เผลอแป๊บเดียว ปีเก่าเพิ่งผ่านพ้นไป ปีใหม่เพิ่งก้าวเข้ามา โดยปีที่ผ่านมานับเป็นปีที่ผ่านไปไวกว่าปกติ เพราะมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ทำให้เกือบทุกคนต้องจำศีลไปนานหลายเดือน
แต่ยังโชคดีที่โครงการลงทุนเมกะโปรเจกต์ โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐบาลไม่ได้หยุดนิ่งตามไปด้วย
ยังคงขะมักเขม้นเดินหน้าก่อสร้างไม่มีหยุด โดยเฉพาะ “โครงข่ายรถไฟฟ้าใยแมงมุม” โครงการในฝันของชาวกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งก่อสร้างกันมาแล้วอย่างยาวนาน
ตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางราง ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พ.ศ. 2553-2572 ฉบับที่ 1 ของกระทรวงคมนาคม มีแผนก่อสร้างรถไฟฟ้าทั้งหมด 14 เส้นทาง และมีอีก 3 เส้นทางที่อยู่นอกเหนือแผนแม่บทซึ่งอยู่ภายใต้กำกับดูแลของกรุงเทพมหานคร คือ สายสีทอง สายสีฟ้าอ่อน และ สายสีเขียว
โดยถึงวันนี้ต้องบอกว่าความฝันเรืองรองของคนกรุงฯและปริมณฑล กำลังใกล้เป็นจริงขึ้นมาทุกขณะ เพราะในปี 2564 จะมีรถไฟฟ้าสร้างเสร็จและพร้อมเปิดใช้งานได้หลายสายทาง ระยะทางรวมกว่า 541.32 กม.
เพื่อไม่ให้เสียเวลา ทีมข่าวเศรษฐกิจไทยรัฐ ขอพาไปอัปเดตโครงการรถไฟฟ้าทุกสาย รวมถึงจุดเชื่อมต่อต่างๆ ที่กำลังจะเปิดใช้ ตลอดจนแผนก่อสร้างในอนาคตอันใกล้กันได้เลย
สายสีแดง อยู่ภายใต้กำกับดูแลของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นับเป็นหนึ่งในมหากาพย์ความยาวนานของการสร้างรถไฟฟ้าไทย ซึ่งเริ่มสร้างกันมาตั้งแต่ปี 2556 แต่ในที่สุดก็ได้ฤกษ์เตรียมเปิดใช้กันในเดือน มี.ค.2564 นี้
โดยจะเปิดใช้ทั้ง 2 ช่วง บางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26.3 กม. มีทั้งสิ้น 10 สถานี และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทางอีก 15.2 กม. จำนวน 5 สถานี
ถือเป็นเส้นทางหลักในการเชื่อมต่อการเดินทางจากตอนเหนือสู่ทางตอนใต้ของกรุงเทพฯ โดยมีแนวเส้นทางอยู่ทางรถไฟเดิม ผ่านพื้นที่สำคัญทั้งดอนเมือง รังสิต และอีกฝั่งผ่านไปย่านตลิ่งชัน โดยมีหัวใจสำคัญอยู่ที่การเชื่อมต่อตรงกับสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งเป็นศูนย์กลางระบบรางที่ใหญ่และทันสมัยสุดในอาเซียน
สามารถเชื่อมการเดินทางได้ทั้งจากระบบราง รถไฟทางไกล รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าเชื่อมสนามบิน และรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตเมือง สายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีเขียว ตลอดจนสถานีขนส่งผู้โดยสาร บขส. และยังรองรับแผนพัฒนาพื้นที่โดยรอบเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงพาณิชย์
นอกจากนี้ ในสายสีแดงยังมีจุดเชื่อมต่ออื่นๆ กับรถไฟฟ้าอีกหลายสาย เช่น บริเวณบางซ่อนเชื่อมกับสายสีม่วง และบริเวณหลักสี่เชื่อมกับสายสีชมพู โดยตามแผนจะเปิดทดสอบเสมือนจริงเดือน มี.ค.64 และเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ได้เดือน พ.ย.2564
ส่วนแผนของการสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงในระยะต่อไป จะมีการเพิ่มทั้งช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต อีก 4 สถานี ที่วางเป้าหมายเปิดได้ปี 2569 ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง (Missing Link) ช่วงหัวลำโพง-วงเวียนใหญ่-มหาชัยจะเปิดให้บริการได้ปี 2571
อีกทั้งยังมีช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช และช่วงบางซื่อ-มักกะสัน-หัวหมาก ตลอดจนมีแผนศึกษาการสร้างส่วนต่อขยายออกไปยังจังหวัดใกล้เคียงกรุงเทพฯ ในอนาคตอีกด้วย
