Thairath OnlineThairath PlusThairath SportThairath TVMIRROR

ทำไมโลกยกอินเดียเป็น “ตลาดแห่งอนาคต” จากผู้เล่นรองสู่ฮับลงทุนบิ๊กเทค ฐานผลิตเทคโนโลยีโลก

Date Time: 28 มี.ค. 2568 13:01 น.

Summary

  • อินเดียกำลังกลายเป็นจุดหมายสำคัญของการลงทุนจากบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น ฐานผู้ใช้งานมหาศาล วิศวกรสายเทคโนโลยีที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก นโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ และบทบาทสำคัญในซัพพลายเชนโลก ท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างชาติมหาอำนาจ อินเดียถูกมองว่าเป็น "ทางเลือกใหม่" แทนที่จีน และเป็น "ตลาดแห่งอนาคต" ที่ไม่มีใครอยากพลาด

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา “อินเดีย” กลายเป็นจุดหมายสำคัญของการลงทุนจากยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีทั่วโลกอย่างรวดเร็ว บริษัทระดับโลกจาก Silicon Valley อย่าง Microsoft, Google, Amazon, Apple ไปจนถึงกลุ่มทุนจากยุโรป จีน และเอเชียตะวันออก ต่างแห่กันเทเงินหลายหมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล โรงงานผลิต และศูนย์นวัตกรรมในอินเดียอย่างคึกคัก

กระแสการลงทุนนี้มีที่มาจากการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์ของภูมิทัศน์ทางเทคโนโลยีในระดับโลก ซึ่งอินเดียมีทั้ง “ฐานผู้ใช้งานมหาศาล” “นักพัฒนาและวิศวกรสายเทคโนโลยีที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก” ตลอดจน “นโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ” และยังเริ่มมีบทบาทสำคัญในซัพพลายเชนโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งในวันที่ความตึงเครียดระหว่างชาติมหาอำนาจเปลี่ยนสมการธุรกิจโลก อินเดียจึงถูกมองว่าเป็น “ทางเลือกใหม่” แทนที่จีน และเป็น “ตลาดแห่งอนาคต” ที่ไม่มีใครอยากพลาด

บทความนี้ Thairath Money จะพาไปเจาะลึกว่า “ทำไม Big Tech ถึงทุ่มเงินลงทุนในอินเดียมากขึ้นเรื่อย ๆ” ไม่ว่าจะเป็นเบื้องหลังกลยุทธ์ที่น่าสนใจ ไปจนถึงการอัปเดตล่าสุดในปี 2024-2025 ว่ามีใครลงทุนอะไรบ้าง และอินเดียกลายเป็นหมากตัวสำคัญในเกมธุรกิจระดับโลกได้อย่างไร

ขนาดตลาดและศักยภาพการเติบโตของอินเดีย

อินเดีย ถือเป็นหนึ่งในตลาดที่ใหญ่ที่สุดและเติบโตเร็วที่สุดในโลก ด้วยจำนวนประชากรกว่า 1,400 ล้านคน และอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่พุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง อินเดียมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมากถึง 886 ล้านคนในปี 2024 และคาดว่าจะทะลุ 900 ล้านคนภายในปี 2025 ซึ่งเป็นรองเพียงจีนเท่านั้น ข้อได้เปรียบสำคัญมาจากราคาสมาร์ทโฟนที่ถูกลงอย่างมาก รวมถึงแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตมือถือที่ถือว่าถูกที่สุดในโลก ส่งผลให้มีผู้บริโภคที่เข้าถึงโลกดิจิทัลหน้าใหม่เพิ่มขึ้นหลายสิบล้านคนต่อปี

บวกกับปัจจัยที่ธุรกิจ e-Commerce และบริการดิจิทัลในอินเดียกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยมูลค่าตลาด e-Commerce ของอินเดียในปี 2024 อยู่ที่ 123,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะพุ่งไปถึง 300,000-325,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2030 ทำให้อินเดียกลายเป็นตลาดค้าปลีกออนไลน์อันดับ 3 ของโลก ด้วยแรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า จะมีผู้ซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ถึง 500 ล้านคนภายในปี 2030 อีกทั้งการขยายตัวของเครือข่าย 4G/5G ที่ปัจจุบันเริ่มครอบคลุมทั่วประเทศ และมีการใช้งานระบบชำระเงินดิจิทัลที่แพร่หลาย

สำหรับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่แล้ว อินเดียจึงเป็นตลาดสำคัญสำหรับการเติบโต เนื่องจากเป็นฐานลูกค้าใหม่ที่ยังแทบไม่ถูกแตะต้อง ทั้งในด้าน e-Commerce โซเชียลมีเดีย บริการเสิร์ชเอนจิน และบริการสตรีมมิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับจีนซึ่งปิดกั้นบริษัทต่างชาติ ขณะที่อินเดียยังเปิดกว้างต่อการลงทุนจากต่างชาติ ทำให้ Amazon และ Walmart (Flipkart) ลงทุนไปแล้วหลายหมื่นล้านดอลลาร์เพื่อขยายธุรกิจในตลาดนี้ และเมื่อไม่นานมานี้ Andy Jassy ซีอีโอของ Amazon ก็ประกาศลงทุนรวม 26,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2030

นอกจากตลาด e-Commerce แล้ว บริษัทอย่าง Alphabet เจ้าของ Google ยังทุ่มเงินลงทุนอย่างหนักในอินเดีย ตั้งแต่ตั้งกองทุน Digitization Fund มูลค่ากว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปจนถึงวางโครงการขยายโครงข่ายบรอดแบนด์ เพื่อดึงลูกค้ากลุ่มผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในอินเดียและประเทศตลาดเกิดใหม่อื่น ๆ

ยิ่งกว่านั้น อินเดียยังมีระบบชำระเงินดิจิทัล อย่าง “Unified Payments Interface” หรือ “UPI” ที่เรียกได้ว่าเป็นระบบที่มีศักยภาพสูง ด้วยการรองรับปริมาณการทำธุรกรรมกว่า 13,000 ล้านรายการต่อเดือน และยังมีการแข่งขันกันของ Google Pay, PhonePe (Walmart), Amazon Pay และ WhatsApp Pay ของ Meta ที่ต่างก็เร่งพัฒนาและเชื่อมต่อเข้ากับระบบ UPI ที่มีจุดแข็งคือ “ชำระแบบเรียลไทม์และไม่มีค่าธรรมเนียม” (คล้ายคลึงกับระบบ PromptPay ของไทยเรา) เพื่อแย่งชิง Data และส่วนแบ่งตลาดกันอย่างดุเดือด

ทั้งนี้ อินเดีย ก็คือ “ตลาดดาวรุ่ง” ที่มีทั้งขนาดที่ใหญ่ อัตราการเติบโตที่สูง และพฤติกรรมผู้บริโภคที่กำลังเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลอย่างชัดเจน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ทั่วโลกจะเลือกอินเดียเป็นหนึ่งในศูนย์กลางกลยุทธ์การขยายธุรกิจระดับโลกในทศวรรษนี้

ศูนย์กลางคนเก่งและนวัตกรรม

นอกจากจำนวนผู้บริโภคที่มหาศาลแล้ว อินเดียยังมีอีกหนึ่งจุดแข็งที่ทรงพลังไม่แพ้กัน นั่นคือ ทรัพยากรบุคคลด้านเทคโนโลยี (Tech Talent) ซึ่งเป็นแม่เหล็กสำคัญที่ดึงดูดบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จากทั่วโลก

อินเดียเป็นแหล่งรวมของวิศวกร นักพัฒนา และมืออาชีพด้าน IT ในระดับแถวหน้าของโลก โดยทุกปีประเทศนี้จะมีการผลิตบัณฑิตสาย STEM (Science, Technology, Engineering, Mathematics) เป็นจำนวนมากออกมาในตลาด และยังมีชุมชนนักพัฒนาที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก ปัจจุบัน อินเดียคือชุมชนนักพัฒนาบน GitHub ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และทาง Microsoft ก็คาดว่าจะก้าวขึ้นเป็นอันดับ 1 แซงหน้าสหรัฐฯ ภายในปี 2028

สำหรับแรงงาน IT ของอินเดียไม่เพียงแต่มีทักษะสูง แต่ยังมีต้นทุนที่คุ้มค่ากว่าเมื่อเทียบกับฝั่งตะวันตก ทำให้บริษัทต่างชาติสามารถตั้งศูนย์ R&D ขนาดใหญ่ในอินเดียได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ และยุโรปหลายแห่งที่ได้เข้ามาจัดตั้งศูนย์วิศวกรรม หรือ Global Capability Center ในเมืองใหญ่ของอินเดีย

ยกตัวอย่างเช่น Microsoft มีพนักงานกว่า 20,000 คนกระจายอยู่ใน 10 เมือง ทำงานให้กับบริษัท ตั้งแต่แพลตฟอร์ม Azure, Office ไปจนถึง AI ขณะที่ Google เองก็มีศูนย์ใหญ่ในเมือง Bengaluru และ Hyderabad พร้อมทั้งเปิดห้องวิจัย AI ในอินเดีย เพื่อใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญของท้องถิ่นด้าน Machine Learning ขณะที่ Meta ก็ได้สร้างสำนักงานใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกใน Hyderabad โดยทีมงานอินเดียมีบทบาทสำคัญทั้งในการพัฒนาโปรดักต์และดูแลเนื้อหา

IBM และ Oracle ก็ได้เข้ามาปักธงในอินเดียตั้งแต่หลายสิบปีก่อน โดยมีพนักงานอินเดียจำนวนกว่าหลายหมื่นคน สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า อินเดียได้กลายเป็น “ศูนย์กลางทางวิศวกรรม” ที่ขาดไม่ได้ของโลก Enterprise Tech ไปแล้ว

เพราะในยุคที่การแข่งขันด้าน AI กำลังเข้มข้น “ความได้เปรียบด้านบุคลากร” กลายเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง หลายบริษัทเริ่มดึงนักวิจัย AI ชาวอินเดียเข้าร่วมโครงการพัฒนานวัตกรรม เช่น Satya Nadella ซีอีโอของ Microsoft ระบุว่าทีมนักพัฒนาจากอินเดียมีบทบาทสำคัญในการพัฒนา GitHub Copilot (AI ผู้ช่วยเขียนโค้ด) พร้อมเปิดตัวโครงการ “ยกระดับทักษะ AI ให้กับชาวอินเดีย” ภายใต้การลงทุนรอบใหม่ของบริษัท

ฝั่ง Google เองก็ไม่ยอมน้อยหน้า จับมือกับสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยในอินเดีย พัฒนา AI เพื่อการแปลภาษาและด้านสุขภาพ ภายใต้โครงการ India Digitization Initiative ด้าน Microsoft ได้ให้เหตุผลว่าการลงทุนใหม่มูลค่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในอินเดียนั้น ก็เพื่อเปลี่ยนการลงทุนให้ “คุ้มค่าและสร้างกำไร” ด้วยการใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญและต้นทุนบุคลากรในท้องถิ่น

อีกหนึ่งมุมสำคัญคือ อินเดียไม่ใช่แค่แหล่งผลิตแรงงาน แต่ยังเป็นแหล่งนวัตกรรมที่เติบโตได้เองจากภายในประเทศ เพราะมีระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีที่คึกคัก ทั้งสตาร์ทอัพ นักพัฒนา และการสนับสนุนในภาคการศึกษา ซึ่งบิ๊กเทคจำนวนมากเข้าไปมีส่วนร่วมและจับมือเป็นพันธมิตร อีกทั้งอินเดียยังติดอันดับประเทศที่มีสตาร์ทอัพระดับ “ยูนิคอร์น” มากที่สุดในโลกอีกด้วย

นโยบายภาครัฐหนุน เปิดทางบิ๊กเทคลงทุนแบบ Win-Win

หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่บริษัทเทคโนโลยีทั่วโลกเร่งขยายฐานในอินเดีย ไม่ได้มีแค่ตลาดใหญ่หรือแรงงานคุณภาพ แต่ยังมาจาก “นโยบายภาครัฐที่เปิดรับเทคโนโลยีอย่างจริงจัง” อินเดียมีแนวทางส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติในภาคเทคโนโลยีชัดเจน และเดินเกมเชิงรุกมาอย่างต่อเนื่อง

ตัวอย่างสำคัญคือแคมเปญ “Make in India” ที่เปิดตัวตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งส่งสัญญาณแรงกล้าว่า “อินเดียยินดีต้อนรับเทคโนโลยีจากทั่วโลก” โดยมีเป้าหมายให้บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนผลิตและพัฒนาโปรดักต์ภายในประเทศ พร้อมทั้งสนับสนุนให้จับมือกับธุรกิจท้องถิ่นเพื่อยกระดับห่วงโซ่อุปทานในประเทศ ซึ่งนโยบายนี้ทำให้ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนต่างชาติ อย่างเช่น Vivo, Oppo และ Xiaomi จากจีน ต่างเริ่มหาพาร์ตเนอร์ในอินเดียเพื่อร่วมผลิตและกระจายสินค้าในประเทศ

