สรุปประเด็นออเดรย์ ถัง รัฐมนตรีดิจิทัลไต้หวัน เสนอแนวคิดพหุนิยมใช้เทคโนโลยี ลดซ้ายขวา หาจุดตรงกลาง

Tech & Innovation

Digital Transformation

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

สรุปประเด็นออเดรย์ ถัง รัฐมนตรีดิจิทัลไต้หวัน เสนอแนวคิดพหุนิยมใช้เทคโนโลยี ลดซ้ายขวา หาจุดตรงกลาง

Date Time: 13 พ.ย. 2567 17:35 น.

Video

โมเดลธุรกิจ Onlyfans ทำไมถึงมีแต่ได้กับได้ ? บริษัทมั่งคั่ง คนทำก็รวย | Digital Frontiers

Summary

  • Audrey Tang บนเวที DevCon 2024 เสนอแนวคิด “Plurality” หรือ “แนวคิดพหุนิยม” ที่มุ่งเน้นการยอมรับ และการอยู่ร่วมกันของความแตกต่างทางความคิด วัฒนธรรม และมุมมองในสังคม ผ่านการนำเสนอยูสเคสและความสำเร็จของการนำเทคโนโลยีมาใช้ส่งเสริมการสื่อสารที่เปิดกว้าง

สรุปประเด็นของ Audrey Tang รัฐมนตรีดิจิทัลของไต้หวัน บนเวที DevCon 2024 งานรวมนักพัฒนา นักวิจัย และผู้ที่สนใจที่ใหญ่ที่สุดในโลกจัดโดย Ethereum Foundation ในหัวข้อ “Keynote: Infinite Diversity in Infinite Combinations” นำเสนอแนวคิดและความสำเร็จของ “Plurality” หรือ “แนวคิดพหุนิยม” ที่มุ่งเน้นการยอมรับ และการอยู่ร่วมกันของความแตกต่างทางความคิด วัฒนธรรม และมุมมองในสังคม โดยไม่พยายามให้ทุกคนต้องเหมือนกัน แต่เน้นสร้างพื้นที่ที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ในแบบของตัวเอง ผ่านการนำเสนอยูสเคสและความสำเร็จของการนำเทคโนโลยีมาใช้ส่งเสริมการสื่อสารที่เปิดกว้าง

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2014 ชาวไต้หวันเผชิญกับปัญหา “ความเชื่อมั่น” (Trust) โดยเฉพาะในเรื่อง “ประชาธิปไตย” ที่ ณ ตอนนั้นระดับความเชื่อมั่นมีอยู่แค่เพียง 9% เป็นช่วงที่ไต้หวันเกิดการแบ่งขั้วอย่างหนัก จึงทำให้เกิดแนวคิดที่ว่า เราไม่ควรยอมจำนนต่อความโกรธแค้นหรือชั่วร้ายที่เกิดขึ้น และไม่ใช่แค่ในไต้หวัน แต่เป็นระบบของทั่วโลก แต่ควรจะปรับความขัดแย้งนั้นให้เป็นการร่วมคิดร่วมสร้าง (Co-creation) จนระยะเวลาผ่านมากว่า 6 ปี เราสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวไต้หวันได้ด้วยการเชื่อมั่นในพวกเขา โดยในปี 2020 ระดับความเชื่อมั่นของประชาชนเพิ่มขึ้นมาเป็น 70%

ในเดือนมีนาคมและเมษายนปี 2014 เป็นช่วงเดียวกับที่เกิดเหตุการณ์ “Sunflower Movement” หรือ “ขบวนการนักศึกษาทานตะวัน” ที่กลุ่มนักศึกษาและประชาชนออกมาประท้วงต่อต้านข้อตกลงการค้าบริการข้ามช่องแคบไต้หวัน ที่รัฐบาลเสียงข้างมากของไต้หวัน ณ ตอนนั้นผลักดัน เพื่อลงนามร่วมมือกับจีน แต่ในฝั่งของประชาชนมองว่าจะเป็นการเพิ่มอำนาจและพึ่งพาจีนมากขึ้น และอาจกระทบต่ออธิปไตยของไต้หวัน

Audrey Tang กล่าวบนเวทีงาน DevCon 2024 ว่า เหตุการณ์วันนั้น กลุ่มผู้ที่ออกมาชุมนุมคือ “Demonstrators” ที่ออกแบบแนวทางใหม่ สร้างพื้นที่ให้ทุกคนมาเข้าร่วม มาเรียนรู้ว่าข้อตกลงการค้าบริการข้ามช่องแคบไต้หวันดังกล่าวจะกระทบกับพวกเขาอย่างไร นอกจากนี้ยังสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างโปร่งใสทั้งในวงสนทนาและแบบออนไลน์ และเป็นต้นแบบของการสร้างความเชื่อมั่นใหม่ให้กับประชาชน

