“ศักดิ์สยาม” กดปุ่มเจาะอุโมงค์ รถไฟฟ้าสายสีส้มเชื่อมฝั่งตะวันออกสู่ใจกลางเมือง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“ศักดิ์สยาม” กดปุ่มเจาะอุโมงค์ รถไฟฟ้าสายสีส้มเชื่อมฝั่งตะวันออกสู่ใจกลางเมือง

Date Time: 13 มี.ค. 2563 08:41 น.

Summary

  • การเดินเครื่องหัวเจาะตัวที่ 3 จะดำเนินการขุดเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินสัญญาที่ 2 ฝั่งขาเข้า จากสถานีหัวหมากไปยังสถานีรามคำแหง ระยะทาง 1.9 กิโลเมตร (กม.) คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือน ก.ค.63

Latest

อัปเดต TOP 5 ทำเล แนวรถไฟฟ้า “ราคาที่ดินเปล่า” ปรับขึ้นสูงสุด

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยหลังเป็นประธานเปิดเดินเครื่องหัวเจาะอุโมงค์ที่ 3 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ว่า การเดินเครื่องหัวเจาะตัวที่ 3 จะดำเนินการขุดเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินสัญญาที่ 2 ฝั่งขาเข้า จากสถานีหัวหมากไปยังสถานีรามคำแหง ระยะทาง 1.9 กิโลเมตร (กม.) คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือน ก.ค.63 สำหรับภาพรวมการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม จำนวน 17 สถานี มีความคืบหน้า 56.86% เร็วกว่าแผน 2.57% คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จปี 65 จากนั้นจะติดตั้งระบบเดินรถ ก่อนจะเปิดให้บริการปี 67

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า รถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ถือเป็นโครงการรถไฟฟ้าสายแรกที่เชื่อมโยงกรุงเทพฝั่งตะวันออกสู่ใจกลางเมือง เบื้องต้นคาดการณ์ว่าจะมีผู้โดยสารมาใช้บริการ 400,000 คนต่อวัน โครงการนี้ยังช่วยประหยัดค่าน้ำมันรถได้ 24,000 ล้านบาทต่อปี, ประหยัดเวลาในการเดินทางคิดเป็นมูลค่า 53,000 ล้านบาท และประหยัดด้านสิ่งแวดล้อมอีก 10,000 ล้านบาทต่อปี

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อยู่ระหว่างเตรียมเปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) คาดว่าจะได้เอกชนผู้ชนะการประมูลเดือน ต.ค.นี้ ซึ่งเมื่อรถไฟฟ้าสายสีส้มเปิดให้บริการครบทั้งตะวันออกและตะวันตก จะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่ประชาชน และช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัด ตลอดจนช่วย ประหยัดพลังงาน รักษาสิ่งแวดล้อม และลดฝุ่น PM 2.5 ด้วย ทั้งนี้ตนได้ให้ไปพิจารณาเรื่องค่าโดยสารด้วย โดยให้คิดในอัตราที่ถูกที่สุดและสมเหตุสมผล

ทั้งนี้ การก่อสร้างแบบอุโมงค์เป็นแนวทางที่ดีสำหรับพื้นที่ในกรุงเทพฯ เพราะช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดได้มาก โดยขณะนี้ได้มอบให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) หารือร่วมกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างระบบต่างๆ ทั้งทางด่วน รถไฟฟ้า และระบบระบายน้ำภายอุโมงค์เดียวกัน เพราะจะช่วยให้ต้นทุนการก่อสร้างลดลง โดยจะทำในรูปแบบเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) ซึ่งเกาหลีใต้มีการดำเนินการดังกล่าวแล้ว คาดว่าจะใช้เวลาศึกษา 1 ปี.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