จ่อใช้ “โกดังเก็บหนี้” ต่อชีพธุรกิจ ธปท.เปิดทางแบงก์ขึ้นดอกเบี้ยอัดสินเชื่อฟื้นฟู

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

จ่อใช้ “โกดังเก็บหนี้” ต่อชีพธุรกิจ ธปท.เปิดทางแบงก์ขึ้นดอกเบี้ยอัดสินเชื่อฟื้นฟู

Date Time: 26 ก.พ. 2564 06:15 น.

Summary

  • ธปท.รับโควิด-19 ระลอก 2 ทุบซ้ำธุรกิจท่องเที่ยว คอนโดฯ การบิน รถทัวร์ เอสเอ็มอีหนักมากขึ้น เล็งปรับมาตรการช่วยให้ธุรกิจเข้าถึงแหล่งเงิน ปรับเกณฑ์สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ-เพิ่มช่องค้ำประกันหนี้

Latest

เปย์ของขวัญให้อินฟลูเอนเซอร์ฉ่ำ คนไทยนิยมรูดบัตรใช้จ่ายชีวิตประจำวัน

ธปท.รับโควิด-19 ระลอก 2 ทุบซ้ำธุรกิจท่องเที่ยว คอนโดฯ การบิน รถทัวร์ เอสเอ็มอีหนักมากขึ้น เล็งปรับมาตรการช่วยให้ธุรกิจเข้าถึงแหล่งเงิน ปรับเกณฑ์สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ-เพิ่มช่องค้ำประกันหนี้ แต่ผู้กู้ต้องยอมจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้นตามความเสี่ยง พร้อมชูแนวทาง “โกดังเก็บหนี้” ให้ธุรกิจยกสินทรัพย์ค้ำประกันใช้หนี้ไปก่อน แล้วค่อยซื้อคืนทีหลัง

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในการแถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจ ล่าสุด เดือน ม.ค. 64 ว่า จากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาเริ่มเห็นผลกระทบของมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ระลอก 2 เพิ่มมากขึ้น โดยเห็นการบริโภคภาคเอกชน การผลิต และการลงทุนลดลง แต่ข้อดีคือ จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจล่าสุดแบบเร็วๆในเดือน ก.พ.ของ ธปท.พบว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยได้ผลดีจากมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจที่ผ่านมา และที่ทยอยออกมา เช่น โครงการเราชนะ และโครงการ ม.33 เรารักกัน ส่งผลให้ผู้ประกอบการ ระบุว่าผลกระทบจากโควิด-19
ระลอก 2 น้อยกว่าระลอกแรก

อย่างไรก็ตาม ธปท.พบว่า โควิดระลอกที่ 2 ซ้ำเติมเศรษฐกิจในบางธุรกิจมากกว่าระลอกแรก ทำให้ภาพรวมการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยล่าช้าไปอีก โดยจากเดิมที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวกลับมาเท่ากับช่วงก่อนโควิด-19 ได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปีหน้าจะล่าช้าออกไป 1 ไตรมาส เป็นไตรมาสที่ 3 ปีหน้า และจากการสอบถามผู้ประกอบการ พบว่า ภาคท่องเที่ยว ร้านอาหาร โรงแรม ที่พักแรม รถโดยสารสาธารณะ ยังคงประสบความเดือดร้อนอย่างมาก และจะเริ่มฟื้นตัวช้ากว่าธุรกิจอื่นๆ ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ในส่วนคอนโดมิเนียมที่เน้นขายลูกค้าชาวต่างชาติ และโรงแรมในจังหวัดที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก ธุรกิจสายการบิน และรถทัวร์ท่องเที่ยว อาจจะเริ่มฟื้นตัวได้ในไตรมาสที่ 2 ของปีหน้า และยังมีความไม่แน่นอนว่าจะฟื้นตัวกลับไปเหมือนก่อนโควิด-19 ได้เมื่อไร

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป ยังมีแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่จะสูงขึ้นเนื่องจากมาตรการช่วยเหลือจะหมดในสิ้นปีนี้ รวมทั้งภาคแรงงานที่เปราะบาง โดยภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหลัก มีรายได้ลดลงมาก และอาจรักษาการจ้างงานไว้ไม่ได้ ซึ่ง ธปท.ได้ประเมิน “แนวทางคลายข้อจำกัดธุรกิจไทยฝ่าภัยโควิด” โดยมาตรการการคลังที่ภาคธุรกิจต้องการให้รัฐช่วยเพิ่มซึ่งทางรัฐบาลเองก็กำลังดำเนินการอยู่ คือโครงการกระตุ้นการใช้จ่ายและท่องเที่ยวเพิ่มเติม และโครงการโคเปย์ จ่ายเงินเดือนคนละครึ่งระหว่างธุรกิจและรัฐบาล

