อาหารสดแพง ดันเงินเฟ้อเดือนพ.ค. พุ่ง 1.15% โดยเฉพาะต้นหอม เพิ่ม 150% พริกสด ขยับ 50% รวมถึงข้าวสาร เนื้อสุกร แม้ราคาน้ำมันลด 4 ครั้งไม่ได้ช่วยอะไร เหตุจากการปรับขึ้นค่าโดยสารรถสาธารณะ
เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือน พ.ค.62 ว่า ดัชนีเท่ากับ 103.31 เพิ่มขึ้น 0.48% เมื่อเทียบกับเดือนเม.ย.62 และเพิ่มขึ้น 1.15% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค.61 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง เมื่อเทียบกับเดือน เม.ย.62 ที่สูงขึ้น 1.23% ส่วนดัชนีเฉลี่ยเดือน ม.ค.-พ.ค.62 เพิ่มขึ้น 0.92% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 61
"สินค้ากลุ่มอาหารสด เป็นแรงกดดันหลักที่ทำให้เงินเฟ้อเดือน พ.ค.สูงขึ้น โดยกลุ่มอาหารสด เพิ่มขึ้นถึง 5.28% ตามการสูงขึ้นของผักสด เช่น ต้นหอม เพิ่ม 150% พริกสด เพิ่ม 50% ข้าวสาร และเนื้อสุกร แม้ว่ากลุ่มพลังงานจะกลับมาหดตัว โดยลดลงถึง 0.49% ตามราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่ลดลงถึง 4 ครั้งในเดือน พ.ค. แต่ก็ไม่ได้ฉุดให้เงินเฟ้อลดลง เพราะมีการปรับขึ้นค่าโดยสารสาธารณะ ทั้งรถ ขสมก. บขส. และรถตู้ แต่ก็จะมีผลแค่เดือน พ.ค.เดือนเดียว"
สำหรับรายละเอียดราคาสินค้าในเดือน พ.ค.62 พบว่า สินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่มขึ้น 2.83% โดยสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น เช่น ผักสด เพิ่ม 29.34% ข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง เพิ่ม 3.74%เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ เพิ่ม 3.26% เครื่องประกอบอาหาร เพิ่ม 1.77% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 0.61% อาหารบริโภคในบ้าน เพิ่ม 0.615 นอกบ้าน เพิ่ม 1.32% ส่วนไข่และผลิตภัณฑ์นม ลด 0.30% ผลไม้สด ลด 0.63%
ขณะที่สินค้าหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม เพิ่ม 0.20% สินค้าสำคัญที่ราคาเพิ่มขึ้น เช่น ค่าโดยสารสาธารณะ เพิ่ม 5.63% เครื่องนุ่งห่ม เพิ่ม 0.08% เคหสถาน เพิ่ม 0.33% การรักษาและบริการส่วนบุคคล เพิ่ม 0.21% การขนส่งและการสื่อสาร เพิ่ม 0.08% บันเทิง การอ่าน การศึกษา เพิ่ม 0.28% โดยน้ำมันเชื้อเพลิง ลดลง 1.20% และยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ลด 0.02%
ส่วนแนวโน้มเงินเฟ้อจะยังคงปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของสินค้าในหมวดอาหาร โดยเฉพาะผักสด ที่ปี 61 ฐานต่ำ จากการที่ฝนตกชุก ผลผลิตดี แต่ปีนี้ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ราคาน่าจะทรงตัวในระดับสูง ขณะที่ราคาน้ำมัน จะทรงตัวอยู่ในระดับนี้ ยกเว้นมีเหตุการณ์อะไรรุนแรง ส่วนราคาบุหรี่และเหล้า ราคาทรงตัว เพราะปีก่อนปรับขึ้นราคาตามการเพิ่มขึ้นของภาษีไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม สนค. จะพิจารณาปรับกรอบเงินเฟ้อใหม่ โดยจะเพิ่มค่ากลางจากเดิม 1.2% แต่จะเพิ่มขึ้นเท่าไร ขอดูตัวเลขเดือน มิ.ย.62 ก่อน แต่ค่าเฉลี่ยจะยังคงเดิมที่ 0.7-1.7%.