รถไฟฟ้าอีกสายที่พร้อมเปิดให้ใช้ในปี 2564 คือ สายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต มีระยะทาง 18.7 กม. จำนวน 16 สถานี
ปัจจุบันเริ่มทดลองเปิดใช้ไปแล้วเมื่อเดือน ธ.ค.ปีที่ผ่านมา แต่จะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ได้เต็มรูปแบบในปีนี้ ซึ่งรถไฟฟ้าสายสีเขียวถือเป็นรถไฟฟ้าสายแรกที่ช่วยเชื่อมการเดินทางแบบไร้รอยต่อ ให้ชาวเมืองหลวงและปริมณฑลได้เป็นสายแรก
เริ่มตั้งแต่กรุงเทพมหานคร (สายสุขุมวิท-สายสีลม) ไปยังสมุทรปราการ ผ่านถนนสุขุมวิท แบริ่ง-สมุทรปราการ และปิดท้ายที่จังหวัดปทุมธานี ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต นอกจากนี้ สายสีเขียวยังมีจุดเชื่อมต่อสำคัญกับรถไฟฟ้าได้อีกหลายสาย โดยที่เปิดใหม่ เช่น บริเวณห้าแยกลาดพร้าวเชื่อมกับสายสีน้ำเงิน บริเวณวัดพระศรีมหาธาตุ เชื่อมต่อการเดินทางกับสายสีชมพู
นอกจากนี้ ในระยะต่อไปยังมีแผนขยายเส้นทางเพิ่มเติมจากบางหว้า-ตลิ่งชัน อีก 7.5 กม. จำนวน 6 สถานี ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอยู่
ถือเป็นโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรองฝั่งธนบุรี ซึ่งอยู่นอกแผนแม่บทของกระทรวงคมนาคม แต่ปัจจุบันได้ก่อสร้างเสร็จอย่างรวดเร็ว และเริ่มเปิดให้บริการแล้วเมื่อเดือน ธ.ค.ปีที่ผ่านมา
โดยเป็นรถไฟฟ้าสายสั้นที่สุดของไทยด้วยระยะทางเพียง 5.7 กม. จำนวน 3 สถานีเท่านั้น
ใช้ระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติแบบไร้คนขับ มีแนวเส้นทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว บริเวณสถานีกรุงธนบุรี วิ่งไปตามแนวถนนเจริญนคร ผ่านศูนย์การค้าไอคอนสยาม สำนักงานเขตคลองสาน และระยะที่ 2 จะมีการสร้างเพิ่มไปสถานีสำนักงานเขตคลองสาน-สถานีประชาธิปก
ถัดไปเราไปติดตามโครงการรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างอยู่ และมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องกันบ้าง เริ่มจากรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. มี 30 สถานี เป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยว มีจุดเชื่อมการเดินทางจากจังหวัดนนทบุรีไปกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก
เริ่มต้นสายอยู่ถนนรัตนาธิเบศร์ด้านหน้าศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรี ไปสิ้นสุดที่ทางแยกร่มเกล้า เขตมีนบุรี โดยบริเวณแยกร่มเกล้ายังเป็นที่ตั้งของอาคารศูนย์ซ่อมบำรุงและศูนย์ควบคุมการเดินรถพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก ได้แก่ อาคารจอดรถ และจุดอำนวยความสะดวกสำหรับผู้โดยสารที่จะเดินทางไปขนส่งมวลชนระบบอื่นอีกด้วย
ข้อมูลอัปเดตล่าสุด ณ สิ้นเดือน พ.ย. 2563 การก่อสร้างงานโยธาก้าวหน้าไปแล้ว 68.49% งานระบบรถไฟฟ้าก้าวหน้า 62.76% ซึ่งตามแผนกำหนดเปิดให้บริการได้ปี 2565
จุดเด่นของสายสีชมพูมีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่นหลายจุด เช่น บริเวณศูนย์ราชการนนทบุรีเชื่อมกับสายสีม่วง และสายสีน้ำตาล บริเวณมีนบุรีเชื่อมต่อกับสายสีส้ม บริเวณวัดพระศรีมหาธาตุเชื่อมกับสายสีเขียว บริเวณหลักสี่เชื่อมกับสายสีแดง ขณะเดียวกัน สายสีชมพู ยังเตรียมแผนสร้างส่วนต่อขยายเพิ่มเติมในอนาคต ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ซึ่งอยู่ระหว่างแก้ไขสัญญาสัมปทานและน่าจะมีข่าวดีเร็วๆ นี้
รถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทางรวม 30.4 กม. มี 23 สถานี
