จากการระบาดของโรค “โควิด-19” และสงครามการค้าโลกที่รุนแรง ภาครัฐและเอกชนของไทยเห็นว่าการพึ่งพาตลาดส่งออกมากเกินไปจะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจ จึงต้องส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศให้เข้มแข็งมากขึ้น
ทำให้ ครม.ได้พิจารณาอนุมัติกฎกระทรวงการคลังกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2563 เพื่อส่งเสริมให้หน่วยงานราชการใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศเพิ่มขึ้น มีประกาศเป็นกฎกระทรวงที่มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2563 โดยกรมบัญชีกลางซึ่งผ่านการรับฟังความเห็นจากภาคเอกชน รวมถึงหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจในประเทศและสอดคล้องกับสถานการณ์
“นายสุพันธุ์ มงคลสุธี” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ซึ่งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ จึงมอบนโยบายให้ “นางพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล” รองประธาน ส.อ.ท. และประธานสายงานมาตรฐานอุตสาหกรรม จัดทำโครงการ “Made in Thailand” (MiT) เพื่อหวังช่วยสร้างความเข้มแข็ง รวมทั้งการส่งเสริมให้เพิ่มการใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศ ทั้งยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้รากฐานการผลิตของไทยมีความเข้มแข็งตลอดทั้งโซ่การผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ช่วยสร้างความเข้มแข็งและสร้างโอกาสทางการค้าให้กับผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าไทยได้มากขึ้น โดยเฉพาะโอกาสในการเข้าถึงระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่มีมูลค่าสูงถึงปีละ 1.77 ล้านล้านบาท
Made in Thailand ดันไทยแกร่ง
“พิมพ์ใจ” รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่าโครงการนี้ ส.อ.ท.ตั้งใจผลักดันผ่านการบังคับใช้กฎกระทรวง กำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2563 ที่ให้หน่วยงานรัฐจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่ผลิตในประเทศไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้ผู้ประกอบการไทย
ทั้งนี้ สาระสำคัญของกฎกระทรวงการคลัง กำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2563 คือ การกำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่ผลิตในประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของพัสดุที่จะใช้และในส่วนของงานก่อสร้างกำหนดให้ใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศก่อน โดยต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่า หรือปริมาณเหล็กหรือเหล็กกล้าที่ใช้ในงานก่อสร้างทั้งหมดในครั้งนั้น
ดังนั้น การรับรองสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย หรือ Made in Thailand จะใช้แนวทางการคำนวณมูลค่าตามหลักการ ASEAN Content (การใช้วัตถุดิบในกลุ่มประเทศอาเซียน) โดยปรับให้ตรงวัตถุประสงค์ของการสนับสนุนสินค้าผลิตในประเทศ ซึ่งต้องมีสัดส่วนมูลค่าวัตถุดิบผลิตในประเทศอย่างน้อย 40%
สำหรับกลุ่มสินค้า Made in Thailand ที่มีโอกาสเข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ได้แก่ กลุ่มงานจัดซื้อ อาทิ วัสดุครุภัณฑ์สำนักงาน, ครุภัณฑ์การศึกษา, ชุดยูนิฟอร์ม, อุปกรณ์คอมพิวเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มงานจ้างก่อสร้าง ซึ่งได้แก่วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในงานก่อสร้างทั้งหมด รวมถึงกลุ่มผู้ค้าส่ง ค้าปลีก (Trader) ที่เข้าร่วมยื่นเสนองานกับภาครัฐ ซึ่งต่อไปจะต้องเสนอรายละเอียดสินค้า Made in Thailand ในข้อเสนอโครงการด้วย
ส.อ.ท.พร้อมขึ้นทะเบียน
ขณะนี้ ส.อ.ท.ได้มีการเตรียมความพร้อมในการรับขึ้นทะเบียนสินค้า Made in Thai– land โดยได้เริ่มเปิดรับลงทะเบียนตั้งแต่เดือน ม.ค.ที่ผ่านมา โดยได้พัฒนาแพลตฟอร์มการลงทะเบียนอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ
ส.อ.ท.ตั้งเป้าปี 2564 จะมีผู้ยื่นขอการรับรอง Made in Thailand ไม่ต่ำกว่า 100,000 รายการสินค้า ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญมากในการสร้างหรือเพิ่มยอดขายของผู้ประกอบการกับภาครัฐในครั้งนี้
“เพื่อให้การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีสินค้าเข้าสู่ระบบการแข่งขันของตลาด ส.อ.ท.จึงระดมสินค้าขึ้นระบบการรับรองให้มากที่สุด เพื่อเพียงพอต่อความต้องการของคู่ค้าทั้งของภาครัฐและเอกชน จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการมาขึ้นทะเบียนรับรองสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ Made in Thailand โดยขอการรับรองได้ที่ https://www.mit.fti.or.th หรือสอบถามได้ที่สายงานมาตรฐานอุตสาหกรรม ส.อ.ท.”
หนุนไทยฟื้นตัวจากโควิด-19
อย่างเช่นเมื่อเร็วๆนี้ ส.อ.ท.ได้รับรอง 16 ผลิตภัณฑ์เหล็กแผ่นรีดร้อนของบริษัท สหวิริยา-สตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ “เอสเอสไอ” ผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนในประเทศ เป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศ ตามโครงการ Made in Thailand หรือ MiT เพื่อจุดประกายให้เกิดการสร้างความภาคภูมิใจ ความเชื่อมั่นในสินค้าไทย ส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชนในประเทศ หันมาสนับสนุนสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยมากขึ้น
เอสเอสไอเชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะนำไปสู่การส่งเสริมการจ้างงานในกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กเพิ่มขึ้น ตลอดจนการหมุนเวียนให้มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจซึ่งจะช่วยให้เกิดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นอย่างดี
“พิมพ์ใจ” รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวย้ำว่า โครงการ Made in Thailand จะช่วยสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการชาวไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งหากเพิ่มสัดส่วนให้ได้ตามที่กำหนดไว้ร้อยละ 60 ก็จะช่วยสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการชาวไทยเพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้านล้านบาท ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 และยังทำให้ธุรกิจของคนไทยเข้มแข็งมากขึ้น และมีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลกได้ดียิ่งขึ้น เพราะสินค้าที่ได้รับเครื่องหมาย MiT จะต้องผ่านเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้ได้มาตรฐานตามที่กำหนด
“ในระยะต่อไป ส.อ.ท.ยังมีแผนจะส่งเสริมและผลักดันไปสู่การจัดซื้อสินค้า Made in Thailand ในระบบ B2B (การทำการค้าระหว่างภาคธุรกิจกับภาคธุรกิจด้วยกัน) และส่งเสริมให้บริโภคสินค้าที่ได้รับการรับรอง Made in Thailand (B2C-การทำธุรกิจจากภาคธุรกิจสู่ผู้บริโภค) เพิ่มมากขึ้น”
คาดว่ามูลค่าที่จะเพิ่มขึ้นตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิตจะสูงมากขึ้นอีกเท่าตัวมหาศาล!!!