หากสยบไวรัสได้ในไตรมาส 2 คาดเศรษฐกิจปีนี้ติดลบ 5.3%

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

หากสยบไวรัสได้ในไตรมาส 2 คาดเศรษฐกิจปีนี้ติดลบ 5.3%

Date Time: 26 มี.ค. 2563 08:30 น.

Summary

  • กนง.มีมติ 4 ต่อ 2 คงดอกเบี้ยไว้ที่ 0.75% ชี้การระบาดโควิด-19 ยังมีช่วงรุนแรงและยาวนาน ช่วงนี้ควรเน้นอัดมาตรการการคลังและลดภาระหนี้ก่อน

Latest

สนค.แจงสี่เบี้ยเงินเฟ้อปี 68 เติบโต 0.8% ขึ้นค่าแรงไม่มีผลกระทบ

กนง.มีมติ 4 ต่อ 2 คงดอกเบี้ยไว้ที่ 0.75% ชี้การระบาดโควิด-19 ยังมีช่วงรุนแรงและยาวนาน ช่วงนี้ควรเน้นอัดมาตรการการคลังและลดภาระหนี้ก่อน ระบุไวรัสนี้ทำเศรษฐกิจไทยปักหัวดิ่ง คาดปีนี้เศรษฐกิจติดลบ 5.3% จากปีก่อนหน้า นักท่องเที่ยวเหลือ 15 ล้านคนทั้งปี ส่งออกติดลบ 8.8% มองยังมีโอกาสดิ่งต่อได้ หากไทยเดินตามรอยการระบาดของอิตาลี

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สายนโยบายการเงิน ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า ผลการประชุม กนง.ในวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา กรรมการมีมติ 4 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.75% ต่อปี หลังจากลดลง 2 ครั้งในการประชุมวันที่ 5 ก.พ.และประชุมนัดพิเศษวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา

“กนง.มองว่า แม้ว่าการระบาดไวรัสโควิด-19 จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้หดตัวลงแรงจากปีก่อนมาก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบ แต่ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ตลาดการเงินได้เริ่มกลับมาทำงานปกติแล้ว และการระบาดของโควิด-19 จะมีความรุนแรงมากขึ้นก่อนที่จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งมาตรการดูแลผู้ได้รับผลกระทบของรัฐบาลที่ได้ประกาศไปแล้ว และเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ โดยเฉพาะครัวเรือนและธุรกิจเอสเอ็มอี ที่เกิดผลชัดเจนเป็นรูปธรรมจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นอีกครั้งในปี 64 และมาตรการด้านการคลังจะต้องเป็นกลไกหลักในการบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจ”

นายทิตนันทิ์ กล่าวต่อว่า กนง.ให้ติดตามความเสี่ยงจากเศรษฐกิจต่างประเทศ ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และประสิทธิผลของมาตรการดูแลและเยียวยาของภาครัฐ รวมถึงการช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินอย่างใกล้ชิด โดยขณะนี้เสถียรภาพของตลาดตราสารหนี้ปรับดีขึ้นหลัง ธปท.ออกมาตรการสนับสนุนสภาพคล่อง อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคารพาณิชย์ปรับลดลง ซึ่งมีส่วนช่วยลดภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้ สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทมีแนวโน้มผันผวน โดย กนง.จะนำพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะผลกระทบจากการระบาด เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือเพิ่มเติม ทั้งดอกเบี้ยนโยบายและมาตรการการเงินอื่นที่จะช่วยเสริมกลไกการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยและการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินให้ตรงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างเหมาะสมและทันการณ์

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า หากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะควบคุมได้ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ กนง. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะหดตัว หรือติดลบ 5.3% อย่างไรก็ตาม การทรุดตัวลงของเศรษฐกิจจะไม่เกิดต่อเนื่องเป็นระยะสั้น โดยจะลดลงรุนแรงที่สุดในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ก่อนจะดีขึ้นบ้างในครั้งปีหลังและกลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ 3.0% ในปี 2564 หากสถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลาย อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เศรษฐกิจไทยขณะนี้ยังมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนตัวไปทางต่ำลงได้ หากเกิดกรณีเลวร้ายที่ไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ เช่นเดียวกับในประเทศอิตาลี แต่ยังมีปัจจัยบวกที่จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้ เพราะประมาณการนี้ยังไม่รวมมาตรการทางการคลังที่จะออกมาเพิ่มเติมอีก

สำหรับปัจจัยหลักที่มีผลต่อการหดตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะหดตัวราว 60% ในปีนี้ โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะลดลงจาก 41.7 ล้านคนในปีที่แล้ว เหลือเพียง 15 ล้านคนในปีนี้ ขณะที่เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าทั่วโลกจะชะลอตัวแรง หรืออาจถึงขั้นหดตัวในหลายประเทศ โดย ธปท.คาดการณ์ว่า การส่งออกไทยในปีนี้จะหดตัว 8.8% และการนำเข้าจะหดตัว 15%.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