หนึ่งในกลไกนโยบายที่ทรงพลังที่สุดคือ “Production-Linked Incentive” หรือ PLI ที่เริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2020 โดยรัฐบาลจัดงบกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อจูงใจผู้ผลิตผ่าน “เงินสนับสนุนตามปริมาณการผลิต” ซึ่งผลักดันให้เกิดการเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่มูลค่าการผลิตเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าจนแตะ 115,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อปี 2024 ที่ผ่านมา นำโดยยักษ์ใหญ่อย่าง Apple และ Samsung ที่เร่งขยายฐานการผลิตในอินเดีย ทำให้อินเดียกลายเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่อันดับ 4 ของโลก

รัฐบาลยังต่อยอดนโยบายนี้ไปยังหมวดอื่น ๆ เช่น ฮาร์ดแวร์ IT, เซมิคอนดักเตอร์, อุปกรณ์โทรคมนาคม และพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมแผนจูงใจใหม่อีก 4,000-5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อพัฒนาห่วงโซ่อุปทานชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และลดการพึ่งพาการนำเข้าจากจีน

ในฝั่งดิจิทัล อินเดียยังได้ผลักดันโครงการ “Digital India” อย่างจริงจัง ทั้งการขยายโครงข่ายบรอดแบนด์ การพัฒนาระบบ e-Government และการส่งเสริมบริการ e-Learning, e-Health และฟินเทค พร้อมทั้งออกกฎเรื่องการจัดเก็บข้อมูลในประเทศ (Data Localization) เช่น กำหนดให้ข้อมูลธุรกรรมการเงินต้องเก็บในอินเดีย ทำให้ Google, Amazon และ Microsoft ต่างเร่งสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ในอินเดีย เพื่อตอบรับแนวนโยบาย Data Sovereignty นี้

ด้านความร่วมมือ อินเดียได้ออกมาแสดงจุดยืนชัดเจนว่า “พร้อมเป็นพันธมิตร” กับบริษัทเทคโนโลยีทั่วโลก ซึ่งครั้งหนึ่ง นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี กับซีอีโอจาก Silicon Valley ได้นัดพบปะกันในช่วงปี 2023 ส่งผลให้เกิดคำมั่นการลงทุนหลายรายการ เช่น Amazon ประกาศเพิ่มงบ 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ Google เปิดตัวศูนย์กลางฟินเทคระดับโลก และ Micron สหรัฐฯ เตรียมตั้งโรงงานประกอบชิปในอินเดียมูลค่า 2,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐนั่นเอง

และล่าสุด อินเดียยังได้เปิดตัวโครงการใหม่ “IndiaAI” เมื่อปี 2024 วางเป้าหมายพัฒนาอินเดียให้เป็น “ผู้นำด้าน AI ของโลก” โดยใช้โมเดลรัฐ-เอกชนร่วมมือกัน ส่งผลให้บิ๊กเทคหลายรายเร่งลงทุนทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ห้องแล็บ AI และโครงการพัฒนาทักษะบุคลากร

รายงานจาก Financial Times ระบุว่า อินเดียต้องการใช้ตลาดภายในและบุคลากรด้านเทคโนโลยีเป็นแต้มต่อในการเป็นทั้ง “ผู้บริโภค” และ “ผู้ส่งออก AI” พร้อมเดินหน้าสร้างกรอบกฎหมายด้านข้อมูลและนวัตกรรมวิจัย ซึ่งสอดคล้องกับความสนใจของบริษัทอย่าง Nvidia, Intel และพันธมิตรระดับโลก ที่กำลังตั้งแล็บและโปรแกรม AI Accelerator ในอินเดีย

ขึ้นแท่นศูนย์กลางใหม่ของการผลิตเทคโนโลยีโลก

อินเดียกำลังถูกจับตามองในฐานะ “ศูนย์กลางในการผลิตทางเลือก” ที่ตอบโจทย์ครบ ทั้งเรื่องแรงงานราคาประหยัด เสถียรภาพทางธุรกิจ และแนวทางการเมืองที่สอดคล้องกับประเทศตะวันตก

หนึ่งในตัวอย่างชัดเจนที่สุดคือ Apple Inc. ที่ได้ย้ายสายการผลิต iPhone บางส่วนจากจีนมายังอินเดียอย่างจริงจัง โดยในปีงบประมาณ 2024 ทาง Apple ได้มีการผลิต iPhone ในอินเดียคิดเป็น 14% ของกำลังการผลิตทั้งหมด มีมูลค่ากว่า 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีผู้รับจ้างผลิตรายใหญ่ทั้ง Foxconn และ Pegatron

