัวของคุณ บอกให้ธุรกิจต่างๆ รู้ว่าคุณต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงที่กล้าหาญและชัดเจน ตลอดจนเรียกร้องให้ผู้นำท้องถิ่นและระดับโลกดำเนินการในทันที
ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ควรเป็น “วาระแห่งชาติ”
รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กล่าวกับทีมข่าวเฉพาะกิจว่า ประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ควรจะเป็นเรื่อง “วาระแห่งชาติ” มานานแล้ว เพราะการแก้ปัญหาจำเป็นต้องใช้เงิน และระยะเวลา
ตอนนี้ทั่วโลก กำลังเจอภาวะ “เอลนีโญ” จากงานวิจัย พบว่าความเสียหายหลังจากนี้ไป ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2011-2050 มูลค่าความเสียหายโดยรวมอาจจะสูงถึง 6 แสนล้านบาท ถึง 2.85 ล้านล้านบาท คือเกือบเท่างบประมาณแผ่นดิน นี่คือ...ผลกระทบหากเราไม่ลงทุนในการแก้ปัญหา
แต่ปัญหาดังกล่าว ไม่ได้กระทบแค่ภาคเกษตรอย่างเดียว ยังกระทบทุกๆ ด้านอื่นๆ ด้วย เช่น สุขภาพ ค่าใช้จ่าย ปัญหากับธุรกิจที่ทำงานกลางแจ้ง แรงงานกลางแจ้ง อาจต้องลดเวลาทำงาน ทุกอย่างเชื่อมโยงในทุกมิติ แม้แต่การท่องเที่ยว ซึ่งระบบนิเวศนั้นมีขีดจำกัด
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