Grab เผยส่งอาหารได้เงินสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ 3 เท่า เร่งทำฟีเจอร์  “เพิ่มเวลาทำมาหากิน" ให้ไรเดอร์

Tech & Innovation

Tech Companies

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

Grab เผยส่งอาหารได้เงินสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ 3 เท่า เร่งทำฟีเจอร์ “เพิ่มเวลาทำมาหากิน" ให้ไรเดอร์

Date Time: 24 ก.ย. 2567 18:05 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Summary

  • Grab ประเทศไทย เปิดตัวแผนใช้เทคโนโลยีเพื่อประโยชน์คนในอีโคซิสเต็ม เผยท่องเที่ยวฟื้น คนต้องการความสะดวกสบาย ดันยอดใช้บริการโตแกร่ง คนไทยสั่งอาหารออเดอร์สูงสุด 8,600 บาท แจงระบบจัดสรรไรเดอร์รับออเดอร์พ่วงไม่เกิน 2 งาน พร้อมชี้แจงประเด็นบริษัทการตลาดแห่งหนึ่งรายงานข้อมูลปริมาณการทำธุรกรรมที่สะท้อนส่วนแบ่งการตลาดที่ลดลง ยืนยันไม่เคยให้ข้อมูลกับคนนอก พร้อมติดต่อไปยังบริษัทและอยู่ระหว่างกระบวนการพูดคุย

นายวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย เปิดเผยว่า Grab สร้างรายได้ให้กับคนขับ ไรเดอร์ ร้านค้า ร้านอาหารทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปกว่า 11 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 3.6 แสนล้านบาท โดยมีลูกค้าที่มีการทำธุรกรรมบนแพลตฟอร์มรวมทั้งภูมิภาคอยู่ที่ 41 ล้านคนต่อเดือน (Monthly Transaction Users) ณ สิ้นสุดไตรมาสสองปี 2567 

ปัจจุบัน Grab เป็นผู้นำซูเปอร์แอปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งให้บริการทั้งด้านเดลิเวอรี บริการการเดินทางและบริการทางการเงินดิจิทัล ครอบคลุมกว่า 700 เมืองใน 8 ประเทศ อันได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม โดย “ประเทศไทย” นับเป็นประเทศที่สร้างรายได้ให้กลุ่มอย่างแข็งแกร่ง

“ปริมาณการใช้งานเติบโตขึ้นตามพฤติกรรมผู้บริโภค กอปรกับการใช้เทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาระบบแพลตฟอร์มและประสบการณ์การใช้งาน ทำให้ผลลัพธ์ของธุรกิจมีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น โดยภาพรวมธุรกิจในปีนี้โตแกร่งในทุกกลุ่มธุรกิจ นำโดยบริการจัดส่งอาหาร บริการการเดินทาง บริการจัดส่งสินค้า บริการทางการเงิน รวมถึง GrabAds หรือธุรกิจโฆษณาที่มีการเติบโตขึ้นอย่างโดดเด่น”

เมื่อถามว่าอะไรคือปัจจัยที่ทำให้ Grab ในฐานะธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์มที่มีอัตราการทำรายได้และกำไรที่เติบโตต่อเนื่อง ซึ่งสวนทางกับสภาพเศรษฐกิจในตอนนี้ อีกทั้งยังมีตัวเลขหนี้เสีย NPL จากบริการทางการเงินที่ต่ำกว่าตลาดและยังมีแนวโน้มที่ลดลงในปีนี้ โดย NPL ของ Grab อยู่ที่ 2.35% ขณะที่ภาพรวม NPL จากการแถลงสรุปภาพรวมธนาคารพาณิชย์ประจำไตรมาส 1 ปี 2567 ของธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 2.7 - 2.8%