การเคลื่อนย้ายนี้เกิดขึ้นจากกลยุทธ์ของ Apple ที่ต้องการลดการพึ่งพาจีนท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าและความเสี่ยงด้านความมั่นคง พร้อมอาศัยแรงส่งจากนโยบายส่งเสริมอิเล็กทรอนิกส์ของรัฐบาลอินเดีย ซึ่งช่วยให้ซัพพลายเออร์ของ Apple สามารถเร่งขยายกำลังผลิตได้รวดเร็ว

ในปี 2023 โรงงานเหล่านี้มีการจ้างแรงงานหลายหมื่นคนในการผลิต iPhone รุ่นใหม่ทั้งสำหรับขายในประเทศและส่งออกต่างประเทศ พร้อมกันนี้ Apple ยังเปิด Apple Store สาขาแรกในอินเดีย สะท้อนความเชื่อมั่นในตลาดอินเดียระยะยาว

และไม่ใช่แค่ Apple เท่านั้น บริษัทยักษ์ใหญ่จากสหรัฐฯ เอเชีย และยุโรปต่างก็เร่งตั้งฐานผลิตในอินเดีย เช่น Samsung จากเกาหลีใต้ ที่ได้เปิดโรงงานผลิตมือถือที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ เมือง Noida ยังได้ลงทุนเพิ่มในการผลิตสมาร์ทโฟน ทีวี และอุปกรณ์ 5G

ในฝั่งของแบรนด์จีนอย่าง Xiaomi, Oppo, Vivo และ OnePlus ก็ผลิตสมาร์ทโฟนเกือบทั้งหมดในอินเดีย เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้าและแรงกดดันด้านนโยบาย โดยเฉพาะ OnePlus ที่ยอดขายทั่วโลกมากถึง 76% มาจากอินเดีย (ไตรมาส 3 ปี 2024)

ปัจจุบัน แบรนด์จีนครองส่วนแบ่งตลาดมือถือในอินเดียที่กว่า 75% พร้อมเร่งตั้งสายการผลิตภายในประเทศและจับมือกับกลุ่มธุรกิจอินเดีย เพื่อสร้างการผลิตในเชิงลึกยิ่งขึ้น

สิ่งที่สำคัญคือ อินเดียไม่ได้เป็นแค่ตลาดใหญ่ แต่กำลังกลายเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกระดับโลก อย่างเช่น Nokia ที่มีรายงานว่า กว่า 50% ของอุปกรณ์ที่ผลิตในอินเดียถูกส่งออกไปยังสหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ ส่วน iPhone ที่ผลิตในอินเดียก็กระจายไปยังยุโรปและตะวันออกกลาง

รัฐบาลอินเดียยังตั้งเป้าผลักดันการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ให้มูลค่าแตะ 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2030 และอีกกว่า 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากการผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ ส่งสัญญาณชัดเจนถึงการขยายบทบาทในห่วงโซ่อุปทานโลก

อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ทุ่มสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล-คลาวด์-AI

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ทำให้บิ๊กเทคทั่วโลกต่างเร่งขยายตัวในอินเดีย คือการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยี ที่ครอบคลุมทั้งดาต้าเซ็นเตอร์, คลาวด์, ซอฟต์แวร์สำหรับองค์กร ไปจนถึงระบบ AI เพื่อรองรับความต้องการที่พุ่งสูงจากภาคธุรกิจและหน่วยงานรัฐอินเดียที่เร่งเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล

อัตราการใช้งานคลาวด์ในอินเดียเติบโตเฉลี่ยกว่า 25% ต่อปี ส่งผลให้ยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon Web Services (AWS), Microsoft Azure, Google Cloud, Oracle Cloud และอีกหลายราย เทเงินมหาศาลตั้งศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ทั่วอินเดีย

ในปี 2024 ที่ผ่านมา Microsoft ประกาศลงทุนกว่า 3,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในรัฐ Telangana เพื่อสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ความจุไฟฟ้ารวม 660 เมกะวัตต์ ขณะที่ Amazon ก็เผยแผนลงทุนเพิ่มอีกกว่า 12,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2030 (หลังจากทุ่มไปแล้ว 3,000-4,000 ล้านตั้งแต่ปี 2016)

การลงทุนในดาต้าเซ็นเตอร์ยังเชื่อมโยงกับแผนการพัฒนา AI โดยตรง เพราะการให้บริการ AI สมัยใหม่ (เช่น Generative AI หรือโมเดลภาษาขนาดใหญ่) ต้องการพลังประมวลผลสูง ด้านบิ๊กเทคจึงติดตั้งฮาร์ดแวร์ AI และ GPU Clusters ไว้ในศูนย์ข้อมูลอินเดีย เพื่อให้บริการทั้งในประเทศและใช้เป็นฐานวิจัยระดับโลก

