น.ส.จินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า สศช.มีความเป็นห่วงเรื่องของรายได้ของผู้สูงอายุหลังเกษียณจะไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตให้อยู่รอดต่อไปได้ หลังจากพบข้อมูลว่าในปัจจุบัน มีแรงงานอีกกว่า 14.5 ล้านคนที่ไม่ได้อยู่ในระบบ หรือไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกประกันสังคม ดังนั้น เมื่อแรงงานกลุ่มนี้มีอายุถึง 60 ปีแล้วจะได้รับสิทธิประโยชน์เพียงอย่างเดียว คือ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เพียงแค่เดือนละ 600 บาทต่อคนเท่านั้น สวนทางกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูง
สำหรับปัญหาการขาดการออม การลงทุน และปัญหาหนี้สินของคนไทย จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนในปี 2562 พบว่า ครัวเรือนไทยมีเงินออมต่ำเฉลี่ยเพียง 133,256 บาทต่อครัวเรือน และยังเริ่มออมช้า อีกทั้งคนไทยยังมีการก่อหนี้ในระดับสูง โดยหนี้ครัวเรือน ณ ไตรมาส 3 ปี 2563 มีมูลค่า 13.77 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คิดเป็นสัดส่วน 86.6% ต่อจีดีพี โดยมีหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคสูง ทั้งสินเชื่อส่วนบุคคล และบัตรเครดิต ทำให้ครัวเรือนต้องนำรายได้ส่วนหนึ่งมาจ่ายหนี้จนไม่มีเงินออม
ทั้งนี้ สศช.ได้มีข้อเสนอทางด้านนโยบายเพื่อเตรียมตัวรองรับสังคมสูงวัย ทั้งเร่งการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต เน้นพัฒนาคนให้มีทักษะสูงให้ทันต่อเทคโนโลยี เสริมสร้างโอกาสทางการศึกษาตั้งแต่แรกเกิด ส่งเสริมการทำงานของทุกช่วงวัย จูงใจให้นักเรียนนักศึกษาเข้าสู่ตลาดแรงงานเร็วขึ้น ส่วนผู้สูงอายุก็ส่งเสริมให้ขยายอายุการเกษียณจาก 60 ปี เป็น 63 ปี รองรับการขาดแคลนแรงงาน.