คนไทยเกินครึ่ง ใช้ชีวิตติดลบ เป็นหนี้ตั้งแต่เริ่มทำงาน แบกภาระหนักไปจนแก่

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

คนไทยเกินครึ่ง ใช้ชีวิตติดลบ เป็นหนี้ตั้งแต่เริ่มทำงาน แบกภาระหนักไปจนแก่

Date Time: 30 ก.ค. 2562 19:06 น.

Video

“The Summer Coffee Company” มากกว่า เครื่องดื่ม คือ ความสุข | Brand Story Exclusive EP.3

Summary

  • จริงหรือสังคมไทยในวันนี้ยังคง ”รวยกระจุก จนกระจาย” คนไทยเป็นหนี้หัวโตไปจนแก่ น่ากลัวมากในยุคนี้ สะท้อนให้เห็นถึงสภาวะไม่มั่นคงทางการเงินของคนไทย ยิ่งใครใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเกินตัวต้องระวัง

Latest


จริงหรือสังคมไทยในวันนี้ยังคง ”รวยกระจุก จนกระจาย” คนไทยเป็นหนี้หัวโตไปจนแก่ น่ากลัวมากในยุคนี้ สะท้อนให้เห็นถึงสภาวะไม่มั่นคงทางการเงินของคนไทย ยิ่งใครใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเกินตัวต้องระวัง ยังไม่รวมถึงหนี้นอกระบบ คาดเพิ่มขึ้นสูงไม่แพ้กัน

กระทั่งเมื่อเร็วๆนี้ ”วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาระบุว่า คนไทยติดกับดักหนี้ครัวเรือนเป็นอันดับต้นของโลก จนปัจจุบันหนี้ครัวเรือนอยู่ระดับ 78.7% ของจีดีพี เป็นผลมาจากภาคธุรกิจสนับสนุนให้ลูกค้าซื้อของใช้ฟุ่มเฟือยและเกินความจำเป็น ทำให้คนไทยมีหนี้เร็ว ระยะเวลานาน และมีมูลหนี้มากขึ้น โดยคนไทยมีหนี้เฉลี่ยต่อหัวเพิ่มขึ้นจากปี 2553 ซึ่งอยู่ที่ 7 หมื่นบาทต่อคน มาเป็น 1.5 แสนบาทต่อคนในปี 2560 ยังไม่รวมหนี้นอกระบบ หนี้ของกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นจนอาจเกิดปัญหาสังคมได้

เป็นที่มาของการเร่งแก้ไขปัญหาด้วยการปรับปรุงการกำกับดูแลทั้งสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ และสินเชื่อที่อยู่อาศัย รวมทั้งการออกมาตรการให้สถาบันการเงินดูแลลูกค้าอย่างเป็นธรรม และโครงการคลินิกแก้หนี้ การสร้างวินัยและความรู้ทางการเงิน

อีกทั้งช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยมีการขยายตัวสูงจากโปรโมชั่นลดแลกแจกแถม พาผู้ซื้อไปเที่ยวต่างประเทศ และไม่ได้มีผู้อาศัยจริงค่อนข้างมาก รวมทั้งธนาคารพาณิชย์แข่งขันปล่อยสินเชื่อแบบผ่อนปรน มีให้เงินทอนเป็นเงินสดให้ผู้กู้ไว้ใช้ และปล่อยกู้เกินมูลค่าหลักประกัน (แอลทีวี) สูง ยิ่งทำให้สินเชื่อด้อยคุณภาพสูงตามไปด้วย

เช่นเดียวกับงานวิจัยของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เผยแพร่เมื่อต้นเดือน พ.ค. 2562 จากข้อมูลบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือเครดิตบูโร พบว่า คนไทยเริ่มเป็นหนี้เร็วขึ้น เป็นหนี้นานตั้งแต่อายุยังน้อยไปจนแก่ โดยสัดส่วนคนเป็นหนี้มากสุดอยู่ในกลุ่มคนวัยเริ่มทำงาน ช่วงอายุ 25-35 ปี กว่าครึ่งหนึ่ง เป็นหนี้จากสินเชื่ออุปโภคบริโภค และหนี้บัตรเครดิต และคนกลุ่มนี้มีสัดส่วนถึง 1 ใน 5 ที่เป็นหนี้เสียกระจุกตัวสูง โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลซึ่งเข้าถึงสินเชื่อได้ง่าย

กลายเป็นสถานการณ์ที่ล่อแหลมทางการเงินของสังคมไทย เพราะเมื่อช่วงอายุมาถึงปลาย 30 ปี พบว่าปริมาณหนี้ต่อหัวเพิ่มสูงขึ้นและสูงขึ้นตลอดการทำงาน แสดงให้เห็นถึงระดับหนี้ไม่ได้ลดลงแม้เข้าสู่วัยเกษียณ โดยค่าเฉลี่ยของหนี้เพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวในระยะเวลาเพียง 6 ปี เพิ่มจาก 7 หมื่นบาทต่อคนในปี 2553 เป็น 1.5 แสนบาทในปี 2559 ทำให้สัดส่วนของคนที่ติดอยู่ในวงจรหนี้เสีย กว่า 16% หรือประมาณ 3 ล้านคน มีสถานะค้างชำระเกินกว่า 90 วัน ต้องถูกเจ้าหนี้ติดตามทวงถามและดำเนินการตามกฎหมาย

