นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน วานนี้ (16 เม.ย.) ว่า ที่ประชุมมีมติปรับสัดส่วนกรอบวินัยการเงินการคลังเพื่อให้รับกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โอนงบประมาณ พ.ศ.2563 ซึ่งจะทำให้งบกลางที่อยู่ภายใต้ การดูแลของนายกรัฐมนตรี มีวงเงินสามารถใช้ได้เพิ่มเติม 80,000-100,000 ล้านบาทที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาตัดงบประมาณจากส่วนราชการ
สำหรับสัดส่วนกรอบวินัยการเงินการคลังที่มีการปรับเปลี่ยน มี 2 ส่วน คือ
1.สัดส่วนงบประมาณจากงบกลาง จากเดิมกำหนดว่าต้องตั้งไม่น้อยกว่า 2% แต่ไม่เกิน 3.5% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้ขยับเพดานขึ้นเป็น 7.5% เป็นการชั่วคราวสำหรับปีงบประมาณ 2563-2564 เพื่อรองรับงบประมาณที่จะโอนเข้ามายังงบกลาง ตาม พ.ร.บ.โอนงบประมาณ
และ 2.การกำหนดสัดส่วนการชำระคืนต้นเงินกู้ของรัฐและหน่วยงานของรัฐ จากเดิมต้องตั้งไม่น้อยกว่า 2.5% แต่ไม่เกิน 3.5% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ปรับสัดส่วนขั้นต่ำลงเหลือ 1.5% ซึ่งเป็นการปรับสัดส่วน เพื่อรองรับกรณีหากกระทรวงการคลังตัดเงินจากส่วนนี้มาเป็นส่วนหนึ่งใน พ.ร.บ.โอนงบประมาณ ปี พ.ศ.2563 “หลังปรับสัดส่วนแล้ว จะออกประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เรื่องสัดส่วนต่างๆ เพื่อเป็นกรอบวินัยการคลังของรัฐใหม่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ลงนามแล้ว และจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป”
ทั้งนี้ งบประมาณรายจ่ายปี 2563 กำหนดสัดส่วนงบกลางไว้ที่ 3% ของงบประมาณรวม 3.2 ล้านล้านบาท มีวงเงินอยู่ที่ 96,000 ล้านบาท ขณะที่งบประมาณรายจ่ายปี 2564 กำหนดสัดส่วนงบกลางไว้ที่ 3% ของงบประมาณรวม 3.3 ล้านล้านบาท มีวงเงินรวม 99,000 ล้านบาท ทั้งนี้ หลังปรับสัดส่วนงบกลางเพิ่มขึ้นเป็น 7.5% แล้ว จะทำให้เพดานสูงสุดของงบกลางของปีงบประมาณ 2563 และงบปี 2564 ขยับขึ้นไปอยู่ที่ 240,000 ล้านบาท และ 247,000 ล้านบาทตามลำดับ โดยสำนักงบประมาณจะเสนอร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณฯ ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 21 เม.ย.นี้
นายอุตตม สาวนายน รมว.คลังกล่าวว่า รัฐบาลอยู่ระหว่างออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท แต่การกู้เงินจริงจะพิจารณาถึงความจำเป็นในแต่ละครั้ง และขณะนี้ยังไม่พูดถึงการขยายเพดานก่อหนี้ให้เกินกว่า 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี).