ดราม่าเดือด รัฐบาลอินโดฯ จัดหนัก Apple สั่งแบน iPhone 16 บีบให้เพิ่มทุน-ใช้ชิ้นส่วนในประเทศ

Tech & Innovation

Tech Companies

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ดราม่าเดือด รัฐบาลอินโดฯ จัดหนัก Apple สั่งแบน iPhone 16 บีบให้เพิ่มทุน-ใช้ชิ้นส่วนในประเทศ

Date Time: 10 ม.ค. 2568 15:46 น.

Video

จากสุราชุมชน สู่ Soft Power สร้างเศรษฐกิจท้องถิ่น สร้างรายได้ให้ประเทศ

Summary

  • เปิดเปิดข้อต่อรองสุดหินของรัฐบาลอินโดนีเซีย สาเหตุสำคัญทำไม Apple อาจสูญเสียรายได้และส่วนแบ่งการตลาดให้กับคู่แข่งและไม่สามารถวางขาย iPhone รุ่นต่อไปได้อีกในอินโดนีเซีย หลังรัฐบาลประกาศว่าจะไม่ยกเลิกคำสั่งแบน iPhone 16 พร้อมปฏิเสธข้อเสนอ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐของ Apple

Latest


หลังการหารือร่วมกันระหว่างรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมของอินโดนีเซียและตัวแทนของ Apple ในประเด็นการลงทุนและข้อขัดแย้งเรื่องการจัดหาวัตถุดิบในประเทศเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (8 ม.ค.) มีรายงานออกมาว่าทั้งสองฝ่ายไม่สามารถหาข้อยุติได้และทำให้ Apple อาจไม่สามารถจำหน่าย iPhone 16 ในอินโดนีเซียได้อีกต่อไป

ทำไม อินโดนีเซีย สั่งห้ามขาย iPhone 16

ก่อนหน้านี้ในเดือนตุลาคม ปี 2024 รัฐบาลอินโดนีเซียสั่งระงับการขาย iPhone 16 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ในการโน้มน้าวให้บริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ลงทุนมากขึ้นในตลาด สืบเนื่องจากการที่ Apple ไม่ปฏิบัติตามนโยบาย Tingkat Komponen Dalam Negeri (TKDN) ซึ่งมีเนื้อหากำหนดให้ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนต้องมีชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศอย่างน้อย 40% ของวัตถุดิบสำหรับสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตของตน นอกจากนี้ยังมีแบรนด์อื่นอย่าง Pixel ของ Google ที่ถูกห้ามเช่นกันเนื่องจากไม่ปฏิบัติตามกฎดังกล่าว

อนึ่ง Apple วางแผนที่จะสร้างโรงงาน AirTag บนเกาะบาตัมที่มีมูลค่าลงทุน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะเริ่มดำเนินการในช่วงต้นปี 2026 อ้างอิงตามการประกาศของ Rosan Roeslani รัฐมนตรีกระทรวงการลงทุนของอินโดนีเซียสำหรับแผนลงทุนระยะยาวในตอนแรก โดย Apple เสนอที่จะลงทุนเพียง 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐช่วงปีที่แล้ว จากนั้นจึงเพิ่มเป็น 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอไม่เพียงพอสำหรับอินโดนีเซีย ตัวเลขดังกล่าวค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับยอดขายในประเทศ โดย Agus Gumiwang Kartasasmita รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมของอินโดนีเซีย กล่าวในการแถลงการณ์ว่า ข้อตกลงดังกล่าวรวมถึงโรงงาน AirTag ถือเป็นเพียงการผลิตอุปกรณ์เสริมเท่านั้น ไม่สามารถนำมาเป็นข้อต่อรองเพื่อยกเลิกคำสั่งได้

โดยกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่าไม่ได้กำหนดกรอบเวลาสำหรับการปฏิบัติตามกฎระเบียบ แต่ได้กำหนดเป้าหมายสำหรับข้อตกลงที่ชัดเจน ซึ่งอาจพิจารณาไปถึงการคว่ำบาตร กรณีที่แอปเปิลไม่ปฏิบัติตามกฎข้อบังคับอย่างต่อเนื่อง พร้อมเสริมว่ารัฐบาลได้ส่งข้อเสนอตอบโต้ไปยัง Apple ไปแล้ว ขณะที่ตัวแทนของ Apple ในอินโดนีเซียปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็น

Apple อาจสูญเสียรายได้และส่วนแบ่งการตลาดให้กับคู่แข่ง

สัดส่วนการจัดส่งสมาร์ทโฟนตามข้อมูลของ Canalys ณ เดือนพฤศจิกายน 2024 รายงานว่าผู้ผลิตสมาร์ทโฟนจากจีน Oppo, Xiaomi และ Transsion ครอง 3 อันดับแรกในอินโดนีเซีย ขณะที่ Samsung จากเกาหลีใต้อยู่ในอันดับที่สี่ ด้วยส่วนแบ่ง 16% เท่ากับ Vivo ซึ่งเป็นอีกแบรนด์หนึ่งของจีน ขณะที่ Apple

