นาทีนี้ ต้องยกให้บริษัทรถยนต์จากประเทศจีนอย่าง “บีวายดี” (BYD) เป็นผู้ผลิตรถยนต์ที่สุดร้อนแรงในตลาดรถระดับโลก
แม้ว่าบีวายดีจะยังไม่ได้มีการส่งออกรถยนต์ไปเจาะตลาดรถในสหรัฐอเมริกา แต่ปีที่แล้วบีวายดีสามารถทำมูลค่าจากการขายรถแซงหน้า “เทสลา” (Tesla) ของ “อีลอน มัสก์” เจ้าของค่ายรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่สุดของสหรัฐฯ
โดยปีที่ผ่านมาบีวายดีสามารถกวาดรายได้ทั่วโลกทะลุแสนล้านดอลลาร์ครั้งแรก และเป็นครั้งแรกที่แซงหน้าเทสลาด้วยการทำรายได้ถึง 7.77 แสนล้านหยวน หรือ 1.07 แสนล้านดอลลาร์ มีการส่งมอบรถทั้งหมดรวมรถยนต์ไฟฟ้าล้วน (BEV) และ รถไฮบริด 4.27 ล้านคัน ส่งผล ให้ยอดขายเพิ่มขึ้น 29% ในขณะที่เทสลาทำรายได้ 9.77 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่งมอบรถทั้งหมด 1.79 ล้านคัน
ขึ้นแท่นเป็นผู้นำแห่งโลกยนตกรรมพลังงานใหม่ (NEV -New Energy Vehicle)
และต่อไปนี้คือยุทธศาสตร์ของบีวายดีในการรุกตลาดรถยนต์ทั่วโลก!!!
สำหรับค่ายรถบีวายดี หรือชื่อเต็มๆคือ บริษัท BYD Auto Co., Ltd. มีฐานที่มั่นใหญ่อยู่ที่นครเส้ินเจิ้น ประเทศจีน โดยมีโรงประกอบรถยนต์อันทันสมัยกระจายอยู่หลายเมืองทั่วประเทศจีน ถือเป็นบริษัทในเครือ BYD Company ที่มี “หวัง ชวนฟู่” (Wang Chuanfu) เป็นประธานใหญ่
เริ่มก่อตั้งบริษัท BYD Company เมื่อปลายปี 1984 จากบริษัทเล็กๆที่รับจ้างผลิตแบตเตอรี่ เน้นที่แบตเตอรี่นิกเกิล-แคดเมียม (NiCd) แบบชาร์จซ้ำได้ ชูจุดเด่นที่ราคาถูกกว่าของญี่ปุ่น เพราะใช้แนวทางการผลิตแบบใหม่ที่เน้นใช้แรงงานคนมากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากกระบวนการที่ใช้เงินทุนจำนวนมากและเป็นระบบอัตโนมัติในญี่ปุ่น กระบวนการผลิตนี้ควบคู่ไปกับการผลิตเครื่องจักรหลักภายในบริษัท ช่วยลดต้นทุนต่อหน่วยได้อย่างมากเมื่อเทียบกับคู่แข่งในญี่ปุ่นโดยลดลงประมาณ 5-6 เท่า ทำให้ต่อมาบีวายดีได้ทะยานเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ NiCd ชั้นนำของโลกอย่างรวดเร็ว จากนั้นยังได้ครองส่วนแบ่งตลาดแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลกและเป็นผู้ผลิตจีนรายใหญ่ที่สุดของแบตเตอรี่แบบชาร์จไฟได้ทุกประเภท
ต่อมาบีวายดียังได้แตกไลน์ด้วยการรับจ้างผลิตส่วนประกอบโทรศัพท์มือถือในช่วงต้นทศวรรษปี 2000 และยังได้เข้าซื้อกิจการบริษัทผลิตยานยนต์ขนาดเล็ก Xi'an Qinchuan Automobile จาก Norinco ซึ่งเป็นบริษัทด้านการป้องกันประเทศของรัฐเมื่อต้นปี 2003 โดยมีความตั้งใจที่จะพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่
แม้ช่วงแรกของการทำรถยนต์ในช่วงแรกจะมีเสียงค่อนขอดจากสารพัดฝ่าย ซึ่งรวมทั้งนักลงทุนในตลาดหุ้นและสื่อ แต่ผู้บริหารของบีวายดีก็ยังคงฮึดสู้ พร้อมใช้ชื่อแบรนด์ “BYD” ที่ย่อมาจาก “Build Your Dream” หรือ “สร้างความฝันด้วยตัวคุณเอง” ตรงกับป้ายภาษาจีนที่ว่า 淡就梦想 ที่ตั้งอยู่หน้าพิพิธภัณฑ์บีวายดี (BYD Museum) ในนครเส้ินเจิ้น