สร้างเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยวแบบยกระดับ เชื่อมการเดินทางจากใจกลางกรุงเทพฯ ไปสู่จังหวัดสมุทรปราการ ผ่านบริเวณถนนลาดพร้าว ตัดกับถนนรัชดาภิเษก ย่านสำโรงเหนือ ในโครงการมีอาคารศูนย์ซ่อมบำรุงและศูนย์ควบคุมการเดินรถตั้งอยู่บนถนนศรีนครินทร์ บริเวณทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์ตัดกับบางนา-ตราด รวมไปถึงเป็นที่ตั้งของอาคารจอดรถเพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับผู้โดยสารที่จะเดินทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าฯ และระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ
ปัจจุบัน โครงการก้าวหน้าไปมาก งานโยธาเสร็จไปแล้ว 70.64% งานระบบรถไฟฟ้าก็ทำได้แล้ว 64.56% และพร้อมเปิดให้บริการเต็มรูปแบบปี 2565
โดยมีจุดเชื่อมต่อการเดินทางที่สำคัญ ได้แก่ บริเวณแยกลำสาลีกับสายสีส้ม และสายสีน้ำตาล บริเวณแยกรัชดา-ลาดพร้าว กับรถใต้ดินเอ็มอาร์ทีสายสีน้ำเงิน บริเวณสำโรงกับสายสีเขียว และบริเวณหัวหมากกับสายสีแดง และแอร์พอร์ตลิงก์ ขณะเดียวกันยังเตรียมสร้างส่วนต่อขยาย ช่วงแยกรัชดา-ลาดพร้าว-แยกรัชโยธิน ซึ่งอยู่ระหว่างแก้ไขสัมปทานในตอนนี้ด้วย
รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี เป็นระบบรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ ระยะทาง 22.57 กม.
ประกอบด้วยสถานีใต้ดิน 10 สถานี ได้แก่ สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นสถานีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ทีสายสีน้ำเงิน และจากนั้นมุ่งหน้าไปสู่สถานี รฟม. สถานีวัดพระราม 9 สถานีรามคำแหง 12 สถานีรามคำแหง สถานี กกท. สถานีหัวหมาก สถานีลำสาลี สถานีศรีบูรพา และสถานีคลองบ้านม้า จากนั้นโผล่จากใต้ดินขึ้นสู่การเป็นทางยกระดับ 7 สถานี ได้แก่ สถานีสัมมากร สถานีน้อมเกล้า สถานีราษฎร์พัฒนา สถานีมีนพัฒนา สถานีเคหะรามคำแหง สถานีมีนบุรี และสถานีสุวินทวงศ์ เป็นจุดสิ้นสุดโครงการ
สถานะโครงการปัจจุบันมีความก้าวหน้างานก่อสร้างโยธา 72.74% มีแผนเปิดใช้ได้ในปี 2567
ถือเป็นโครงการรถไฟฟ้าสายแรกที่เชื่อมกรุงเทพฯฝั่งตะวันออกสู่ใจกลางเมือง โดยมีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่นได้ที่บริเวณมีนบุรีกับสายสีชมพู บริเวณแยกลำสาลีกับสายสีเหลือง และสีน้ำตาล
นอกจากนี้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ยังอยู่ระหว่างดำเนินโครงการสายสีส้ม ฝั่งตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยสร้างเป็นระบบรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ ระยะทาง 13.4 กม. วิ่งใต้ดินตลอดสาย 11 สถานี ได้แก่ สถานีบางขุนนนท์ สถานีศิริราช สถานีสนามหลวง สถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สถานีหลานหลวง สถานียมราช สถานีราชเทวี สถานีประตูน้ำ สถานีราชปรารภ สถานีดินแดง สถานีประชาสงเคราะห์ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างเปิดประมูลคัดเลือกผู้รับเหมา และจะก่อสร้างได้ภายในปี 64 เพื่อเปิดให้บริการได้ภายในปี 70
ต่อมาเป็นแผนโครงการรถไฟฟ้าแห่งใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ซึ่งมีอยู่หลายสาย จะผ่านที่บ้านที่ทำงานใครบ้าง ไปติดตามกันเลยเริ่มต้นกับ รถไฟฟ้าสายสีม่วง ส่วนต่อขยายช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก)
มีจุดเริ่มต้นเชื่อมกับรถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ที บริเวณสถานีเตาปูน และไปสิ้นสุดเส้นทางบริเวณครุใน ระยะทาง 23.6 กม.
