ยุคตื่นทอง AI ธุรกิจแข่งลงทุน เพราะกลัวเป็นผู้ตามในตลาด แม้จะยังไม่มีกลยุทธ์ชัดเจน

Tech & Innovation

Digital Transformation

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ยุคตื่นทอง AI ธุรกิจแข่งลงทุน เพราะกลัวเป็นผู้ตามในตลาด แม้จะยังไม่มีกลยุทธ์ชัดเจน

Date Time: 27 ต.ค. 2567 08:00 น.

Video

“The Summer Coffee Company” มากกว่า เครื่องดื่ม คือ ความสุข | Brand Story Exclusive EP.3

Summary

  • ผลการศึกษา IDC Data and AI Pulse: Asia Pacific 2024 โดย SAS เผย องค์กรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเร่งลงทุนด้าน AI วางแผนเพิ่มการลงทุนอย่างก้าวกระโดด แม้องค์กรต่าง ๆ จะทุ่มงบลงทุนด้าน AI อย่างมาก แต่ในภูมิภาคนี้มีธุรกิจเพียง 18% ที่มองว่าตนเองเป็นผู้นำด้าน AI ในขณะที่ผู้ตามด้าน AI ยังคงต้องทดลองทำโครงการต่าง ๆ โดยไม่มีกลยุทธ์ AI ที่ชัดเจน

ผลการศึกษา IDC Data and AI Pulse: Asia Pacific 2024 โดย SAS เผย องค์กรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต่างเร่งลงทุนด้าน AI จากการสำรวจพบว่า 43% ขององค์กร วางแผนเพิ่มการลงทุนด้าน AI อย่างก้าวกระโดดกว่า 20% ในอีก 12 เดือนข้างหน้า แม้องค์กรต่าง ๆ จะทุ่มงบลงทุนด้าน AI อย่างมาก แต่ในภูมิภาคนี้มีธุรกิจเพียง 18% ที่มองว่าตนเองเป็นผู้นำด้าน AI ในขณะที่ผู้ตามด้าน AI ยังคงต้องทดลองทำโครงการต่าง ๆ โดยไม่มีกลยุทธ์ AI ที่ชัดเจน

ภาพการทุ่มเงินลงทุนใน AI ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีแผนที่แน่ชัด สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจนระหว่างผู้นำด้าน AI ที่ต้องการขับเคลื่อนเพื่อการเปลี่ยนแปลงระยะยาว ในขณะที่องค์กรที่เป็นผู้ตามยังคงต้องลองผิดลองถูก

ผลสำรวจ พบว่า ผู้นำด้าน AI มองว่า การริเริ่มใช้ AI จะช่วยสนับสนุนการทำธุรกิจในหลายด้าน โดยจะมองไปที่ผลระยะยาว ได้แก่

  • ช่วยผลักดันรายได้ให้เติบโต (32%) 
  • ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน (31%) 
  • ช่วยเพิ่มผลกำไร (26%) 

ในขณะที่ผู้ตามด้าน AI มุ่งเน้นการนำ AI มาใช้งานในด้านการบริการและการดำเนินงานเฉพาะจุดของธุรกิจ หรือมุ่งไปที่ประโยชน์ระยะสั้น ได้แก่

  • ช่วยปรับปรุงการบริการลูกค้า (27%) 
  • ช่วยขยายส่วนแบ่งตลาด (25%) 
  • ช่วยเร่งระยะเวลาในการนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด (25%)

Shukri Dabaghi รองประธานอาวุโสประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและตลาดเกิดใหม่ในยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกาของ SAS กล่าวว่า “ความแตกต่างของเป้าหมายระหว่างผู้นำกับผู้ตามด้าน AI นั้นสะท้อนให้เห็นถึงการขาดกลยุทธ์และแผนงานที่ชัดเจน ในขณะที่ผู้ตามด้าน AI มุ่งเน้นผลลัพธ์ระยะสั้นด้านผลิตภาพ แต่ผู้นำด้าน AI ได้ก้าวไปไกลกว่านั้น สู่การประยุกต์ใช้งานที่ซับซ้อนมากขึ้นทั้งในแง่การทำงานและอุตสาหกรรม”