อินเดียเองก็เดินหน้าสนับสนุน AI อย่างจริงจังผ่านโครงการ “IndiaAI” ที่เปิดตัวในปี 2024 ส่งผลให้บริษัทชิปอย่าง Nvidia, AMD และ Intel เริ่มขยายฐานในอินเดียมากขึ้น และเมื่อช่วงปลายปี 2023 ซีอีโอของ Nvidia อย่าง Jensen Huang ก็ได้เดินทางมาเยือนอินเดียเพื่อหารือโอกาสความร่วมมือ ขณะที่ AMD ประกาศลงทุนกว่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สร้างศูนย์วิจัยและออกแบบชิป AI ที่ใหญ่ที่สุดใน Bengaluru

ในฝั่งของ OpenAI แม้จะยังไม่ได้ลงทุนโดยตรง แต่ Sam Altman ซีอีโอ ก็เดินทางเยือนอินเดียในปี 2023 พร้อมชี้ว่าอินเดียมีศักยภาพเป็นแหล่งพัฒนา AI ที่สำคัญในอนาคต ส่วน Microsoft ก็ยังได้ประกาศลงทุนกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2025 นี้ เพื่อเร่งขยายคลาวด์และศักยภาพ AI พร้อมตั้งเป้าอบรมทักษะ AI ให้คนอินเดียหลายแสนคน สร้างอีโคซิสเต็มทั้งผู้ใช้งานและแรงงาน AI ในประเทศ

และล่าสุดทาง OpenAI และ Meta ก็มีแผนใหม่ที่จะจับมือกับเจ้าใหญ่ของอินเดีย อย่าง Reliance Industries ซึ่งอยู่ในระหว่างการหารือเป็นพาร์ทเนอร์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์คุณภาพ และเป็นคู่ค้าในการกระจายสินค้าในอินเดีย โดยฝั่ง OpenAI เล็งที่จะขายโซลูชันด้าน AI ในขณะที่ด้าน Meta กำลังเจรจาอาจตั้งกองทุนและมีแผนพัฒนาธุรกิจ AI

จีน-สหรัฐฯ ตึงเครียด ดันอินเดียเป็นจุดยุทธศาสตร์ใหม่

ในภาพใหญ่ของโลกเทคโนโลยีวันนี้ ปัจจัยด้าน “ภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics)” กำลังมีอิทธิพลต่อการลงทุนของบิ๊กเทคพอ ๆ กับศักยภาพทางเศรษฐกิจ และอินเดียก็คือหนึ่งใน “หมากตัวสำคัญ” ที่กำลังจะรุกฆาตในกระดานนี้

ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ที่ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตั้งแต่สงครามการค้า มาตรการภาษี จนถึงข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี ได้ผลักดันให้บริษัทเทคโนโลยีอเมริกันเริ่มลดการพึ่งพาจีนทั้งในแง่ตลาดและห่วงโซ่อุปทาน

อินเดีย ซึ่งเป็นประเทศประชาธิปไตยขนาดใหญ่ มีท่าทีเป็นมิตรกับตะวันตก และมีความมั่นคงทางการเมืองมากขึ้น จึงกลายเป็น “ทางเลือกเชิงกลยุทธ์ที่จำเป็น” ในสายตาของบริษัทข้ามชาติ

รัฐบาลสหรัฐฯ ยังส่งสัญญาณหนุนความร่วมมือเชิงเทคโนโลยีกับอินเดียอย่างเปิดเผย เช่น โครงการ iCET (U.S.–India Initiative on Critical and Emerging Technologies) ที่เปิดตัวในปี 2023 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในด้าน AI, ชิป, อวกาศ และเทคโนโลยีควอนตัม

แรงส่งจากภาครัฐเช่นนี้ ยังทำให้บริษัทจากสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรป กล้าลงทุนในอินเดียมากขึ้น ขณะเดียวกัน รัฐบาลอินเดียก็ใช้โอกาสนี้สร้างระยะห่างจากจีน ด้วยการแบนแอปฯ จีนหลายสิบรายการ (เช่น TikTok ในปี 2020) และเพิ่มการตรวจสอบการลงทุนจากจีน

ผลลัพธ์คือ บริษัทเทคจีนที่เคยรุกตลาดอินเดียอย่างหนักเริ่มชะลอการลงทุนใหม่ ขณะที่ฝั่งตะวันตกและประเทศเอเชียอื่น ๆ ก็เข้ามาเติมช่องว่างอย่างรวดเร็ว เช่น Huawei ถูกกันไม่ให้ร่วมโครงการ 5G ทำให้ Nokia และ Ericsson ได้สัญญาใหญ่แทน หรือเมื่อ TikTok หายไป Meta (Instagram) และ Google (YouTube) ก็รีบคว้าโอกาสในตลาดวิดีโอสั้นทันที

