หนี้ครัวเรือนสูงสุดประวัติการณ์ ชีวิตลูกหนี้ อ้างสารพัดเหตุผลต้องกู้ 3.4 แสนบาท

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

หนี้ครัวเรือนสูงสุดประวัติการณ์ ชีวิตลูกหนี้ อ้างสารพัดเหตุผลต้องกู้ 3.4 แสนบาท

Date Time: 29 พ.ย. 2562 09:39 น.

Summary

  • หนี้ต่อครัวเรือนของคนไทยปี 62 สูงสุด เป็นประวัติการณ์ถึง 3.4 แสนบาท เหตุรายได้ ลดลง-ขาดรายได้จากการถูกเลิกจ้าง จากพิษ เศรษฐกิจชะลอตัว รวมถึงค่าครองชีพ สูงขึ้น

Latest

กกร. ถก ธปท. แก้ปญหาเอสเอ็มอี ลดเงินส่งกองทุนฟื้นฟู-เพิ่มทางเข้าถึงสินเชื่อ

หนี้ต่อครัวเรือนของคนไทยปี 62 สูงสุด เป็นประวัติการณ์ถึง 3.4 แสนบาท เหตุรายได้ ลดลง-ขาดรายได้จากการถูกเลิกจ้าง จากพิษ เศรษฐกิจชะลอตัว รวมถึงค่าครองชีพ สูงขึ้น ใช้จ่ายเกินตัว ซื้อขายออนไลน์สะดวก จ่ายค่าเล่าเรียน ลูก หนี้พนัน ค่ารักษาพยาบาล เก็บเกี่ยวผลผลิตไม่ได้ ขณะที่ยังพบว่าครัวเรือนยังจ้องก่อหนี้เพิ่ม เพื่อใช้จ่ายและโปะหนี้เก่า จี้รัฐเร่งฟื้นเศรษฐกิจ ด้าน “อุตตม” ลั่นเศรษฐกิจไทยขณะนี้เหมือนคนซมพิษไข้ แต่มั่นใจมาตรการกระตุ้นจะช่วยพยุงเศรษฐกิจ ไทยไม่ให้ทรุดลงกว่านี้

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทย โดยสำรวจจาก 1,201 ตัวอย่างทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 11-23 พ.ย.62 ว่า ผู้ตอบมากถึง 88.1% บอกมีหนี้ ส่วนอีก 11.9% ไม่มีหนี้ โดยปี 62 หนี้ครัวเรือนเฉลี่ยอยู่ที่ 340,053 บาทต่อครัวเรือน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากการสำรวจครั้งแรกเมื่อปี 52 ที่มีหนี้สินเพียง 143,476 บาท และเพิ่มจากปีก่อน 7.4% ในจำนวนนี้เป็นหนี้ในระบบ 59.2% และหนี้นอกระบบ 40.8% มีภาระผ่อนชำระหนี้ในระบบเดือนละ 16,960 บาท และ นอกระบบเดือนละ 5,222 บาท ซึ่งส่วนใหญ่ 75.4% ระบุมีปัญหาขาดการชำระหรือผิดนัดชำระ

อย่างไรก็ตาม ผู้ตอบมากถึง 60.2% ระบุว่าหนี้ที่มีอยู่ยังเป็นหนี้เก่าทั้งหมด อีก 28.6% เป็นทั้งหนี้ก้อนเก่าและใหม่ และอีก 11.2% เป็นหนี้ก้อนใหม่ทั้งหมด โดยสาเหตุของการเป็นหนี้มาจากรายได้ลดลงและขาดรายได้จากการถูกเลิกจ้างงาน เพราะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าและเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ค่าครองชีพสูงขึ้น ซื้อสินทรัพย์ถาวรมากขึ้น ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมากขึ้น ผ่อนสินค้ามากเกินไป ค่าเล่าเรียนบุตรหลาน ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้จากภัยธรรมชาติ หนี้จากการพนัน รวมถึงเป็นค่ารักษาพยาบาล ใช้ใน การเกษตร เสริมสภาพคล่องทางธุรกิจ นอกจากนี้ ประชากรกลุ่มเจนแซด (Gen Z) อายุ 8-20 ปี มีการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยและเกินตัวมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงที่ซื้อสินค้าบ่อยครั้งหรือซื้อจุกจิก

“ยังมีเรื่องของอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย และการซื้อสินค้าที่สะดวก โดยเฉพาะทางออนไลน์, ขาดวินัยทางการเงิน, สถาบันการเงินให้วงเงินมากเกินไป, ความรู้ทางการเงินไม่เพียงพอและนำเงินไปลงทุนหรือเก็บสินทรัพย์ โดยเฉพาะซื้อบ้าน ซื้อรถ ซึ่งการลงทุน การซื้อบ้าน ซื้อรถยังไม่น่าห่วง เพราะเป็นการใช้จ่ายตามปกติ แต่ที่น่าจับตาคือการใช้บัตรเครดิตซื้อสินค้า รวมถึงการกู้เงินนอกระบบ เพราะเงินกู้ในระบบจนเต็มเพดานแล้ว”