โดยเริ่มต้นในปี 2015 ได้มีการสร้างระบบฉันทามติแบบ “Bridging Idea” ผ่านออนไลน์แพลตฟอร์ม โดยจะเปิดช่องทางออนไลน์ให้คนเข้ามาโพสต์เสนอความคิดเห็น โดยผู้ที่อยู่บนแพลตฟอร์มจะสามารถโหวตได้ว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่จะไม่เปิดให้โต้ตอบกันด้วยคอมเมนต์เพื่อลดความรุนแรงลง อย่างไรก็ตามบนระบบดังกล่าว ก็จะมีการวิเคราะห์และจัดกลุ่มความเห็นชอบ และในกรณีที่เป็นปัญหาหรือข้อถกเถียงระดับชาติ จะมีการนำมาใช้เป็นพื้นฐานในการนำเสนอต่อที่ประชุมเพื่อเป็นแนวทางในการออกแบบนโยบายของรัฐบาลต่อไป

ซึ่งจริง ๆ แล้ววิธี Bridging Idea นี้ เป็นการมอบพื้นที่ให้กับประชาชน เอื้อให้เกิดพฤติกรรมที่ลดการแบ่งขั้วลงได้ ผ่านการเชื่อมโยงกลุ่มหรือบุคคลที่มีมุมมองหรือเป้าหมายที่ต่างกัน โดยมุ่งสร้างความเข้าใจและการร่วมมือผ่านการสื่อสารที่เปิดกว้าง โดยมีเป้าหมายคือ การหาจุดร่วมที่ทุกฝ่ายสามารถยอมรับได้

บนเวที Audrey Tang ได้ยกตัวอย่างการต่อยอดแนวคิดดังกล่าว ที่นำไปสู่การปรับเปลี่ยน Community Notes ที่เหล่าโซเชียลแพลตฟอร์มอย่าง X และ YouTube ใช้งานเป็นฟีเจอร์ใหม่ ให้ผู้ใช้งานช่วยกันตรวจสอบข้อเท็จจริงในคอนเทนต์รูปภาพและวิดีโอได้ โดยจะเป็นระบบที่คนในชุมชนเข้ามาให้คะแนน อย่างไรก็ตาม คอนเทนต์ที่ถูกตรวจสอบจะต้องมีคะแนนถึงระดับหนึ่งถึงจะถูกระงับการเผยแพร่ลง

อย่างไรก็ตาม ภาพของโซเชียลมีเดียในปัจจุบันยังคงปฏิบัติกับผู้ใช้งานแบบแยกรายบุคคลอยู่ และยังคงให้ความสำคัญกับ Engagement ที่เกิดขึ้นกับเฉพาะบุคคล จึงเกิดเป็นแนวทางในการพัฒนา “Pro-Social System” หรือ “Plurality System” ระบบเอื้อสังคม หรือระบบพหุนิยม ที่จะให้ความสำคัญกับ Connection ระหว่างแต่ละบุคคลมาเป็นอันดับแรก และเป็นปัจจัยต้น ๆ ในการนำมาออกแบบแพลตฟอร์ม โดยจะเน้นไปที่การออกแบบพื้นที่ให้ทุกคนแสดงความเห็น เข้าถึงข้อมูล และมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม โปร่งใส โดยแพลตฟอร์มควรระบุความสัมพันธ์และกลุ่มที่เราเป็นสมาชิก เพื่อให้ผู้คนสามารถมีปฏิสัมพันธ์เชิงลึกและเชื่อมโยงกันในด้านต่าง ๆ เช่น วัฒนธรรม อาชีพ หรือสังคม

การศึกษาเรื่อง Plurality System กำลังดำเนินอย่างจริงจังในไต้หวัน โดยล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้มีการทดลองด้วยการส่งข้อความ SMS กว่า 200,000 ข้อความไปให้ประชาชนชาวไต้หวันได้ร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของโลกออนไลน์ โดยสามารถแยกย่อยออกมาได้กว่า 450 กลุ่มความคิดเห็น และได้เข้าร่วมการอภิปรายออนไลน์ โดยจะมีเครื่องมือ AI มาใช้คัดกรองความคิดเห็นแบบไม่มีความเห็นของมนุษย์มาช่วยตัดสินคัดแยก ซึ่งช่วยให้การอภิปรายมีความหมายมากขึ้น ส่งผลให้เกิดกฎหมายใหม่ที่กำหนดให้แพลตฟอร์มสื่อสังคมต้องรับผิดชอบในการตรวจสอบความถูกต้องของโฆษณาออนไลน์

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