ในส่วนของมาตรการทางการเงิน มาตรการที่กระทรวงการคลัง ธปท. สถาบันการเงิน และผู้ประกอบการกำลังหารือกันเพื่อให้บรรลุเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อใหม่ที่ตอบโจทย์มากขึ้น มี 2 กรณี กรณีแรก คือ การปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มเติมสำหรับหนี้เดิม และการให้สินเชื่อใหม่อัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน หรือเงินเพื่อการฟื้นฟูกิจการในอนาคต ซึ่ง ธปท.จะหาแนวทางให้ผู้กู้ และผู้ให้กู้ สามารถตกลงกันได้มากขึ้น เช่น การปรับปรุงแนวทางการค้ำประกันที่เหมาะสมมากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงของผู้กู้ที่เป็นกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) โดยที่ผ่านมารัฐบาลช่วยเหลือเรื่องการค้ำประกันหนี้ผ่านบรรษัทค้ำประกันสินเชื่อขนาดกลางและขนาดย่อม (บสย.) รวมทั้งในช่วงต่อไป ผู้กู้อาจจะต้องยอมรับต้นทุนที่สูงขึ้น เพื่อให้ผู้ให้กู้ได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นเพื่อจูงใจในการให้สินเชื่อ

“ธปท.จะพยายามพิจารณาอัตราผลตอบแทนในการให้กู้เพื่อฟื้นฟูกิจการ หรือเป็นเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติมอย่างเหมาะสม เพราะต้องยอมรับว่าธุรกิจขนาดใหญ่ และเอสเอ็มอีในธุรกิจเหล่านี้มีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจริง และการออกไปกู้เงินนอกระบบจะมีต้นทุนที่สูงกว่ามาก แต่ก็ต้องเป็นอัตราผลตอบแทนที่ฝั่งผู้กู้สามารถที่จะผ่อนส่งได้ด้วย”

ส่วนกรณีที่ 2 ปรับเกณฑ์ความช่วยเหลือธุรกิจที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่ในขณะนี้หลักทรัพย์ค้ำประกันดังกล่าวไม่ทำรายได้เพียงพอที่จะผ่อนส่งหนี้จะใช้แนวคิด “โกดังเก็บหนี้” หรือ Warehousing เป็นการพักหนี้ให้กับธุรกิจโดยให้ลูกหนี้โอนสินทรัพย์ค้ำประกันตัดหนี้ให้กับเจ้าหนี้ไปก่อน และมีสัญญาที่ลูกหนี้จะซื้อสินทรัพย์คืนได้ในเวลาที่ตกลงกันในราคาที่ไม่สูงเกินจริง และระหว่างนี้ หากลูกหนี้ยังต้องการใช้สินทรัพย์ดังกล่าวเพื่อทำธุรกิจต่อไป เช่น เปิดโรงแรมต่อก็สามารถเช่าโรงแรมจากธนาคารเป็นรายเดือนได้ หรือหากไม่ต้องการทำธุรกิจในช่วงนี้ แต่ให้แบงก์รักษาสินทรัพย์ไว้ก่อนเพื่อซื้อคืนทีหลัง ให้เจ้าหนี้และลูกหนี้ตกลงค่ารักษาสินทรัพย์ที่ลูกหนี้จะต้องจ่ายตามกำหนดเวลา

“กรณีดังกล่าวนี้จะช่วยให้ลูกหนี้พักภาระผ่อนส่งหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยชั่วคราว แต่ยังทำธุรกิจต่อไปได้ ไม่ต้องห่วงว่าจะกลายเป็นหนี้เสีย หรือเสียสินทรัพย์ไปถาวร อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงความช่วยเหลือทั้ง 2 กรณียังอยู่ระหว่างการปรับเงื่อนไข โดยกรณี Warehousing การคำนวณราคาค่าเช่า ค่าดูแลจะต้องเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และเป็นความสมัครใจของลูกหนี้”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