นอกจากนี้ ภายใน 1 ปีข้างหน้าจากปัจจุบัน ผู้ตอบ 34.7% ระบุว่า ต้องการกู้เงิน โดยส่วนใหญ่ต้องการกู้เงินในระบบมากกว่านอกระบบ เพื่อใช้จ่ายทั่วไป เพื่อลงทุน และประกอบอาชีพ ชำระหนี้เก่า ซื้อทรัพย์สิน (รถยนต์) จ่ายบัตรเครดิต ใช้ในการเกษตร เป็นต้น เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่มีเงินออม ส่วนอีก 65.3% ระบุไม่ต้องการกู้เงิน

นายธนวรรธน์กล่าวต่อว่า ผู้ตอบส่วนใหญ่มองว่า การก่อหนี้เกิดจากปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่ชะลอตัวจากเศรษฐกิจโลก คาดว่า ปีนี้ เศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัว 2.5-2.6% ซึ่งเป็นการขยายตัวที่ต่ำกว่า 3% ครั้งแรกในรอบ 5 ปี ส่งผลกับรายได้ของประชาชน และจำเป็นต้องก่อหนี้เพิ่มเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

“รัฐบาลต้องใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ, แก้ปัญหาว่างงาน, ส่งเสริมการพัฒนาอาชีพ, ลดอัตราการจัดเก็บภาษี, ดูแลค่าครองชีพ ควบคุมระดับราคาสินค้าให้เหมาะสม, หาแหล่งเงินทุนในระบบที่มีดอกเบี้ยต่ำ รวมถึงลดข้อจำกัดการเข้าถึงแหล่งเงินทุน, แก้ปัญหาหนี้นอกระบบด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ ลดดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ในช่วงกลางไตรมาส 1 ปี 63 และลดการก่อหนี้ หากเศรษฐกิจยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัว จะยิ่งทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นได้จากปัจจุบันอยู่ที่ 78% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) หากเกิน 80% จะน่าเป็นห่วงมาก”

ด้านนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวในงานมหกรรมการเงินส่งท้ายปี Money Expo-year-end 2019 ว่า เศรษฐกิจไทยปัจจุบันเปรียบเหมือนคนเป็นไข้ เพราะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก จึงจำเป็นต้องให้ยารักษาเพื่อไม่ให้อาการทรุดจนเกิดการอักเสบขึ้นมา ดังนั้นการที่รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายชุดก็เพื่อพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดไปมากกว่านี้ ซึ่งการใช้เงินแต่ละโครงการที่ออกมาจะต้องใช้อย่างรอบคอบ เพื่อให้ไทยสามารถผ่านช่วงนี้ไปได้ และสามารถพัฒนาประเทศได้ในระยะยาวต่อไป “เชื่อมั่นว่ามาตรการที่รัฐบาลทยอยออกมาจะช่วยประคองและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยช่วงปลายปีให้ปรับตัวดีขึ้น และมีความเข้มแข็ง อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้เศรษฐกิจไม่ได้หดตัว ยังคงโตต่อเนื่องแต่โตแบบชะลอตัว เพราะยังมีผลกระทบจากหลายปัจจัย แต่ในระยะยาวประเทศมีเป้าหมายที่ชัดเจนอยู่แล้วซึ่งต้องเดินหน้าทำให้สำเร็จ”

ขณะเดียวกัน ตลาดเงินตลาดทุนก็มีความสำคัญมากต่อความเชื่อมั่นเศรษฐกิจ หากไม่มีการลงทุน และไม่มีการจับจ่ายใช้สอย ความเชื่อมั่นก็ยิ่งทรุดตัวลง จึงอยากให้ทุกฝ่าย รวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประสานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อดำเนินนโยบายการเงินของประเทศ ส่วนเรื่องการออม ปัจจุบันประเทศไทยมีการออมอยู่ในระดับ ที่น่าพอใจแล้ว แต่ประเด็นสำคัญคือเมื่อมีการออมแล้วต้องนำเงินเหล่านี้ไปลงทุนด้วย ทั้งในระดับของประชาชนทั่วไปและระดับประเทศ ซึ่งกระทรวงการคลังจะเร่งเดินหน้าร่วมกับตลาดทุน เพื่อส่งเสริมการออมควบคู่การลงทุนต่อไป.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