ธปท.แจ้งสถาบันการเงินพร้อมรับรายชื่อเอสเอ็มอีที่ขอกู้ดอกเบี้ยผ่อนปรน เพื่อช่วยบรรเทาวิกฤติโควิด–19 ตั้งแต่ 27 เม.ย.เป็นต้นไป โดยจะเร่งอนุมัติให้เร็วที่สุด สั่งสถาบันการเงินเร่งดำเนินการ และตอบกลับคำขอสินเชื่อภายใน 10 วัน คาดปลายสัปดาห์หน้า เอสเอ็มอีที่เดือดร้อนจะเริ่มได้รับสินเชื่อใหม่ หวังบรรเทาภาระ มีเงินจ่ายค่าแรงพนักงาน
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตามที่ ธปท.ได้ออกประกาศ 3 เรื่องตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 คือ 1.การชะลอการชำระหนี้แก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 2.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในวงเงินไม่เกิน 500,000 ล้านบาท และ 3.อัตราการจ่ายเงินชดเชยความเสียหายแก่สถาบันการเงินตามมาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมาและได้ลงในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 23 เม.ย.แล้วนั้น
“ธปท.ขอแจ้งว่า พร้อมที่จะให้สถาบันการเงินยื่นรายชื่อลูกหนี้ และจำนวนเงินที่จะขอรับความช่วยเหลือเพื่อนำไปปล่อยสินเชื่อให้กับลูกหนี้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน หรือซอฟต์โลน ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 27 เม.ย.63 เป็นต้นไป และเมื่อ ธปท. ตรวจสอบว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์แล้ว จะแจ้งสถาบันการเงินโดยเร็วที่สุด และสถาบันการเงินจะแจ้งผลการอนุมัติให้ลูกค้าทราบภายใน 10 วัน โดย ธปท.คาดว่า จะเร่งกระบวนการเพื่อโอนเงินให้ลูกหนี้ได้ภายในปลายสัปดาห์หน้า โดยเอสเอ็มอีที่ต้องการวงเงินสินเชื่อเพื่อบรรเทาผลกระทบให้ติดต่อไปที่สถาบันการเงินที่ตนเองเป็นลูกค้าและมีวงเงินสินเชื่ออยู่”
นายรณดล กล่าวเพิ่มเติมว่า ธปท.ได้เร่ง กำชับให้สถาบันการเงินทุกแห่งช่วยเหลือลูกหนี้เอสเอ็มอีที่มีความเดือดร้อนโดยเร็วที่สุด และหวังว่ามาตรการนี้จะช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในช่วงนี้ ทำให้เอสเอ็มอี มีเงินสดในมือเพื่อรองรับรายจ่ายจำเป็น โดยเฉพาะรายจ่ายที่เป็นค่าจ้างพนักงานที่ได้รับผลกระทบ
ทั้งนี้ ธปท.ชี้แจงเพิ่มเติมว่า คุณสมบัติของเอสเอ็มอีที่ได้รับสิทธิ จะต้องดำเนินธุรกิจในประเทศและมีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งไม่เกิน 500 ล้านบาท และมีสถานะผ่อนชำระปกติ หรือค้างชำระไม่เกิน 90 วัน หรือไม่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ณ วันที่ 31 ธ.ค.2562 เอสเอ็มอีแต่ละรายสามารถขอกู้เพิ่มได้จะไม่เกิน 20% ของยอดหนี้คงค้าง โดยในช่วง 2 ปีแรกธนาคารจะคิดดอกเบี้ยผ่อนปรนพิเศษ 2% ต่อปี และในช่วง 6 เดือนแรกรัฐบาลจะรับภาระดอกเบี้ยแทนลูกหนี้ ส่งผลให้ลูกหนี้ไม่มีค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ย
นอกจากนั้น ตามประกาศของทางการหากสินเชื่อที่ปล่อยใหม่นี้มีความเสียหาย กระทรวงการคลังจะชดเชยความเสียหายบางส่วนให้แก่ธนาคารในส่วนที่ปล่อยกู้เพิ่มเติมด้วย โดยกรณีที่หนี้กลายเป็นหนี้เสียเมื่อสิ้นสุดระยะเวลา 2 ปี โดยรัฐบาลจะชดเชยความเสียหายให้ไม่เกิน 70% ของสินเชื่อที่ปล่อยเพิ่มสำหรับลูกหนี้ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 50 ล้านบาท และชดเชยให้ไม่เกิน 60% ของสินเชื่อที่ปล่อยเพิ่มสำหรับลูกหนี้ที่มีวงเงินสินเชื่อ 50-500 ล้านบาท
ส่วนการเลื่อนกำหนดการชำระหนี้สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100
ล้านบาท เอสเอ็มอีทุกรายได้รับสิทธิเป็นการทั่วไป ไม่ต้องชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นระยะ เวลา 6 เดือน และในช่วงที่ผ่อนปรนนี้ไม่ถือว่าเสียประวัติข้อมูลเครดิต นอกจากนั้น ธปท.
คาดหวังว่าในช่วง 6 เดือนนี้ ธนาคารจะต้องทำงาน ร่วมกับลูกหนี้อย่างใกล้ชิดเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ ปรับแผนการผ่อนชำระหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลง และช่วยจัดโครงสร้างทางการเงินที่เหมาะสมกับธุรกิจของลูกหนี้ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจที่ไม่ได้ประสบกับปัญหาสภาพคล่องในช่วงนี้ ธปท.แนะนำว่าควรชำระหนี้ตามปกติหรือตามความสามารถ เพราะมาตรการนี้เป็นเพียงการเลื่อนกำหนดวันชำระหนี้เท่านั้น ธนาคารยังคงคิดดอกเบี้ยอยู่
ด้านนายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เผยว่า ธนาคารออมสินจัดสรรวงเงินให้สินเชื่อแก่นอนแบงก์ วงเงิน 80,000 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยถูก เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่อง และให้สามารถช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย ให้ได้รับการผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ ปล่อยวงเงินกู้สูงสุดไม่เกินรายละ 5,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เท่ากับ 2% ต่อปี ระยะเวลาการกู้ 2 ปี โดยผู้ประกอบการนอนแบงก์ที่สนใจสามารถยื่นขอสินเชื่อได้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 30 ธ.ค.63 หรือจนกว่าวงเงินโครงการจะหมด.