ภูมิรัฐศาสตร์ยังมีผลโดยตรงต่อซัพพลายเชน เพราะทั้งประเทศและบริษัทต่างไม่ต้องการพึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป อินเดียจึงถูกวางตำแหน่งในกลยุทธ์ “China+1” ที่หลายประเทศและบริษัทนำมาใช้

ตัวอย่างคือ Foxconn จากไต้หวัน ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์หลักของ Apple ได้ลงทุนอย่างจริงจังในอินเดีย โดยประธานบริษัทออกมาชื่นชมศักยภาพของประเทศ พร้อมระบุว่า ธุรกิจในอินเดียมีมูลค่าทะลุหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐแล้วในปี 2024 และยังเติบโตต่อเนื่อง ขณะเดียวกันบริษัทไต้หวันอย่าง Pegatron และ Wistron ก็ขยับฐานผลิต iPhone มายังอินเดียมากขึ้น ส่วน Luxshare (ผู้ผลิต AirPods จากจีน) ก็กำลังพิจารณาตั้งไลน์ประกอบชิ้นส่วนในอินเดียเช่นกัน

อีกหนึ่งข้อได้เปรียบเชิงกลยุทธ์ของอินเดียคือการเป็น “พื้นที่ตรงกลาง” ที่เปิดให้บริษัทจากทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และเอเชียสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างเสรี แตกต่างจากจีนที่มีข้อจำกัดมากมาย สำหรับบริษัทอย่าง Google และ Meta ที่ถูกแบนในจีน ทำให้อินเดียแทบจะเป็นตลาดขนาดใหญ่แห่งเดียวที่ยังแข่งขันได้อย่างเสรี

ในขณะที่บริษัทจีน เช่น Xiaomi, Oppo, Vivo แม้จะชะลอการลงทุนใหม่ แต่ก็ยังรักษาฐานการผลิตและยอดขายในอินเดียไว้อย่างเหนียวแน่น เพราะอินเดียคิดเป็นสัดส่วนยอดขายทั่วโลกมากถึง 30-40% เลยทีเดียว ส่งผลให้บริษัทยักษ์ใหญ่จีนหันมาใช้ “กลยุทธ์เงียบ” เช่น จับมือกับพาร์ตเนอร์ท้องถิ่น ตั้งไลน์ผลิตในประเทศ และไม่เปิดเผยการลงทุนมากนัก เพื่อลดแรงต้านทางการเมือง

ดีลสำคัญบิ๊กเทค ปี 2024-2025

อินเดียได้กลายเป็นเป้าหมายใหม่ของเหล่าบริษัทเทคโนโลยีที่เข้าไปลงทุนต่อเนื่อง ทุ่มเงินทุนหลายพันล้านดอลลาร์ เพื่อเดินหน้าธุรกิจในตลาดที่กำลังเติบโต โดยในปี 2024 ที่ผ่านมาและในปี 2025 นี้ก็มีแผนที่บิ๊กเทคต่าง ๆ จะเข้ามาสนับสนุนเงินทุนในอินเดีย ดังนี้

  • Microsoft ประกาศเมื่อต้นปี 2025 ที่ผ่านมาว่า จะมีการลงทุนเพิ่ม 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในอินเดียภายใน 2 ปี เพื่อขยายศูนย์ข้อมูล Azure และโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI ซึ่งถือเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดของ Microsoft ในอินเดีย โดยส่วนหนึ่งของเงินลงทุนนี้จะถูกนำมาใช้ อบรมทักษะด้าน AI ให้แรงงานอินเดีย และสนับสนุนสตาร์ทอัพสาย AI สะท้อนว่า Microsoft มองอินเดียเป็นทั้งตลาดและฐานของคนเก่งสำหรับ AI ทั่วโลก

    เป้าหมาย: สร้างศูนย์ข้อมูล Azure รองรับดีมานด์คลาวด์ และตอบรับกับนโยบายด้านข้อมูลของอินเดีย พร้อมใช้คนอินเดียเป็นหัวใจของแผน AI ระดับโลก