ทั้งหมดล้วนแล้วแต่จัดตั้งโรงงานในอินโดนีเซียเพื่อให้เป็นไปตามกฎระเบียบเนื้อหาในประเทศที่นำมาใช้ในปี 2017 รวมถึงข้อกำหนดด้านอื่น ๆ ที่ส่งเสริมการผลิตในท้องถิ่น เช่น การจัดหาวัสดุ การจ้างงาน การพัฒนาแอป และการลงทุนสถาบันพัฒนาภายในประเทศ

โดยล่าสุด Honor บริษัทลูกของ Huawei ได้ประกาศเมื่อต้นปีว่ามีแผนจะเปิดตัวสมาร์ทโฟนภายในสิ้นเดือนมีนาคม ซึ่งจะกลายเป็นบริษัทจีนรายล่าสุดที่กำลังเข้าสู่ตลาดอินโดนีเซีย โดย Honor ชี้แจงถึงการมีสำนักงานในอินโดนีเซียและกำลังทำงานร่วมกับพันธมิตรด้านการผลิตในท้องถิ่นโดยมีเป้าหมายที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ประมาณ 30 รายการตั้งแต่โทรศัพท์ไปจนถึงแท็บเล็ตในอินโดนีเซียภายในสิ้นปีนี้

สำหรับ Apple การลงทุนครั้งนี้ถือเป็นทั้งความท้าทายและโอกาสในการขยายฐานการผลิตในเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง โดยปัจจุบัน Apple มีเพียงสถาบันพัฒนาซอฟต์แวร์ 4 แห่งในประเทศเพื่อฝึกอบรมนักเรียนและวิศวกรเพื่อพัฒนาแอป แต่ไม่มีโรงงานผลิตในอินโดนีเซียแต่อย่างใด

ข้อต่อรองสุดหินของรัฐบาลอินโดนีเซีย

แนวทางการกำกับดูแลของอินโดนีเซียเป็นตัวอย่างว่าตลาดเกิดใหม่กำลังมองหาวิธีใช้ประโยชน์จากนโยบายเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศอย่างไรสำหรับบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก ข้อเรียกร้องที่ดูเหมือนรัฐบาลกำลังใช้ประโยชน์จากตลาดที่มีประชากร 280 ล้านคน เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ สะท้อนความพยายามของกระทรวงอุตสาหกรรมที่เน้นย้ำถึงศักยภาพของอินโดนีเซียในฐานะประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 4 ของโลก

อินโดนีเซียใช้กฎระเบียบการค้ามาอย่างยาวนานเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาผลิตในประเทศและเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศของตน แม้ว่ากฎเกณฑ์ดังกล่าวจะเพิ่มอุปสรรคและลดความน่าสนใจนักลงทุนที่อาจมองทางเลือกประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน เช่น เวียดนาม มาเลเซีย หรือไทย ที่มีนโยบายที่เอื้อต่อการลงทุนมากกว่า

ธุรกิจบางแห่งมองว่าเป็นการคุ้มครองทางการค้าและข้อกำหนดเนื้อหาในท้องถิ่นมีความแตกต่างกันไปในแต่ละอุตสาหกรรม ซึ่งนับเป็นความท้าทายสำหรับบริษัทต่างชาติที่จะปฏิบัติตามเกณฑ์เนื้อหาในท้องถิ่น เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศไม่สามารถหาซื้อได้ในบางภาคส่วน เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

Chiew Le Xuan นักวิเคราะห์ของ Canalys กล่าวว่า แม้ว่าตลาด 80% จะถูกครอบงำโดยกลุ่มสมาร์ทโฟนที่มีราคาต่ำกว่า 200 ดอลลาร์สหรัฐหรือต่ำกว่า 6,900 บาท แต่ อินโดนีเซีย เป็นประเทศที่มีการขยายตัวของชนชั้นกลางอย่างรวดเร็วและมีเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดและเติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาค อินโดนีเซียจึงมีศักยภาพมหาศาลสำหรับการเติบโตในระยะยาว

โดยปัจจุบันอินโดนีเซียคิดเป็น 35% ของการจัดส่งสมาร์ทโฟนในภูมิภาค เหตุผลดังกล่าวทำให้ อินโดนีเซีย เป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางเชิงกลยุทธ์ของแบรนด์ระดับโลก

อ้างอิงข้อมูลจาก Bloomberg , CNBC , Canalys 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ -   


 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