ขณะที่ธุรกิจพยายามใช้ประโยชน์จาก AI ผู้นำองค์กรจำเป็นต้องเรียนรู้ความแตกต่างระหว่างการเป็นผู้นำและผู้ตามด้าน AI โดยจะต้องหลีกเลี่ยงแนวคิดแบบ “ตื่นทอง” เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวนั้นจะตั้งอยู่บนพื้นฐานของ AI ที่น่าเชื่อถือ


ธุรกิจเร่งลงทุน GenAI เพิ่ม

แม้กระแส AI ส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่ Generative AI แต่ผลการศึกษาของ SAS พบว่า องค์กรต่าง ๆ ได้ลงทุนในเทคโนโลยี AI ด้านการคาดการณ์และตีความมาโดยตลอด โดยในปี 2023 การลงทุนใน Generative AI มีสัดส่วนเพียง 19% ของทั้งหมด แต่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 34% ในปีนี้ สะท้อนให้เห็นการกระจายตัวที่สมดุลมากขึ้นในการลงทุนด้าน AI ประเภทต่าง ๆ 

รายงานวิเคราะห์งบการใช้จ่ายล่าสุดของ IDC ชี้ว่า การลงทุนด้าน AI ในเอเชียแปซิฟิกจะแตะระดับ 45,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2024 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 110,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2028 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 24% ต่อปี

นอกจากนี้ งานวิจัย ยังเผยอีกว่า องค์กรต่าง ๆ กำลังจัดสรรงบประมาณใหม่ เพื่อเพิ่มการลงทุนใน GenAI ในปี 2024 นี้ โดย 1 ใน 3 ขององค์กร ระบุว่า จะนำเงินที่ได้จากการลดงบด้านโครงสร้างพื้นฐาน ในขณะที่ 37% จะนำเงินมาจากการลดงบประมาณพัฒนาแอปพลิเคชัน

ธุรกิจหวังผลตอบแทนจากการลงทุน AI สูงขึ้น

จากการศึกษาในครั้งนี้ ชี้ให้เห็น “ภาวะตื่นทอง” ที่ขับเคลื่อนด้วยความคาดหวังในผลตอบแทนจากการลงทุนใน AI ที่สูงเกินจริง โดย 40% ขององค์กรคาดหวังผลตอบแทนอย่างน้อย 3 เท่าจากการลงทุน และยัง “กลัวที่จะพลาดโอกาส” ในการลงทุนด้าน AI อย่างต่อเนื่อง ซึ่งบางครั้งองค์กรนำ AI มาใช้แม้จะไม่มีความสอดคล้องระหว่างการลงทุนกับผลลัพธ์และคุณค่าทางธุรกิจ

องค์กร 43% วางแผนที่จะเพิ่มการลงทุนด้าน AI กว่า 20% ในอีก 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งองค์กรจะต้องรับกับความเสี่ยงที่จะผิดหวังกับ AI อันเป็นผลจากผลตอบแทนของการลงทุน โดยผู้นำธุรกิจควรตระหนักว่า การสร้างขีดความสามารถด้าน AI เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและต้องการรากฐานด้าน AI ที่แข็งแกร่งเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในระยะยาว

Dabaghi กล่าวว่า “แม้การที่ผู้บริโภคเข้าถึงเครื่องมือ Generative AI ได้นั้นทำให้ AI ดูวิเศษราวกับเวทมนตร์ แต่การนำสิ่งนี้มารวมเข้ากับสภาพแวดล้อมขององค์กรต้องใช้ความพยายามอย่างมาก ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม และบ่อยครั้งเครื่องมือเหล่านี้ก็ถูกคาดหวังเอาไว้สูงเกินจริง” 

อย่างไรก็ตาม องค์กรยังต้องทำความเข้าใจจุดบกพร่องที่มีในธุรกิจ เพราะเมื่อนำเอา AI มาใช้งานจะได้ช่วยเพิ่มอัตราความสำเร็จ และบรรลุวัตถุประสงค์ทางธุรกิจได้