รถยนต์คันแรกของ BYD เป็นรถยนต์เบนซินธรรมดา คือ BYD F3 เริ่มผลิตเมื่อไตรมาส 2 ปี 2005 จากนั้นเริ่มผลิตรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดรุ่นแรกคือ BYD F3 DM ในปี 2008 ตามมาด้วยรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่รุ่นแรกคือ BYD e6 ในปี 2009
โดยตั้งแต่ปี 2020 BYD Auto มียอดขายเติบโตอย่างมาก ซึ่งขับเคลื่อนโดยส่วนแบ่งการตลาดที่เพิ่มขึ้นของรถยนต์พลังงานใหม่ในประเทศจีน ตั้งแต่ปี 2021 บริษัทได้ขยายการขายรถยนต์นั่งไฟฟ้าไปยังตลาดต่างประเทศ โดยส่วนใหญ่ไปยังยุโรป เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โอเชียเนีย และอเมริกา ในเดือนมีนาคม 2022 BYD ได้ประกาศยุติการผลิตรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาป เพื่อมุ่งเน้นไปที่รถยนต์พลังงานใหม่
จากนั้นในไตรมาสที่ 4 ของปี 2023 BYD เป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่มีแบตเตอรี่ขายดีที่สุดในโลกแซงหน้า เทสลา และในปีนั้น BYD ยังเป็นแบรนด์รถยนต์ที่ขายดีที่สุดในจีนแซงหน้า “โฟล์กสวาเกน” (Volkswagen) ซึ่งครองตำแหน่งนี้มาตั้งแต่ที่จีนเปิดเสรีอุตสาหกรรมยานยนต์
เคล็ดลับที่ทำให้บีวายดีโดดเด่นในโลกยานยนต์อย่างรวดเร็วก็มาจากการบูรณาการแนวตั้งอย่างกว้างขวาง โดยใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญของกลุ่ม BYD ในการผลิตแบตเตอรี่และส่วนประกอบที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น มอเตอร์ไฟฟ้าและระบบควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนประกอบส่วนใหญ่ที่ใช้ในรถยนต์
โดยจากกระบวนการผลิตภายในของบริษัทภายในกลุ่มทำให้สามารถควบคุมได้และมีความยืดหยุ่นทั้งในด้านต้นทุนและปริมาณ
นอกจากนี้ กลุ่มยังดำเนินการเหมืองลิเทียม การประมวลผลลิเทียม การผลิตแบตเตอรี่ และหน่วยผลิตชิปคอมพิวเตอร์ภายในบริษัท
โดย ณ ปี 2024 บริษัท FinDreams Battery ซึ่งเป็นบริษัทในเครือแบตเตอรี่ของ BYD เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ ไฟฟ้ารายใหญ่เป็นอันดับสองของโลก รองจาก CATL โดยมี ความเชี่ยวชาญด้านแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนฟอสเฟต (LFP) รวมถึงแบตเตอรี่ Blade ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของ BYDที่สำคัญในกระบวนการผลิตรถยนต์ของบีวายดีโดยส่วนใหญ่ยังเน้นใช้หุ่นยนต์หรือโรบอต
บีวายดีได้เดินสายขยายอาณาจักรของบีวายดีไปยังต่างแดนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยประธาน “หวัง ชวนฟู่” ย้ำว่าเป้าหมายหลักของบีวายดีคือการขยายส่วนแบ่งการตลาดในประเทศอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่รักษากำไรที่เพียงพอ ซึ่งเป็นการวางรากฐานสำหรับตำแหน่งทางการตลาดในระยะยาว
โดยเป้าหมายในปี 2025 คือ ยอดขายรถยนต์ 5.5 ล้านคัน (รวมกว่า 800,000 คันสำหรับตลาดต่างประเทศ) ซึ่งถือเป็นการเติบโต 30% ในจีน และการเติบโต 91.8% ในตลาดโลก
บีวายดีตั้งใจจะเพิ่มยอดขายในต่างประเทศเป็น 2 เท่า เป็น 800,000 คันในปี 2025 (ปี 2024 ขายในตลาดต่างประเทศได้ถึง 417,204 คัน) และจะพยายามทลายกำแพงภาษีศุลกากรด้วยการประกอบรถยนต์ในประเทศต่างๆ
โดยมองเห็น “โอกาสอันยิ่งใหญ่” ที่จะเติบโตอย่างรวดเร็วในกลุ่มประเทศละตินอเมริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรัฐบาลและประชาชนมีทัศนคติที่ดีต่อแบรนด์จีน