นายวรฉัตร ระบุว่า แพลตฟอร์มดิจิทัลกลายเป็นช่องทางเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการรายย่อยทั้งร้านอาหารและไรเดอร์ โดยมีปัจจัยหลัก ๆ คือ การสร้าง “Digital Inclusion” ของบริการบนแพลตฟอร์ม ทำให้คนที่อยู่ในอีโคซิสเต็มมีโอกาสมากกว่าคนที่ไม่อยู่ ไรเดอร์ส่งอาหารมีรายได้สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำสองถึงสามเท่า ขณะที่ไรเดอร์ขับรถมีรายได้สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำเจ็ดถึงแปดเท่า นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนทั้งด้านสวัสดิการและด้านการเงินที่ตรงจุด

“ร้านค้าที่อยู่บนแพลตฟอร์ม เจ้าของรู้ว่าจะรู้ว่าควรขายอะไร ขายตอนไหน สร้างรายได้ในรัศมีที่ไกลยิ่งขึ้น มีโอกาสในการขายและทำตลาดได้มากกว่าร้านค้า-ร้านอาหารแบบดั้งเดิม อีกทั้งการเก็บสะสมข้อมูลการทำธุรกรรมและพฤติกรรมลูกค้า ทำให้ร้านค้า-ร้านอาหารเตรียมสินค้าและให้บริการที่ตรงจุดมากยิ่งขึ้น ขณะที่ฝั่งผู้บริโภคเองมีรูปแบบการใช้บริการที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น กลุ่มคนที่มีกำลังซื้อยังมียอดการใช้งานในระดับที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งการฟื้นคืนของนักท่องเที่ยวได้กระตุ้นการใช้บริการให้เพิ่มสูงขึ้น”

Grab ยันยังเป็นที่หนึ่งของการให้บริการ

สำหรับประเด็นที่ Redseer Strategy Consultants บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์จากประเทศอินเดีย เปิดเผยข้อมูลปริมาณคำสั่งซื้อที่สะท้อนส่วนแบ่งการตลาดในครึ่งแรกของปี 2567 ที่ได้ระบุการไต่อันดับของ LINE MAN ที่แซงหน้า Grab

โดยหลังจากนั้น Grab ประเทศไทยได้ออกแถลงการณ์ยืนยันโต้กลับว่า บริษัทฯ ไม่เคยเปิดเผยจำนวนธุรกรรมหรือยอดการใช้บริการ (Number of Transaction) ของธุรกิจ Food Delivery ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 ให้แก่บุคคลภายนอก โดยรายละเอียดจำนวนธุรกรรมที่ปรากฏในรายงาน และถูกแปลงเป็นสัดส่วนการตลาดของ Grab ได้ระบุที่มาของข้อมูลว่าเป็น “Desk Research” จึงไม่ใช่ข้อมูลที่ได้รับจากบริษัทฯ ทั้งนี้ บริษัทฯ ขอยืนยันที่จะไม่รับรองความถูกต้องของข้อมูลที่ระบุ

จากกรณีที่เกิดขึ้นฝ่ายกฎหมายของบริษัทฯ ได้ทำการติดต่อ Redseer Strategy Consultants เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริงถึงแหล่งที่มาของข้อมูล รวมถึงระเบียบวิธีการทำวิจัย และอาจพิจารณาดำเนินการใดๆ ในลำดับต่อไปตามที่บริษัทฯ เห็นสมควรเพื่อปกป้องข้อมูลขององค์กร

โดย นายวรฉัตร ระบุว่า จำนวนธุรกรรมจากรายงานดังกล่าวเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุที่มาได้ และไม่สามารถนำไประบุถึงสัดส่วนตลาดที่แท้จริง เนื่องจาก Grab เป็นบริษัทฯ ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการบันทึกรายได้ที่มีรูปแบบการวิเคราะห์และองค์ประกอบตามมาตรฐานของสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจมีการตีความสิ่งที่เป็นรายได้ต่างกัน รวมถึงมีรูปแบบการวิเคราะห์ที่แตกต่างกันกับที่มาของข้อมูลจากรายงานชิ้นดังกล่าว 

