บอร์ดยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติเตรียมนัดหารือปลาย มี.ค.นี้ ปรับเป้าหมาย การผลิตรถอีวีใหม่ หลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทั่วโลกอย่างรวดเร็ว โดยภาคเอกชนหนุนให้ไทยมีการผลิตรถอีวีเพิ่มเป็น 50% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในปี 2573 จากเดิม 30% ด้าน “กฟผ.” ผนึก 6 ค่ายรถยนต์ ร่วมขับเคลื่อนคิกออฟเปิดตัวธุรกิจอีวี รุก 4 ผลิตภัณฑ์ ปักหมุดลุยเชิงพาณิชย์ภายในไตรมาส 2-3 ปีนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เปิดตัวธุรกิจ EGAT EV Business Solutions ภายใต้ชื่องาน The Next Future Journey EGAT EV Business Solutions พร้อมลงนามความร่วมมือ EV Charging Station & Platform co creation for Electric Vehicles Project ระหว่าง กฟผ. และพันธมิตรจาก 6 บริษัทรถยนต์ชั้นนำ ได้แก่ Audi, BMW, Mercedes-Benz, MG, Nissan และ Porsche เพื่อให้ความร่วมมือกัน ในด้านสถานีอัดประจุไฟฟ้า Application เชื่อมโยงข้อมูล และการส่งเสริมการขาย
โดยนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานและ ประธานคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (บอร์ด กฟผ.) เปิดเผยว่า รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จะเป็นเทรนด์ของโลกโดยคาดการณ์ว่าปี 2568 ราคารถอีวีจะเท่ากับรถยนต์สันดาปและในปี 2583 จำนวนอีวีจะมีมากกว่ารถยนต์สันดาป เพื่อตอบโจทย์การก้าวสู่การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ (Carbon neutrality) ซึ่งบทบาทของประเทศไทย มีเป้าหมายที่จะส่งเสริมรถอีวี โดยจะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ในเดือน มี.ค.นี้ เพื่อกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนที่ชัดเจนมากขึ้นอีกครั้ง
“เดิมบอร์ดอีวีได้กำหนดเป้าหมายให้ปี 2573 จะมีการผลิตรถอีวี 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดหรือ 750,000 คัน ซึ่งการประชุมบอร์ดอีวีในเดือน มี.ค.นี้ ก็จะต้องมาดูว่าเราจะมีการปรับตัวเลขหรือไม่อย่างไร ส่วนกรณีที่เอกชนเสนอให้เป็น 50% ก็อาจจะมีความเป็นไปได้เพราะขณะนี้รถอีวีกำลังเริ่มได้รับความนิยม”
นอกจากนี้ สำหรับบทบาทของ กฟผ. และคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) นั้น
เมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติให้จัดตั้งบริษัท Egat Innovation Holdings ที่มี กฟผ.ถือหุ้น 40%, บริษัท ราช กรุ๊ป ถือหุ้น 30% และบริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด ถือหุ้น 30% เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจอีวี, แบตเตอรี่, เทคโนโลยี 5G, เทรดดิ้งไฟฟ้า โดยพร้อมที่จะเปิดให้พันธมิตรต่างๆเข้ามาร่วมดำเนินการ
ด้านนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ.ได้เปิดตัวธุรกิจใหม่ “EGAT EV Business Solutions” ที่ประกอบด้วย 4 ผลิตภัณฑ์และบริการ ได้แก่ 1.สถานีอัดประจุไฟฟ้า “EleX by EGAT” ที่ชาร์จไฟได้รวดเร็ว ซึ่ง กฟผ.ติดตั้งไปแล้ว 13 สถานี และตั้งเป้าหมายที่จะติดตั้งเพิ่มเป็น 48 สถานีในปีนี้ โดยเน้นขยายสถานีไปตามเส้นทางการเดินทางหลักทั่วประเทศ 2.MobileApplication Platform “EleXA” ที่เป็นแอปพลิเคชันสำหรับช่วยผู้ใช้รถอีวี ตั้งแต่การค้นหา การจอง ชาร์จ และจ่ายเงิน ซึ่ง กฟผ.มุ่งพัฒนาให้เชื่อมโยง ทั้งลูกค้า ร้านค้า ผู้ประกอบการ และผู้ให้บริการต่างๆที่อยู่ใกล้สถานีของ กฟผ. ซึ่งทั้งสถานีชาร์จฯและแอปพลิเคชันจะดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 2 ของปีนี้
3.ตู้อัดประจุไฟฟ้า “EGAT Wallbox และ EGAT DC Quick Charger” เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้แก่ผู้ใช้งานรถ EV โดย EGAT Wallbox เป็น Home Charger ที่เล็กกะทัดรัด สวยงาม โดย กฟผ.ได้รับสิทธิ์ในการจำหน่ายเพียงรายเดียวในประเทศไทย ปัจจุบัน กฟผ. ได้พัฒนาตู้อัดประจุไฟฟ้า EGAT DC Quick Charger ขนาด 120 kW ซึ่งสามารถช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้าได้ โดย กฟผ. จะนำผลิตภัณฑ์นี้ออกใช้งานในเชิงพาณิชย์ภายในไตรมาส 3
4.ระบบบริหารจัดการเครือข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้า “BackEN หรือ Backend EGAT Network Operator Platform” ที่จะเชื่อมโยงระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดเข้าด้วยกัน ที่พร้อมให้บริการตลอด 24 ชม. โดยทั้งหมดนี้ พร้อมให้บริการประชาชนทุกคนในปีนี้
ด้านนายวฤต รัตนชื่น ผู้อำนวยการฝ่ายแผนยุทธศาสตร์ กฟผ. กล่าวว่า ค่าบริการชาร์จไฟรถอีวีที่ กฟผ.ได้ร่วมกับเอกชนจะเฉลี่ยอยู่ที่ 7 บาทต่อหน่วย หรือ 1.30 บาทต่อกิโลเมตร (กม.) โดยขณะนี้กำลังพิจารณาที่จะจัดโปรโมชันในเดือน เม.ย.นี้ เพื่อทำให้ราคาค่าบริการชาร์จไฟสำหรับรถอีวีไม่เกิน 1 บาทต่อกิโลเมตร.