Thairath OnlineThairath PlusThairath SportThairath TVMIRROR
InvestmentPersonal FinanceEconomicsBusiness & MarketingTech & InnovationSustainabilityExperts PoolVideosPR News
เศรษฐกิจพังหลักล้านล้านบาท วิกฤติ "โควิด-19" เดือน มิ.ย.ตกงานรวม 7 ล้านคน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

เศรษฐกิจพังหลักล้านล้านบาท วิกฤติ "โควิด-19" เดือน มิ.ย.ตกงานรวม 7 ล้านคน

Date Time: 9 เม.ย. 2563 08:01 น.

Summary

  • "กกร." ประเมินผลกระทบโควิด-19 ชี้อาจทำเศรษฐกิจไทยเสียหายหลัก ล้านล้านบาท เดือน มิ.ย.นี้ คนไทยจะตกงาน 7 ล้านคน

Latest

จบมา มีแค่“ใบเกรด”อย่างเดียวไม่พอ ต้องมี Skill Transcript ด้วย นายจ้างยุคใหม่ มองหาคนทำงานแบบไหน?

“กกร.” ประเมินผลกระทบโควิด-19 ชี้อาจทำเศรษฐกิจไทยเสียหายหลัก ล้านล้านบาท เดือน มิ.ย.นี้ คนไทยจะตกงาน 7 ล้านคน รับสภาพเศรษฐกิจและการส่งออก อัตราเงินเฟ้อปีนี้ ติดลบยกแผง จ่อปรับตัวเลขให้ชัดเจนอีกครั้ง ในการประชุม กกร.เดือน พ.ค.นี้ เหตุขอรอประเมินผลลัพธ์มาตรการรัฐพยุงเศรษฐกิจของรัฐบาล แนะรัฐบาลเร่งออกมาตรการดูแลผู้ประกอบการ แรงงานเพิ่มเติมด่วน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า กกร.ยังไม่ปรับเป้าหมายอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) รวมทั้งภาวะการส่งออกและอัตราเงินเฟ้อปีนี้ใหม่ เนื่องจากขอรอประเมินความชัดเจนหลังรัฐบาลได้มีมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจออกมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะระยะที่ 3 จากการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และให้ธนาคารแห่งประเทศ ไทย (ธปท.) ปล่อยสินเชื่อ/พักชำระหนี้ วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาทก่อนที่จะนำมาพิจารณาตัวเลข ที่ชัดเจนในการประชุม กกร.เดือน พ.ค.นี้ แต่ยอมรับว่าจากปัจจัยต่างๆแล้ว จีดีพี ส่งออกและเงินเฟ้อ ปีนี้จะติดลบทั้งหมด

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ กกร.ได้ลดเป้าจีดีพีปีนี้เหลือโต 1.5-2.5% ส่งออกลบ 2 ถึง 0% และเงินเฟ้อ 0-0.5% ยอมรับว่าตลอดทั้งปีนี้ประเมินแล้ว จีดีพีของประเทศไทยต้องติดลบแน่นอน ส่วนภาคการส่งออกอาจติดลบ 5-10% เงินเฟ้อติดลบ 1.5% แม้ว่ารัฐบาลมีการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 แต่ก็อาจไม่สามารถทดแทน ผลกระทบที่เกิดขึ้น ต่อภาคธุรกิจและประชาชน จากการขาดรายได้ และการหยุดหรือปิดกิจการ

“กกร.ประเมินความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยจากไวรัสโควิด-19 จะมีมูลค่าสูงถึงหลักล้านล้านบาท และจนถึงเดือน มิ.ย.นี้ คาดจะมีคนตกงานรวม 7 ล้านคน อาทิ ธุรกิจก่อสร้าง 1 ล้านคน ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และธุรกิจค้าปลีก จะตกงานรวมกัน 4.2 ล้านคน กิจการโรงแรม 970,000 คน ร้านอาหาร ภัตตาคาร 250,000 คน ร้านสปา ร้านนวดเพื่อสุขภาพ 200,000 คน ธุรกิจสิ่งทอ 200,000 คน ฯลฯ และ ในจำนวนนี้มีประมาณ 6 ล้านคน ที่มีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อเดือน จากแรงงานทั้งระบบของประเทศมี 38 ล้านคน หากโควิด-19 ลากยาวเกินครึ่งปีนี้ ก็จะกระทบกับธุรกิจขนาดใหญ่อย่างรุนแรง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่”

สำหรับมาตรการที่รัฐบาลออกมาช่วยเหลือประชาชน อาจทำให้เศรษฐกิจติดลบได้ลดลง ดังนั้น รัฐบาลควรจะมีมาตรการเข้ามาดูแลเพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือแรงงาน อาทิ พนักงานที่สมัครใจหยุดงานโดยไม่รับเงินเดือนที่ไม่มีสิทธิ์ขอรับเงินเยียวยา 5,000 บาท ก็ควรให้สำนักงานประกันสังคมจ่ายเงินช่วยเหลือ 50% ของเงินเดือน รวมทั้งขอเสนอให้รัฐบาลช่วยเหลือแรงงานที่มีเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท ยังควรได้รับเงินเดือน 75% แบ่งเป็นสำนักงานประกันสังคมจ่าย 50% นายจ้างจ่าย 25%

“รัฐบาลควรให้มีการจ้างงานเป็นรายชั่วโมง เพื่อป้องกันปัญหาการเลิกจ้างแรงงาน โดยให้คิดค่าแรงเป็นรายชั่วโมง ชั่วโมงละ 40-41 บาทต่อการจ้างงาน 4-8 ชั่วโมงต่อวัน จากค่าแรงขั้นต่ำปัจจุบันอยู่ที่ 325 บาทต่อวัน”

ทั้งนี้ ในเรื่องของมาตรการด้านผู้ประกอบการ ได้แก่ ขอให้รัฐบาลออกคำสั่งปิดกิจการโรงแรมหรืองานบริการอื่นๆที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เพื่อให้พนักงานสามารถเข้าข่ายกิจการที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งปิดกิจการจากรัฐบาล เพื่อให้พนักงานได้สิทธิ์รับเงินชดเชย ตามมาตรการที่รัฐบาลกำหนด (โดยยกเว้นให้โรงแรมหรือบริการอื่นๆที่มีความจำเป็น สามารถเปิดกิจการโดยความสมัครใจ อาทิ เป็นที่พักบุคลากรทางการแพทย์ หรือที่พักของผู้กักตัว เป็นต้น) ขอให้ปรับลดค่าไฟฟ้า 5% ทั่วประเทศ และขอให้จัดสรรงบประมาณในการจ้างงาน ซื้อสินค้าจากผู้ผลิตในประเทศ ในราคาที่เหมาะสม เป็นต้น

สำหรับมาตรการด้านการขนส่งที่ปัจจุบัน แต่ละจังหวัดมีการประกาศมาตรการแตกต่างกัน ทำให้เกิดปัญหาในการขนส่ง จึงขอเสนอให้มีการประกาศมาตรการจากส่วนกลาง เพื่อให้มีการปฏิบัติให้เท่าเทียมกันทั้งประเทศ เพื่อให้ภาคเอกชนมีความคล่องตัวในการขนส่งสินค้าได้ทั่วประเทศ

นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มาตรการดูแลเศรษฐกิจทั้ง 3 ระยะ ที่ครอบคลุมทุกด้าน แต่ยังห่วงว่า จะนำมาตรการไปปฏิบัติอย่างไร รัฐบาลจะต้องสื่อสารให้ชัดเจน.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