ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา กับประเด็นแอปพลิเคชัน “Fineasy” และ “สินเชื่อความสุข” แอปฯ สินเชื่อที่ถูกติดตั้งโดยที่ผู้ใช้งานไม่ทราบที่มาที่ไป ซึ่งทาง Oppo และ Realme ได้ออกมาชี้แจงว่า แอปฯ ดังกล่าวเป็น Pre-Installed App ติดมาพร้อมกับเครื่อง เป็นแอปฯ บริการบุคคลที่สามของทางแบรนด์
แต่เกิดเป็นความกังวลตามมาคือ 2 แอปฯ นี้ไม่สามารถถอนการติดตั้งได้ และเกรงว่าจะไม่ปลอดภัยต่อเรื่องความเป็นส่วนตัว ดังนั้น Thairath Money จะพามาทำความรู้จักกับ Pre-Installed Apps ว่าคือแอปพลิเคชันประเภทไหน ทำงานอย่างไร และลบออกจากเครื่องได้ไหม?
Pre-Installed Apps คืออะไร?
“Pre-Installed Applications” หรือแอปพลิเคชันที่ติดตั้งมาล่วงหน้า หรือที่เรียกว่า “แอปฯ ที่มาพร้อมเครื่อง” คือ โปรแกรมซอฟต์แวร์ที่ถูกติดตั้งลงในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อย่างเช่น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ ตั้งแต่ขั้นตอนของการผลิตหรือก่อนที่ผู้ใช้จะได้รับอุปกรณ์นั้น ๆ โดยสามารถแยกออกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่
- แอปพลิเคชันระบบ (System Applications): เป็นแอปฯ ที่จำเป็นสำหรับการทำงานพื้นฐานของอุปกรณ์ เช่น แอปฯ โทรศัพท์ ข้อความ กล้องถ่ายรูป หรือแอปฯ ตั้งค่า
- แอปพลิเคชันจากผู้ผลิต (Manufacturer Applications): แอปฯ ที่ผู้ผลิตอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มฟังก์ชันหรือบริการเฉพาะ อย่างเช่น แอปฯ จัดการพลังงาน แอปฯ ฟิตเนส หรือแอปฯ โปรโมตสินค้าและบริการของบริษัท หากยกตัวอย่างใน iPhone เช่น News, Maps, Wallet เป็นต้น
- แอปพลิเคชันจากพันธมิตร (Partner Applications): แอปฯ ที่ติดตั้งโดยความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตอุปกรณ์กับบริษัทอื่น ๆ เช่น แอปฯ สตรีมมิง แอปฯ โซเชียลมีเดีย หรือแอปฯ ชอปปิงออนไลน์ อย่างในบางสมาร์ทโฟน จะมีการติดตั้ง Facebook หรือ Line มาให้ตั้งแต่ซื้อเครื่องมา
ทำไมต้องมี Pre-Installed Apps?
แอปพลิเคชันที่ติดตั้งล่วงหน้า อาจถูกใส่ลงในอุปกรณ์ด้วยเหตุผลต่าง ๆ อย่างเช่น
- เพื่อสร้างรายได้: ผู้ผลิตและผู้ให้บริการเครือข่ายจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มเติมจากแอปฯ ของตัวเอง ตลอดจนแอปฯ จากบุคคลที่สามที่ติดตั้งล่วงหน้าได้ โดยแอปฯ เหล่านี้อาจถูกติดตั้งพร้อมกับโฆษณา หรือเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่างผู้พัฒนาแอปฯ กับผู้ผลิตหรือผู้ให้บริการเครือข่าย
- เพิ่มประสบการณ์ให้ผู้ใช้: แอปพลิเคชันที่ติดตั้งล่วงหน้านั้นติดตั้งมาเพื่อปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานของผู้ใช้ โดยการมอบแอปฯ พื้นฐานที่จำเป็น อย่างเช่น แอปฯ โทรศัพท์และแอปฯ ส่งข้อความ