ฟีเจอร์ “เข้าใจผู้ใช้ เอาใจไรเดอร์ ส่งเสริมร้านค้า” มีอะไรบ้าง

ทั้งนี้ Grab ได้ประกาศความมุ่งมั่นด้านการพัฒนาเทคโนโลยีในฐานะเทคคอมปะนีที่มีเลิร์นนิ่งมหาศาลจากการพัฒนาการให้บริการมาอย่างต่อเนื่อง เสริมแกร่งและสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับคนในอีโคซิสเต็ม ตั้งแต่ ผู้ใช้ คนขับ ไรเดอร์ ผู้ประกอบการร้านค้าร้านอาหาร พนักงาน และสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเน้นเป้าหมายหลัก คือ การเสริมประสิทธิภาพการทำงาน (Efficiency) การเพิ่มศักยภาพและผลิตผล (Productivity) การยกระดับประสบการณ์การใช้งาน (Experience) และการสร้างผลกระทบเชิงบวกทางสังคม (Impact)

โดยการเปิดเผย Core Tech ในครั้งนี้ มีแกนหลัก 3 อย่าง คือ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) อุปกรณ์ที่เชื่อมโยงด้วยอินเทอร์เน็ต (IoT) และโซลูชันนวัตกรรมบนแอปพลิเคชัน (In-app Solutions) โดยมีฟีเจอร์สำคัญ ๆ ที่ช่วยให้ผู้ใช้ ไรเดอร์ และร้านค้า ได้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น

เทคโนโลยีที่เสริมประสิทธิภาพเอาใจ “คนขับและไรเดอร์”

เป้าหมายสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับคนขับ คือ การอำนวยความสะดวกและช่วยให้คนกลุ่มนี้สามารถให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ซึ่งถือเป็นการเพิ่มโอกาสในการหารายได้ให้กับพวกเขา อาทิ

ระบบจัดสรรคำสั่งซื้อแบบทันเวลาพอดี (Just-in-Time Allocation) ที่ใช้ Machine Learning (ML) และ Predictive Analytics มาประเมินเวลาการเตรียมอาหารของร้านค้าก่อนจะส่งงานให้คนขับ เพื่อลดระยะเวลาการรอรับอาหารให้สั้นที่สุด นอกจากนี้ที่ร้านค้าจะติดตั้งอุปกรณ์ IoT ที่สามารถติดตามและวิเคราะห์ระยะเวลาในการทำอาหาร

ระบบนี้จะช่วยให้ไรเดอร์ไม่ต้องเสียเวลามารอรับอาหารแบบเดิม ไรเดอร์จะคำนวณเวลาในการมารับอาหารได้แม่นยำมากยิ่งขึ้นสามารถจัดการรอบการจัดส่งได้ดียิ่งขึ้นในช่วงเวลาไพร์มไทม์ ขณะเดียวกันยังช่วยลดความกังวลของร้านค้าในการจัดส่งและมั่นใจได้ว่าจะส่งมอบอาหารที่ยังร้อนๆ สู่มือลูกค้า โดยผลลัพธ์หลังจากเริ่มต้นใช้ระบบนี้ตั้งแต่ไตรมาสสองของปี 2566 พบว่า Fulfillment Rate ดีขึ้น ช่วยลดระยะเวลาในการรออาหารได้ถึง 50%

ระบบแผนที่ทั่วไป (Hyperlocal Mapping Technology) ที่พัฒนาขึ้นเองโดย GrabMap ช่วยแนะนำเส้นทางที่แม่นยำขึ้น มีระบบที่ช่วยแจ้งอุบัติเหตุหรือปัญหาบนท้องถนนแบบเรียลไทม์ รวมถึง แผนที่ในอาคาร (Indoor Map) ที่ช่วยบอกตำแหน่งของร้านอาหารภายในห้างหรืออาคาร ช่วยลดระยะเวลาในการค้นหาได้ถึง 20%

เทคโนโลยีที่เข้าใจ “ผู้ใช้บริการ”