บีวายดีตั้งใจจะเป็นผู้นำในการผลักดันต่างประเทศโดยผู้ผลิตรถยนต์จีน โดยเปิดโชว์รูมในตลาดตั้งแต่ออสเตรเลียไปจนถึงเยอรมนี
ปัจจุบันบีวายดีกำลังสร้างโรงงานในบราซิล ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของบีวายดีที่ตั้งอยู่นอกประเทศจีน
ทั้งยังกำลังสร้างโรงประกอบรถยนต์ในประเทศไทย ฮังการี และตุรกี
บีวายดีย้ำว่ายังไม่มีแผนที่จะขายรถยนต์ให้กับแคนาดาและสหรัฐอเมริกาในระยะสั้น
ล่าสุด บีวายดียังมีแผนจะสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าถึง 600,000 คันต่อปี ใกล้เมืองไฮเดอราบาด ประเทศอินเดีย ภายในปี 2032
“หลิว เสวียเลี่ยง” ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายขายประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัท บีวายดี ออโต้ อินดัสทรี จำกัด กล่าวกับคณะสื่อมวลชนไทยที่เดินทางไปชมความก้าวหน้าของ “บีวายดี” ที่นครเส้ินเจิ้น เมื่อปลายเดือนมีนาคมปีนี้ว่า ถึงแม้ปีนี้เพิ่งจะผ่านมาได้เพียง 3 เดือน แต่บีวายดีก็ได้สร้างปรากฏการณ์ที่ฮือฮาให้กับโลกรถยนต์ด้วยการเปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ในประเทศจีนถึง 3 ครั้งแล้ว เพื่อส่งมอบประสบการณ์การขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าที่มีทั้งความฉลาดและมอบความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้ ได้แก่
1.การเปิดตัวระบบขับขี่อัจฉริยะ God’s Eye ในรถยนต์ BYD รุ่นยอดนิยม เพื่อให้ “ทุกคนขับเคลื่อนด้วยระบบอัจฉริยะ”
2.การเปิดตัวโดรนอัจฉริยะ Lingyuan ที่สามารถติดตามรถยนต์และถ่ายวิดีโอระหว่างเดินทางได้ มีลานลงจอดที่พับเก็บได้บนหลังคารถ ช่วยให้การขับรถเพิ่มความสนุกสนาน
และ 3.การเปิดตัวระบบ Super e–Platform แพลตฟอร์มรถยนต์ไฟฟ้าใหม่ ชาร์จเร็ว 100V โดยชาร์จไฟแค่ 5 นาทีก็วิ่งได้ 400 กม. เกือบเทียบเท่ากับการเติมน้ำมัน
สำหรับทิศทางการทำตลาดรถยนต์ในประเทศไทย ปัจจุบัน BYD ได้เข้ามาทำการตลาดครบ 3 ปีแล้ว โดยตามแผนช่วง 3 ปีแรก จะเปิดตัวรถให้ครบ 10 รุ่น ซึ่งปัจจุบันได้เปิดตัวรถภายใต้แบรนด์ BYD ไปแล้ว 6 รุ่น และภายใต้แบรนด์ DENZA 1 รุ่น โดยภายในสิ้นปีนี้มีแผนจะเปิดตัวรถรุ่นใหม่อีก 3 รุ่น คาดว่าเป็นรถยนต์จากแบรนด์ DENZA 1 รุ่น
การทำตลาดในไทย BYD ยังคงโฟกัสรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าล้วน (BEV) และปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) ดังนั้น ในปีนี้นอกจากจะเปิดตัวรถรุ่นใหม่แล้ว BYD ยังให้ความสำคัญกับเรื่องเทคโนโลยีและโรงงานผลิตในไทยด้วย
เพราะผู้บริโภคชาวไทยมีความสนใจด้านไฮเทคโนโลยี ซึ่ง BYD ก็พัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยในงานบางกอก อินเตอร์ เนช่ันแนล มอเตอร์โชว์ 2025 บีวายดีได้มีการจัดแสดงรถยนต์รุ่นใหม่ รวมถึงเทคโนโลยีด้านยานยนต์
