เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้ว คาดเริ่มดีขึ้นไตรมาส 3 แต่ทั้งปีลบหนัก 7.5%

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้ว คาดเริ่มดีขึ้นไตรมาส 3 แต่ทั้งปีลบหนัก 7.5%

Date Time: 18 ส.ค. 2563 07:52 น.

Summary

  • สศช.เผยเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ติดลบ 12.2% ส่งผลครึ่งปีแรก ติดลบ 6.9% เหตุรัฐบาลปิดเมือง กิจกรรมเศรษฐกิจหยุดหมด แต่เชื่อผ่านจุดต่ำสุดแล้ว

Latest

ฟื้นกำลังซื้อช่วงเทศกาล "ค้าปลีก" ทวงรัฐรีบคลอดของขวัญปีใหม่

สศช.เผยเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ติดลบ 12.2% ส่งผลครึ่งปีแรก ติดลบ 6.9% เหตุรัฐบาลปิดเมือง กิจกรรมเศรษฐกิจหยุดหมด แต่เชื่อผ่านจุดต่ำสุดแล้ว คาดไตรมาส 3–4 เริ่มดีขึ้น หลังคลายล็อกดาวน์ แต่ปรับประมาณการณ์ทั้งปี 63 ติดลบหนัก 7.5% จากเดิมลบ 6% ถึงลบ 5% เหตุนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่มา ส่งออกยังไม่ฟื้น

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/63 ว่า ติดลบ 12.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ติดลบ 6.9% เพราะโควิด-19 ส่งผลให้หลายประเทศล็อกดาวน์จนกระทบต่อการค้าและการเดินทางข้ามประเทศ มีเพียงการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาครัฐ ที่ประคองเศรษฐกิจกิจ ขณะที่มูลค่าส่งออก ติดลบ 17.8%

“การปิดเมืองทำให้ไม่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ไตรมาส 2 จึงติดลบ 12.2% แต่น้อยกว่า ไตรมาส 2 ปี 41 ที่เกิดวิกฤติฟองสบู่แตก ติดลบ 12.5% คาดว่า เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้ว ไตรมาส 3 และ 4 จะเริ่มกลับมาได้ จากการคลายล็อกดาวน์ แต่คงต้องอีกระยะหนึ่งกว่าจะกลับมาเป็นปกติ เพราะนักท่องเที่ยวยังไม่กลับมา ส่งออกยังไม่เข้ามาเติมเต็ม รวมทั้งต้องรอดูสถานการณ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน และการแพร่ระบาดรอบ 2 จะเกิดขึ้นหรือไม่ ทำให้ยังมีความไม่แน่นอน สศช.จึงปรับประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีนี้ เป็นติดลบ 7.5% โดยมีกรอบในช่วงลบ 7.8% ถึงลบ 7.3% จากคาดการณ์เมื่อเดือน พ.ค.63 จะติดลบ 6% ถึงลบ 5%”

ทั้งนี้ ยังจำเป็นต้องใช้มาตรการต่างๆ เพื่อประคองเศรษฐกิจ ทั้งการใช้จ่ายภาครัฐ สนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ ออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายกลุ่มที่ยังมีกำลังซื้อ แต่ควรพิจารณามาตรการเพิ่มเติมสำหรับธุรกิจและแรงงานในสาขาเศรษฐกิจที่ยังมีปัญหาฟื้นตัว รักษาบรรยากาศทางการเมืองในประเทศ เป็นต้น

นายทศพรกล่าวต่อถึงภาวะสังคมไทยไตรมาส 2/63 ว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ผู้มีงานทำลดลง 700,000 คน เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/62 เหลือ 37.1 ล้านคน หรือลดลง 1.9% และการว่างงานเพิ่มขึ้น 1.95% ประมาณ 370,000 คน เป็นอัตราการว่างงานสูงสุดตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 52 สาเหตุจากสถานที่ทำงานเลิก/หยุด/ปิดกิจการ หรือหมดสัญญาจ้าง นอกจากนี้ ยังมีแรงงาน 1.769 ล้านคน ที่มีสถานะจ้างงาน แต่ไม่ได้รับเงินเดือน เพราะกิจการหยุดชั่วคราว จึงเสี่ยงตกงานและอีก 420,000 คนถูกเลิกจ้างงานแล้ว ส่วนกรณีที่สภาพัฒน์เคยระบุว่าผลของโควิด-19 อาจทำให้มีคนตกงานมากถึง 8 ล้านคน ขณะนี้อยู่ที่ 2.189 ล้านคน

ขณะที่หนี้สินครัวเรือนไตรมาส 1/63 อยู่ที่ 13.48 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.9% คิดเป็นสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) 80.1% สูงสุดรอบ 4 ปีนับจากไตรมาส 2/59 ด้านยอดคงค้างหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มีมูลค่า 156,226 ล้านบาท เพิ่ม 23.6% จากไตรมาสก่อนหน้า

ด้านนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน กล่าวว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะผ่านพ้นจุดต่ำสุดมาแล้ว แต่ไม่ได้ทำให้เราดีใจ เพราะประชาชนยังเดือดร้อน ดังนั้น มาตรการที่รัฐบาลจะออกมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ต้องบรรเทาความเดือนร้อนประชาชน และช่วยเหลือผู้ประกอบการ ส่วนนายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยพ้นจุดต่ำสุดแล้วในไตรมาส 2 และจะทยอยดีขึ้น แต่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก จึงต้องการแรงสนับสนุนด้านความต่อเนื่องของนโยบายภาครัฐ โดยเฉพาะการจ้างงานและลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดย ธปท.จะประเมินเศรษฐกิจอีกครั้งในการประชุมนโยบายการเงิน วันที่ 23 ก.ย.63.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