ทีมข่าว ”เจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์” ต่อสายคุยกับ ”ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี” วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อตอกย้ำคนไทยเป็นหนี้สูงขึ้นจริงๆ ทั้งหนี้ระยะยาวจากการผ่อนบ้าน ผ่อนรถและหนี้จากชีวิตประจำวัน เป็นสิ่งพื้นฐานที่ทุกคนเป็นหนี้โดยปกติทั้งหนี้บัตรเครดิต หนี้สินเชื่อบุคคล และหากเปรียบเทียบภาพรวมรายได้เฉลี่ย 2.6 หมื่นบาทต่อครัวเรือน ซึ่งมี 3.1 คนในครัวเรือน สรุปมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยคนละ 8.7 พันบาทถึง 9 พันบาท ตามมาตรฐานการใช้จ่าย แต่กลับพบว่าครอบครัวของคนไทยเกินครึ่ง ใช้ชีวิตติดลบจากค่าใช้จ่ายประจำวัน โดยมีแนวโน้มสูงขึ้นกว่ารายได้จากหนี้การศึกษา การใช้จ่ายในสถานพยาบาล

“เพราะปัจจุบันสถานการศึกษา มีการจัดลำดับชั้นของคนในสังคม พ่อแม่จำเป็นต้องจ่ายเพื่อคุณภาพการศึกษาของลูก หรือสถานพยาบาล ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อแลกกับบริการที่ดี เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาหนี้สิน ต้องเพิ่มรายได้ของคน ด้วยการปรับโครงสร้างรายได้ในสังคมไทยที่ต่ำ และรัฐต้องจัดขนส่งสาธารณะฟรี การศึกษาฟรี และการรักษาพยาบาลฟรีทั้งหมด ให้เป็นสวัสดิการพื้นฐานครอบคลุมถึงต่างจังหวัด รวมถึงดอกเบี้ยบ้าน ซึ่งทุกๆ ประเทศถือเป็นหนี้ระยะยาว ควรมีความเหมาะสม”

ส่วนการมีบ้านจากการเป็นหนี้เพื่อสร้างทรัพย์สิน เป็นวิธีคิดของคนไทยที่ถูกฝังมานานจากแนวคิดของอเมริกา ถามว่าเป็นความคิดที่ผิดหรือไม่ หากภาคเศรษฐกิจดีก็จะไม่มีคนตั้งคำถาม เพราะมีรายได้ไม่มั่นคง จนกลายเป็นภาระติดตาม หากออกจากงาน เนื่องจากไทยไม่มีประกันการว่างงานเหมือนกับประเทศสวีเดนและเดนมาร์ก มีประกันการว่างงาน 80-90% ของรายได้สุดท้าย เป็นเวลา 1 ปี แต่ของไทยได้ 4.5 พันบาท เพียง 3 เดือนจากเพดานสมทบเงินประกันสังคมที่ได้สูงสุด 1.5 หมื่นบาท ทำให้กลายเป็นปัญหา ไม่สามารถผ่อนบ้านได้ สุดท้ายต้องไปเช่าบ้าน เมื่อรายได้หายไปกว่า 80% ซึ่งเกี่ยวข้องกับสวัสดิการของไทยไม่ดีพอ

“หนี้คนไทยน่ากลัวอย่างต่อเนื่อง จากรายจ่ายที่สูงกว่ารายรับ กลายเป็นภาระสะสม และผมอยากตั้งข้อสังเกตที่บอกว่าคนไทยไม่มีวินัย ไม่มีการวางแผน มีความพยายามให้แก้วินัยตรงนี้ นั้นไม่ใช่ ทั้งๆ ที่คนไทยทำงานอย่างหนัก แต่จริงๆ แล้วเกิดจากโครงสร้างเงินเดือนถูกเกินไป ทำให้ไม่สามารถไปลงทุนอย่างอื่นได้ อย่างค่าจ้างขั้นต่ำ ควรจำเป็นต้องปรับได้แล้ว 390-400 บาท อีกทั้งคนไทย 10 ล้านคน อายุช่วง 40-50 ปี ยังได้ค่าจ้างขั้นต่ำน้อยกว่าความเป็นจริง เพราะถูกนายจ้างเอาเปรียบ ให้ลาออกแล้วกรอกใบสมัครใหม่ ดังนั้นควรแก้กฎหมายแรงงานให้เข้มแข็ง ไม่ให้อภิสิทธิ์กับกลุ่มนายทุนจนมากเกินไป และหันมาสนับสนุนกลุ่มทุนขนาดเล็ก เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานได้ค่าจ้างที่เหมาะสม อย่างไต้หวัน ค่าจ้างสูงกว่าไทย 2 เท่า แต่ค่าครองชีพพอๆ กับเรา”

นอกจากนี้หนี้สินของคนไทยมีหลายรูปแบบ จนกลายเป็นหนี้ 60-70% ของรายได้ ถูกส่งต่อการชำระหนี้ทั้งบัตรเครดิต หนี้จากบ้านและรถ รวมถึงหนี้นอกระบบจากผู้ใช้แรงงานและเกษตรกร เพราะฉะนั้นรัฐบาลต้องควบคุมดอกเบี้ยสินเชื่อเอนกประสงค์ไม่ควรเกิน 10-15% จากปัจจุบัน 20%++ ไปจนถึง 28% ซึ่งโหดเกินไป ยังไม่รวมค่าธรรมเนียมและค่าอื่นๆอีก พร้อมย้ำว่าการแก้หนี้สินคนไทยที่ดีที่สุด คือการเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายเท่านั้น โดยผ่านสวัสดิการพื้นฐานต้องฟรีทั้งหมด.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