  • Google เมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2024 ได้เข้าลงทุน 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซื้อหุ้นใน Flipkart ผู้นำ e-Commerce สัญชาติอินเดีย (ถือหุ้นใหญ่โดย Walmart) ซึ่งทำให้มูลค่าบริษัทแตะ 37,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยดีลนี้มาพร้อมความร่วมมือด้าน Google Cloud ที่จะช่วยปรับปรุงโครงสร้างระบบของ Flipkart รองรับการเติบโตในอนาคต

    เป้าหมาย: เจาะลึกระบบนิเวศด้าน e-Commerce และระบบจ่ายเงินในอินเดีย พร้อมฝังบริการของ Google เช่น Cloud, Android, Payments ไว้ในแพลตฟอร์มท้องถิ่น เพื่อต่อกรกับ Amazon โดยตรง และเป็นส่วนหนึ่งของกองทุนดิจิทัล 10,000 ล้านที่ Google ตั้งไว้เพื่อพัฒนาสตาร์ทอัพอินเดียโดยเฉพาะ

  • Amazon วางแผนลงทุนกว่า 12,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับ AWS ในอินเดียภายในปี 2030 (ต่อยอดจาก 3,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่ลงทุนไปก่อนหน้า) เพื่อสร้างศูนย์ข้อมูลใหม่ทั่วประเทศ นอกจากนี้ Amazon ยังทุ่มอีก 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายธุรกิจ e-Commerce ทั้งระบบโลจิสติกส์ ผู้ขายรายย่อย และบริการใหม่ ๆ อย่าง Amazon Fresh, Prime Video Originals ที่ออกแบบเฉพาะสำหรับตลาดอินเดีย

    เป้าหมาย: เสริม 2 เสาหลัก ให้ AWS รองรับลูกค้าองค์กร และ Amazon Marketplace ดึงผู้บริโภคอินเดียใหม่อีกหลายร้อยล้านคน พร้อมผลักดันผู้ค้าอินเดียส่งออกผ่านแพลตฟอร์มทั่วโลก

  • Apple ย้ายฐานผลิต iPhone มายังอินเดียในปี 2024 และแม้ไม่ได้ประกาศตัวเลขการลงทุนโดยตรง แต่ Apple ขยายการผลิตในอินเดียอย่างมีนัยสำคัญ ในช่วงปลายปี 2023 ที่ Apple เริ่มผลิต iPhone 15 ในอินเดียเพียงไม่กี่สัปดาห์หลังเปิดตัวทั่วโลก แสดงถึงการยกระดับอินเดียเป็นฐานผลิตอีกแห่ง นอกจากนี้ Apple ยังเปิด Apple Store สาขาแรกในอินเดีย เพื่อเสริมภาพลักษณ์แบรนด์

  • Foxconn ผู้ผลิตหลักของ Apple ก็ได้ลงทุนราว 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อตั้งโรงงานใหม่ในรัฐ Telangana และ Karnataka ขณะที่ Tata Group ได้ซื้อโรงงานจาก Wistron และจะกลายเป็นบริษัทอินเดียรายแรกที่ผลิต iPhone

    เป้าหมายของทั้ง Apple และ Foxconn: สร้างอินเดียเป็นฐานผลิตสำคัญลดพึ่งพาจีน และดันยอดขายในอินเดียให้เติบโต ด้วยราคาที่แข่งขันได้จากการประกอบในประเทศ และแบรนด์ที่ใกล้ชิดผู้บริโภคมากขึ้น

  • Micron Technology ผู้ผลิตชิปหน่วยความจำจากสหรัฐฯ ได้รับอนุมัติให้ตั้งโรงงานประกอบและทดสอบชิปเซมิคอนดักเตอร์ในอินเดีย โดย Micron ได้ลงทุนเองกว่า 825 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และส่วนที่เหลือมาจากทุนของรัฐบาลกลางและรัฐอินเดีย รวมมูลค่าโครงการรวมกว่า 2,750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดเริ่มผลิตได้ปลายปี 2024 และถือเป็นโรงงานผลิตชิปแห่งแรกในอินเดียอีกด้วย

    เป้าหมาย: กระจายฐานการผลิตออกจากจีน เข้าร่วมซัพพลายเชนชิปของอินเดีย พร้อมใช้สิทธิประโยชน์จากแผนลงทุนเซมิคอนดักเตอร์ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐของรัฐบาลอินเดีย

รวบรวมข้อมูลโดย Thairath Money

ที่มา: Reuters [1][2][3][4], Bloomberg, Financial Times, NDTV, TOI, Business Standard [1][2][3][4], LightReading

ติดตามเพจ Facebook: Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


เราใช้คุ้กกี้

เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น

อ่านเพิ่มเติมคลิก(Privacy Policy) และ (Cookie Policy)