แบ่งเป็นเส้นทางวิ่งใต้ดิน 12.6 กิโลเมตร และทางยกระดับอีก 11 กม. รวมสถานีทั้งสิ้น 17 สถานี ซึ่งปัจจุบัน รฟม.เตรียมเปิดประกวดราคาก่อสร้างงานโยธาฯและปรับปรุงรายงานการศึกษาซึ่งคาดว่าจะสร้างเสร็จและเปิดให้บริการได้ในปี 2570
รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลช่วงแคราย-ลำสาลี ระยะทาง 22.1 กม. จำนวน 20 สถานี
สายนี้จะให้บริการจากนนทบุรีด้านฝั่งแคราย ผ่านถนนเกษตร-นวมินทร์ ไปตามถนนนวมินทร์ สิ้นสุดที่แยกลำสาลี
โดยเป็นโครงข่ายรถไฟฟ้าสายรองสำหรับเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าหลักอีก 4 เส้นทาง ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีม่วง รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม รถไฟฟ้าสายสีเขียวบีทีเอส และรถไฟฟ้าสายสีส้ม อีกทั้งยังเชื่อมเข้ากับรถไฟฟ้าสายรองทั้งสายสีชมพู สายสีเหลือง และรถไฟฟ้าสายสีเทาได้อีกด้วย โดยปัจจุบันโครงการกำลังอยู่ในขั้นเตรียมการศึกษาอยู่ คาดจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2567 สร้างเสร็จเปิดให้ใช้งานได้ปี 2570
รถไฟฟ้าสายสีเทา ช่วงวัชรพล-สะพานพระราม 9 ระยะทาง 16.2 กม. จำนวน 15 สถานี
เป็นเส้นทางเชื่อมการเดินทางจากชานเมืองฝั่งเหนือกรุงเทพฯ เข้าสู่ใจกลางเมือง เพื่อช่วยบรรเทาปัญหารถติดบนถนนสุขุมวิท ถนนสาทร ถนนพระรามที่ 3 และตามวงแหวนถนนรัชดาภิเษกโดยตามแผนการสร้างเป็นระบบรถไฟฟ้าแบบรางเดี่ยว
จุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีชมพู ที่สถานีวัชรพลจากนั้นมุ่งลงใต้ตามแนวถนนประดิษฐ์มนูธรรม เชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่สถานีลาดพร้าว 83 สายสีส้มที่สถานีวัดพระราม 9 และเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนเพชรบุรีเพื่อเข้าซอยสุขุมวิท 55 หรือซอยทองหล่อ เพื่อบรรจบกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวหรือบีทีเอส โดยปัจจุบันโครงการกำลังศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอยู่ คาดจะเริ่มก่อสร้างได้ปี 2565 และเปิดใช้ได้ปี 2568
ขณะเดียวกัน ในสายสีเทายังมีแผนก่อสร้างช่วงที่สอง ระหว่างพระโขนง-พระราม 3 อีก 12.1 กม.จำนวน 15 สถานี และช่วงพระราม 3-ท่าพระ อีก 11.49 กม. จำนวน 9 สถานี
โดยกำหนดแนวเส้นทาง เริ่มต้นที่รถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีพระโขนง จากนั้นมุ่งลงใต้ตามแนวถนนพระรามที่ 4 เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าใต้ดิน เอ็มอาร์ที ที่สถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และเบี่ยงซ้ายเข้าสู่ถนนสาทร ไปเชื่อมกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีเขียว เพื่อวิ่งตามแนวของรถโดยสารด่วนพิเศษสายสาทร-ราชพฤกษ์ มุ่งหน้าขึ้นทางเหนือตามแนวถนนรัชดาภิเษกไปสิ้นสุดที่สถานีท่าพระ เพื่อบรรจบกับรถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ทีอีกครั้ง