จากการศึกษาเก็บข้อมูล ศึกษาพฤติกรรมและบริบทของการใช้งานมาอย่างต่อเนื่อง เป้าหมายสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยี คือ การอำนวยความสะดวกและแก้ปัญหา (pain point) ในชีวิตประจำวันที่ตรงกับไลฟ์สไตล์ในปัจจุบัน อาทิ คำสั่งซื้อกลุ่ม (Group Order) ซึ่งตัวเลขล่าสุดพบว่าผู้ใช้ในไทยกว่า 93% ใช้งานฟีเจอร์นี้ โดยเฉพาะช่วงมื้อเที่ยงและมื้อเย็น โดยตอนนี้ระบบยังเปิดให้เลือกสั่งได้ตามรายบุคคล อีกทั้งยังเพิ่มการแยกจ่าย ไม่ต้องหารเท่า

โดยในปีนี้แกร็บยังได้เผย 2 นวัตกรรมที่เพิ่งเปิดตัวล่าสุด คือ ฟีเจอร์บัญชีครอบครัว (Family Account) ที่พัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์การใช้บริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันให้กับสมาชิกในครอบครัว โดยผู้ใช้บริการสามารถเรียกรถ ตรวจสอบตำแหน่งการเดินทาง สื่อสารผ่านแชตกับคนขับ และชำระค่าบริการให้กับสมาชิกในครอบครัวได้อย่างสะดวกสบาย และ ฟู้ดล็อกเกอร์ (Food Lockers) ที่ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาให้กับพนักงานออฟฟิศที่ชอบสั่งอาหารผ่านแอปฯ แต่บางครั้งอาจติดประชุมหรือไม่สามารถลงมารับอาหารได้ทันที ซึ่งช่วยสร้างความสะดวกให้ทั้งผู้สั่งอาหารและไรเดอร์ โดยปัจจุบันมีการติดตั้งอยู่ด้วยกัน 4 แห่ง คือ The ParQ, FYI Center, The 9th Towers และ centralwOrld Offices

เทคโนโลยีที่เสริมโอกาสทางธุรกิจให้กับ “ผู้ประกอบการร้านค้า-ร้านอาหาร”

การช่วยให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กสามารถเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและเข้าถึงลูกค้าใหม่ ๆ ถือเป็นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีให้กับคนกลุ่มนี้ โดยล่าสุดได้นำเทคโนโลยี AI Generated Image มาช่วยให้สร้างหรือออกแบบภาพอาหารที่ใกล้เคียงของจริงที่สุด เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการลดเวลาในการจัดระบบเมนู ซึ่งจะช่วยดึงดูดความสนใจของลูกค้าและเพื่อเพิ่มโอกาสในการขายให้กับร้าน

ขณะเดียวกันในขาของ บริการทางการเงิน (GrabFinance) ผลิตภัณฑ์สินเชื่อเงินสดเพื่อพาร์ทเนอร์ร้านค้าถูกออกแบบมาเพื่อเป็นตัวช่วยในการประกอบอาชีพและส่งเสริมการดำเนินธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย รวมถึงเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง

โดยในส่วนของการออกสินเชื่อดิจิทัล มีการนำเทคโนโลยี Machine Learning มาใช้ประเมินศักยภาพและอนุมัติวงเงินที่เหมาะสมให้พาร์ทเนอร์ร้านค้าโดยพิจารณาจากข้อมูลการทำธุรกรรมบนแพลตฟอร์ม ทั้งนี้มีการกำหนดวงเงินสินเชื่อเพื่อให้สอดคล้องไปกับขนาดและรูปแบบของธุรกิจที่ต่างกันไป ประกอบไปด้วย