ผลวิเคราะห์ AI ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ

จากการสำรวจในครั้งนี้ ยังได้มีการวิเคราะห์ถึงการนำ AI มาใช้งาน และส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอย่างไรบ้าง โดยมุ่งเน้นที่ภาคการธนาคาร ประกันภัย สาธารณสุข และภาครัฐ

โดยช่องว่างด้านทักษะยังคงเป็นปัญหาที่พบเห็นได้ทั่วไปในทุกอุตสาหกรรมเมื่อพูดถึงการนำ AI มาใช้และปฏิบัติให้ประสบความสำเร็จ โดยช่องว่างด้านทักษะนี้พบได้มากที่สุดในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ดังนี้

  • สาธารณสุข (41%) 
  • ภาครัฐ (38%) 
  • ประกันภัย (32%) 
  • การธนาคาร (29%) 

อย่างไรก็ตาม แม้จะเผชิญความท้าทาย แต่อุตสาหกรรมเหล่านี้ยังคงลงทุนในการพัฒนาขีดความสามารถด้านข้อมูลและ AI เพื่อให้ตัดสินใจได้คล่องตัวขึ้น เพิ่มระดับการทำงานอัตโนมัติ เร่งเวลาในการนำผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ ออกสู่ตลาด ลดต้นทุน และประโยชน์อื่น ๆ อีกมากมาย

นอกจากนี้ ยังมีผู้นำ AI ไปใช้จนประสบความสำเร็จอย่างสม่ำเสมอ ยกตัวอย่างเช่น ในภาคการธนาคารมีการนำไปใช้หลัก ๆ ใน 3 ด้านด้วยกัน ได้แก่ การบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง การบริหารสินทรัพย์และหนี้สิน และการวิเคราะห์อาชญากรรมทางการเงิน ส่วนในด้านประกันภัยนั้นพบการใช้ AI ในการตรวจจับการฉ้อโกงการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน การนำเสนอผลิตภัณฑ์แบบหลายช่องทาง และการกำหนดราคาอัจฉริยะ สำหรับในแวดวงสาธารณสุขพบการใช้งานอย่างโดดเด่นในการป้องกันการฉ้อโกงด้านสาธารณสุขและการควบคุมต้นทุน และในส่วนของภาครัฐ AI ได้รับความนิยมในการนำไปใช้รักษาความถูกต้องของโครงการสวัสดิการสังคม สนับสนุนการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉิน และการปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านภาษีและรายได้

แต่ละประเทศนำ AI มาใช้แตกต่างกัน

ภูมิทัศน์ด้าน AI ในเอเชียแปซิฟิกมีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ตลาดแต่ละแห่งแสดงให้เห็นเทรนด์ในการนำ AI มาใช้ที่ไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น จีนที่เป็นผู้นำในการลงทุนด้าน AI มีแผนที่จะเพิ่มโครงการ AI ในอีก 12 เดือนข้างหน้า ตามมาด้วยอินเดียและญี่ปุ่น

นอกจากนี้ จีนและเกาหลีใต้ได้นำ AI มาใช้และผสานเข้ากับระบบเร็วกว่าประเทศอื่น ๆ ความแตกต่างนี้เกิดจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ระดับการลงทุน กรอบกฎระเบียบ และความพร้อมของบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI การขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะเป็นข้อกังวลทั้งในระดับประเทศและอุตสาหกรรมในญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และหลาย ๆ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

งานวิจัยนี้ชี้ให้เห็นโอกาสและปัญหาท้าทายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มการลงทุนด้าน AI ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในปีต่อ ๆ ไป ซึ่งบริษัทต่าง ๆ หากต้องการจะปลดล็อกศักยภาพของ AI ได้อย่างเต็มที่ ก็ต้องมีการพัฒนาทักษะภายในองค์กร ออกแบบกลยุทธ์ที่เข้มแข็ง และวางแผนรับมือกับต้นทุนและความเสี่ยงด้าน AI ตั้งแต่เริ่มต้น การทำเช่นนี้จะช่วยให้บริษัทได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นตามที่คาดหวัง และมีความเชื่อมั่นมากขึ้นในการลงทุนด้าน AI ในอนาคตข้างหน้า

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