รถไฟฟ้าสายสีฟ้า ช่วงประชาสงเคราะห์–ช่องนนทรี ซึ่งดำเนินการโดยกรุงเทพมหานคร
เป็นเส้นทางน้องใหม่ที่บรรจุอยู่ในแผนแม่บทฯ ระยะที่ 1 โดยมีระยะทางก่อสร้าง 9.5 กม. จำนวน 9 สถานี ตามแผนจะก่อสร้างเป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยว เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางจากใจกลางเมือง รองรับการพัฒนาเคหะชุมชนดินแดง โครงการพัฒนาย่านมักกะสัน และศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ตลอดจนเชื่อมโยงกับย่านธุรกิจบนถนนสาทร ขณะที่แนวเส้นทางเริ่มจากเคหะชุมชนดินแดงเข้าสู่ศูนย์คมนาคมมักกะสัน สถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง ไปยังถนนวิทยุ และถนนสาทร
สถานะปัจจุบันได้ถูกนำมาบรรจุในแผนแม่บทระยะที่ 1 แล้ว จะก่อสร้างเสร็จ เปิดให้ใช้งานภายในปี 2572
รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เป็นโครงการที่เปิดใช้งานไปแล้วหลายช่วง และล่าสุดก็เพิ่งเปิดให้บริการส่วนต่อขยายเพิ่มเติมช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ระยะทาง 13 กม. อีกจำนวน 9 สถานี ไปเมื่อเดือน มี.ค.ของปีนี้
แถมยังมีข่าวต่ออีกว่า รัฐบาลเตรียมลงทุนทำส่วนต่อขยายเพิ่มจากช่วงบางแค-พุทธมณฑล สาย 4
อย่างไรก็ตาม ในการอัปเดตล่าสุดดูเหมือนชาวบ้านย่านนั้น อาจต้องร้องเพลงรอเก้อไปก่อน
เพราะกระทรวงคมนาคมเห็นสมควรให้ชะลอโครงการออกไป เพราะมองว่ามีระยะทางสั้นไปหน่อยอาจจะไม่คุ้มค่า จึงมอบหมายให้ รฟม.ไปสอบถามความสนใจและความพร้อมของเอกชนในการลงทุน ทั้งในส่วนของงานโยธา งานระบบ รวมทั้งให้นำผลดำเนินโครงการฯ ช่วงหัวลำโพง-บางแค มาประกอบการพิจารณา เพื่อให้การลงทุนเกิดความรอบคอบและคุ้มค่าที่สุด
นอกจากนี้ ยังมีรถไฟฟ้าสายสีฟ้าอ่อน บางนา-สุวรรณภูมิ ที่อยู่นอกเหนือแผนแม่บทฯ ฉบับที่ 1
ตามแผนจะมีระยะทางรวม 18.3 กม.จำนวน 12 สถานี โดยแนวเส้นทางที่ปรับปรุงล่าสุด จะเริ่มต้นจากปลายฝั่งแยกสรรพาวุธแถวหน้าศาลจังหวัดพระโขนง ลัดเลาะไปตามถนนทางรถไฟสายเก่าปากน้ำ เข้าถนนอาจณรงค์ ไปตามแนวทางพิเศษเฉลิมมหานคร เลี้ยวเข้าถนนพระรามที่ 3 ก่อนไปสิ้นสุดที่สถานีแม่น้ำ
เพื่อรองรับแผนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจแห่งใหม่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาของการรถไฟฯ ในอนาคต โดยสถานะโครงการปัจจุบัน อยู่ระหว่างการยื่นขอผลวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยตั้งเป้าหมายว่าจะเปิดใช้งานได้จริงภายในปี 2567
ทั้งหมดนี้ เป็นความคืบหน้าของโครงการรถไฟฟ้าทุกสายในเมืองไทย ทั้งที่กำลังเกิดขึ้น และกำลังจะเกิดในอนาคต
อีกไม่นานเกินรอโครงข่ายรถไฟฟ้าใยแมงมุม ซึ่งเคยเป็นตำนานเรื่องเล่าขานเมื่อวัยเด็ก
ก็จะได้ฤกษ์ทยอยเปิดใช้ได้เป็นจริงเสียที!!!
ทีมเศรษฐกิจ