  • สินเชื่อเงินสดทันใจ: เจาะกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย (ดำเนินธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดา) ซึ่งเป็นเจ้าของร้านค้า ร้านอาหารขนาดเล็กหรือสตรีทฟู้ด โดยให้วงเงินสูงสุด 1 แสนบาท อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2.75% ต่อเดือน และมีระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุด 9 เดือน
  • สินเชื่อเงินสดทันใจ พลัส: เจาะกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย (ดำเนินธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดา) ซึ่งเป็นเจ้าของร้านค้า ร้านอาหารที่มีขนาดใหญ่ขึ้นหรือมีหลายสาขา โดยให้วงเงินสูงสุด 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2.08% ต่อเดือน และมีระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุด 12 เดือน
  • สินเชื่อเงินสดทันใจ เอ็กซ์ตร้า: เจาะกลุ่มเจ้าของธุรกิจ SME หรือแฟรนไชส์ ดำเนินธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคล โดยให้วงเงินสูงสุด 10 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 1% ต่อเดือน และมีระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุด 12 เดือน

โดยที่ผ่านมายอดการขอสินเชื่อเงินสดทันใจเพื่อพาร์ทเนอร์ร้านค้าของ Grab มีอัตราการเติบโตสูงขึ้น มากกว่า 12% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

นอกจากนี้ยังมี เทคโนโลยีที่ช่วยแก้ปัญหาและพัฒนา “สังคมและสิ่งแวดล้อม” ที่มุ่งให้ความสำคัญกับประเด็นด้านความปลอดภัย ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาแอปพลิเคชัน มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยสร้างความอุ่นใจให้กับทั้งผู้ใช้บริการและคนขับอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมตั้งแต่ก่อน ระหว่างและหลังจบการเดินทาง อาทิ ระบบยืนยันตัวตนของคนขับด้วยการสแกนใบหน้า (Biometric Authentication) ระบบตรวจสอบการเดินทางแบบเรียลไทม์ (Real-time Trip Monitoring) หรือระบบบันทึกเสียงระหว่างการเดินทาง (AudioProtect) ที่ช่วยป้องกันเหตุร้ายและใช้เป็นหลักฐานหากเกิดความขัดแย้งระหว่างผู้โดยสารและคนขับ

ในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมีการพัฒนาฟีเจอร์ไม่รับช้อนส้อมพลาสติก (Plastic Cutlery Opt-Out) และฟีเจอร์ชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) ที่ผู้ใช้บริการสามารถร่วมบริจาคเพื่อนำเงินไปซื้อคาร์บอนเครดิตและปลูกต้นไม้ เป็นต้น ซึ่งได้รับความสนใจและการมีส่วนร่วมอย่างดีจากผู้ใช้บริการ

ในด้านของเทคโนโลยีที่ช่วยเสริมศักยภาพของ “พนักงาน” Grab ได้ส่งเสริมและผลักดันให้พนักงานทั่วทั้งภูมิภาคก้าวทันเทคโนโลยีอย่างเต็มรูปแบบ ผ่านโปรแกรมพัฒนาและฝึกอบรมการใช้เทคโนโลยีที่มีความเข้มข้น โดยเฉพาะ Generative AI พร้อมพัฒนาเครื่องมือที่ออกแบบโดยทีมเทคภายในองค์กร เช่น โปรแกรม GrabGPT เครื่องมือที่นำเทคโนโลยี Large Language Models (LLMs) เข้ามาช่วยในการผลิตเนื้อหาและภาพประกอบ และโปรแกรม Mystique เครื่องมือที่ช่วยในการเขียนคำโฆษณา ซึ่งช่วยย่นเวลาการทำงานของฝ่ายการตลาดและครีเอทีฟของบริษัท

“Grab ยังคงตอกย้ำการเป็นบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับภูมิภาคที่มุ่งสู่การเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI-led Organization) เราไม่ได้มุ่งเน้นการใช้หรือพัฒนาเทคโนโลยีที่ต้องล้ำสมัยที่สุด แต่เราให้ความสำคัญกับเป้าหมายของคนในอีโคซิสเต็มและอรรถประโยชน์ของเทคโนโลยี คือ ต้องตอบโจทย์และแก้ปัญหาของคนในอีโคซิสเต็มได้จริงๆ สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม" 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ -   


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