โดยในงานบางกอก อินเตอร์เนชันแนล มอเตอร์โชว์ 2025 บีวายดีได้ร่วมกับ บริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด ผู้จัดจำหน่ายและให้บริการหลังการขายรถยนต์พลังงานไฟฟ้า BYD และ DENZA อย่างเป็นทางการในประเทศไทย ภายใต้กลุ่มธุรกิจเรเว่ ซึ่งนอกจากจะออกบูธ BYD และ Denza ด้วยพื้นที่ขนาดใหญ่แล้ว ยังได้จัดกิจกรรม BYD Lab เป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 5 เมืองทองธานี พื้นที่จัดแสดงขนาด 5,000 ตร.ม. ที่น่าตื่นตาหลายรูปแบบรวมถึงการทดลองขับรถยนต์ภายในอาคาร ผ่านสถานีจำลองที่มีความท้าทาย, นิทรรศการแสดงเทคโนโลยีผ่านสื่อหลายรูปแบบ และอื่นๆอีกมากมาย
มีกิจกรรมที่เป็นไฮไลต์มากมาย รวมถึงครั้งแรกของไทยกับการสาธิตระบบขับเคลื่อนรถยนต์เหนือน้ำในกรณีฉุกเฉิน หรือ Emergency Floating Function ซึ่งติดตั้งมาใน Yangwang U8 ทั้งยังมีสาธิตระบบบังคับเลี้ยว 4 ล้อ แบบ Crab Walk ใน DENZA Z9 GT
โดย BYD Lab แบ่งออกเป็น 5 ส่วนหลักด้วยกัน ประกอบด้วย Creation-Lab, Tech-Lab, Vision-Lab, Simulation-Lab และ Test-Lab ซึ่งแต่ละสถานีผ่านการพัฒนาและออกแบบมาภายใต้ 3 แนวคิดหลัก เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้สังเกต (Observing), เรียนรู้ (Learning) และทดสอบ (Testing)
แต่ละส่วนของ BYD Lab ล้วนมีไฮไลต์อยู่ ซึ่งทั้งหมดรวบรวมอยู่บนพื้นที่จัดแสดงกว่า 5,000 ตร.ม. โดยส่วนแรกของกิจกรรมนั้นคือ Creation-Lab ให้ผู้เข้าร่วมงานได้ค้นพบนวัตกรรม และเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าจาก BYD ผ่านนิทรรศการที่มีสื่อหลากหลายรูปแบบ รวมถึงรถยนต์จัดแสดง
สถานีถัดไปเป็น Tech-Lab ให้ผู้เข้าร่วมงานได้เรียนรู้เทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าผ่านการจัดแสดง E-Platform
ส่วนที่สามของ BYD Lab คือ Vision-Lab ให้ผู้เข้าร่วมงานได้สัมผัสกับ Yangwang U8 คันจริงร่วมกับการใช้กล้อง interactive AR เพื่อศึกษาเทคโนโลยีในรถยนต์ผ่านภาพเสมือนจริง
ส่วนถัดไปเป็น Simulation–Lab ให้ผู้เข้าร่วมงานชมศักยภาพของ Yangwang U8 ที่สามารถขับเคลื่อนได้ในสระน้ำความลึก 1.5 เมตร
และส่วนสุดท้าย ผู้เข้าร่วมงานจะได้ทดลองขับรถยนต์ BYD รุ่นที่ชื่นชอบผ่านสถานีจำลองรูปแบบต่างๆในส่วน Test-Lab
ในส่วนการวางแผนด้านการผลิตรถยนต์ในไทย บีวายดีมีเป้าผลิตที่ 150,000 คันต่อปี ถึงแม้ว่าสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนี้จะไม่สดใส แต่บีวายดียังคงยึดมั่นตามแผนเดิม ไม่ลดกำลังการผลิต เนื่องจากบริษัทวางแผน การผลิตรถยนต์สำหรับส่งมอบในไทย รวมถึงส่งออกไป
ยังตลาดต่างประเทศด้วย โดยที่จะส่งออกเป็นรุ่นแรกของบีวายดีจากฐานผลิตในไทยคือ BYD Sealion 6 PHEV
ส่วนการตั้งโรงประกอบรถยนต์ BYD ในประเทศอินโดนีเซีย ถึงแม้ว่าจะตั้งอยู่ในภูมิภาคอาเซียนด้วยกัน แต่ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อไทย เนื่องจากในอินโดนีเซียนิยมรถรูปแบบเอ็มพีวี แตกต่างจากไทย ซึ่ง BYD ได้วางแผนผลิตรถยนต์ให้ตอบโจทย์ของแต่ละตลาดอยู่แล้ว
บีวายดียังคงวางยุทธศาสตร์ที่ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของบีวายดีประจำอาเซียน และยังคงมุ่งมั่นทำตลาดในไทยอย่างเต็มที่!!!
ทีมเศรษฐกิจ
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” เพิ่มเติม