- เพื่อโปรโมตแอปฯ ของพาร์ทเนอร์: แอปพลิเคชันจากบุคคลที่สามที่ติดตั้งล่วงหน้าอาจถูกใส่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการโปรโมตหรือความร่วมมือระหว่างผู้พัฒนาแอปฯ ผู้ผลิต หรือผู้ให้บริการเครือข่าย
ข้อดี-ข้อเสีย Pre-Installed Apps
- เพิ่มความสะดวกกับผู้ใช้: สามารถใช้งานแอปฯ พื้นฐานได้ทันทีที่เปิดอุปกรณ์ โดยผู้ใช้ไม่ต้องดาวน์โหลด หรือติดตั้งเอง และยังประหยัดเวลาได้อีกด้วย
- ทำงานได้ดีกับระบบปฏิบัติการ: แอปฯ ที่มาพร้อมเครื่องมักถูกออกแบบให้ทำงานร่วมกับระบบปฏิบัติการและฮาร์ดแวร์ของอุปกรณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ช่วยเพิ่มการมองเห็นให้แอปฯ: การติดตั้งแอปฯ มาล่วงหน้า จะช่วยเพิ่มการมองเห็นของแอปฯ ให้กับผู้ใช้งาน ทำให้แอปเหล่านั้นเป็นที่สังเกตได้มากขึ้น และอาจส่งผลให้มีผู้ใช้งานมากขึ้น
- ใช้พื้นที่เก็บข้อมูล: แอปฯ ที่มาพร้อมเครื่องอาจใช้พื้นที่เก็บข้อมูลของอุปกรณ์ ทำให้พื้นที่ว่างสำหรับแอปฯ หรือข้อมูลอื่น ๆ ลดลง
- ไม่สามารถลบออกได้: ในบางกรณี ผู้ใช้อาจไม่สามารถลบหรือปิดการใช้งานแอปฯ ที่มาพร้อมเครื่องได้โดยตรง หากไม่ได้ทำการเจลเบรค (Jailbreak) ซึ่งก็คือกระบวนการดัดแปลงระบบปฏิบัติการเพื่อปลดล็อกข้อจำกัดต่าง ๆ
- ไม่ได้ตอบโจทย์กับทุกคน: บางแอปฯ ที่ทำการติดตั้งมาตั้งแต่ต้น อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์กับผู้ใช้งานทุกคน อาจทำให้เกิดเป็น Bloatware หรือแอปฯ ไม่พึงประสงค์ที่อาจจะขโมยข้อมูลส่วนตัวไป
ท้ายที่สุดแล้ว แอปพลิเคชันที่ติดตั้งล่วงหน้าอาจไม่ได้เป็นอันตรายโดยเนื้อแท้ แต่สามารถถูกมองว่าเป็น Bloatware ได้ หากแอปฯ เหล่านี้ใช้พื้นที่เก็บข้อมูลมากเกินไปและไม่สามารถลบออกได้ นอกจากนี้ แอปพลิเคชันที่ติดตั้งล่วงหน้าอาจถูกใช้เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลผู้ใช้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตและผู้ให้บริการเครือข่ายเริ่มตระหนักถึงผลกระทบด้านลบของ Bloatware และเริ่มลดจำนวนแอปพลิเคชันที่ติดตั้งล่วงหน้าบนอุปกรณ์ลงเรื่อย ๆ
นอกจากนี้ ยังมีคำถามออกมาอีกว่า สรุปแล้วควรจะใช้งานโทรศัพท์ระบบปฏิบัติการ Android หรือ iOS อันไหนจะปลอดภัยกว่ากัน คำตอบคือ ทั้ง 2 ระบบต่างก็มีจุดแข็งและจุดอ่อนในด้านความปลอดภัย โดย iOS โดดเด่นด้วยแนวทาง “Walled Garden” ที่เน้นการควบคุมระบบปิด และการอัปเดตความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ แต่ก็มีความเสี่ยงจากการจัดการจากเจ้าเดียวคือ Apple ที่อาจจะล้มเหลวได้ ในขณะที่ Android ด้วยความยืดหยุ่นและเป็นระบบเปิด กลายเป็นดาบสองคมที่เมื่อมีการปรับแต่งระบบ สามารถสร้างทั้งข้อได้เปรียบในด้านความปลอดภัยและความเสี่ยง ความปลอดภัยในระดับระบบทั้งหมดจึงขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้งานของผู้ใช้แต่ละคน