วงการแพทย์เอเชียตื่นตัวเรื่อง AI แห่ลงทุนด้าน Data เชื่อมโยงข้อมูล ลดปัญหาขาดแคลนหมอ ทำงานไม่ทัน

Tech & Innovation

Digital Transformation

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

วงการแพทย์เอเชียตื่นตัวเรื่อง AI แห่ลงทุนด้าน Data เชื่อมโยงข้อมูล ลดปัญหาขาดแคลนหมอ ทำงานไม่ทัน

Date Time: 6 ก.ย. 2567 23:11 น.

Video

บรรยง พงษ์พานิช แกะปมเศรษฐกิจไทยโตต่ำ ฟื้นช้า พร้อมแนะทางออก

Summary

  • วงการเฮลท์แคร์ในเอเชียแปซิฟิก ชี้ ความล่าช้าในการดูแลรักษาผู้ป่วยมาจากปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ อุปสรรคใหญ่คือการเชื่อมโยงข้อมูลจากหลายแหล่ง ทำให้ AI และ Data เป็นเทคโนโลยีที่วงการเฮลท์แคร์หวังนำมาช่วยยกระดับการดูแลรักษาผู้ป่วย โดยกว่า 60% มีแผนที่จะลงทุนเพิ่มด้าน AI ภายใน 3 ปีข้างหน้า เตรียมนำ AI มาใช้จัดการยา ติดตามผู้ป่วย วางแผนรักษาผู้ป่วยจากทางไกล

รอยัล ฟิลิปส์ ขาธุรกิจเทคโนโลยีทางการแพทย์ของฟิลิปส์ หนึ่งในผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อการดูแลสุขภาพระดับโลกที่ได้จัดทำผลสำรวจด้านเฮลท์แคร์ระดับโลกที่ใหญ่ที่สุดเป็นปีที่ 9 ติดต่อกัน เผยผลสำรวจด้านเฮลท์แคร์ประจำปี “Philips Future Health Index (FHI) 2024” ในหัวข้อ “Better care for more people” ที่ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้นำในวงการเฮลท์แคร์กว่า 3,000 คน จาก 14 ประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ อิตาลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย โดยผลสำรวจในปีนี้ชี้ให้เห็นสถิติที่น่าสนใจว่า เทรนด์เทคโนโลยี AI และ Data มาแรงในกลุ่มผู้นำด้านเฮลท์แคร์ในเอเชียแปซิฟิก หวังยกระดับการดูแลรักษาผู้ป่วย

ขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ความท้าทายด้านการเงิน และการบริหาร

  • 71% ของผู้นำในวงการเฮลท์แคร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กังวลเกี่ยวกับปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ที่ส่งผลต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยที่ล่าช้า
  • 92% ของผู้นำในวงการเฮลท์แคร์ยังชี้ให้เห็นว่าความท้าทายด้านการเงินส่งผลกระทบต่อความสามารถขององค์กรในการดูแลผู้ป่วยทั้งในด้านเวลาและคุณภาพ
  • 59% บอกว่าพวกเขากำลังปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานขององค์กร โดยคำนึงถึงกลยุทธ์ทางด้านการเงินควบคู่กับการบริหารจัดการผู้ป่วยจำนวนมาก โดยต้องไม่ลดทอนคุณภาพการบริการ

ดร.มาร์ค เบอร์บี รองประธานกลุ่มธุรกิจ Health Systems ฟิลิปส์ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เปิดเผยว่า วงการเฮลท์แคร์พยายามที่จะพัฒนาและเปลี่ยนแปลง เพื่อส่งมอบบริการและการดูแลรักษาที่ดีขึ้นให้กับผู้คนได้มากขึ้น โดยเฉพาะความพยายามที่ก้าวไปสู่อีกขั้นในการใช้เทคโนโลยี AI เพื่อสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์และการเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้น

โดยอุปสรรคใหญ่ คือ การเชื่อมต่อข้อมูล (Data)และการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานผ่านการจัดลำดับความสำคัญของกระบวนการทำงาน เพื่อรับมือกับปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ความท้าทายด้านการเงิน และความต้องการรับบริการด้านสาธารณสุขที่เพิ่มขึ้น ทั้งสามปัจจัยกลายเป็นปัญหาเร่งด่วนต่อการให้บริการผู้ป่วยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ผู้ป่วยต้องรอนานเพื่อเข้ารับบริการด้านสาธารณสุข ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการดูแลรักษาได้อย่างทันท่วงทีและเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้ยาก

ทั้งนี้พบว่า 45% หรือเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ให้บริการด้านสาธารณสุขในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีการนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในกระบวนการทำงาน เพื่อจัดลำดับความสำคัญในกระบวนการทำงานแล้ว ซึ่งการนำระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้จะเป็นตัวช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและลดผลกระทบจากการขาดแคลนบุคลากร

การเชื่อมต่อ Data คือเรื่องใหญ่ของวงการแพทย์

ผลสำรวจระบุข้อเท็จจริงที่น่าสนใจอีกว่าผู้นำในวงการเฮลท์แคร์ในเอเชียแปซิฟิกเห็นถึงโอกาสในการยกระดับการดูแลรักษาผู้ป่วย ด้วยศักยภาพของ “Data Integration” การเชื่อมต่อข้อมูลจากแหล่งต่างๆ เข้าด้วยกัน เพื่อช่วยจัดเก็บข้อมูลผู้ป่วยไว้ในที่เดียว

โดยพวกเขาเชื่อว่า การนำข้อมูลเชิงลึกมาจัดเก็บและประมวลผลจะช่วยในการวางแผนหรือหาแนวทางการดูแลที่เหมาะสมได้ 36%, สามารถระบุแนวทางการรักษาที่มีประสิทธิผลได้ 36%, สามารถประเมินและบริหารจัดการความต้องการของผู้ป่วยได้ 36%, สามารถพยากรณ์เพื่อลดความเสี่ยงของอาการที่แย่ลงในผู้ป่วยได้ 33%, และสามารถลดเวลาการตรวจวินิจฉัยและกระบวนการดูแลได้อย่างเหมาะสม 31%

ขณะเดียวกัน 93% ของผู้นำในวงการเฮลท์แคร์ในเอเชียแปซิฟิกบอกว่า พวกเขาพบอุปสรรคในการเชื่อมต่อข้อมูลอย่างน้อยหนึ่งอย่างเมื่อนำมาประยุกต์ใช้จริง ซึ่งส่งผลต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยทั้งด้านเวลาและคุณภาพ

ได้แก่ การดูแลรักษาที่ผิดพลาด ความปลอดภัยและหรือคุณภาพของการดูแลผู้ป่วยที่ลดลง 36%, มีข้อจำกัดในการประสานงานระหว่างผู้ให้บริการ/หรือภายในแผนกต่างๆ 33%, ต้นทุนการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการขาดประสิทธิภาพ 32%, ต้องใช้เวลาในการเข้าถึงรวมข้อมูล ทำให้มีเวลาน้อยลงในการดูแลผู้ป่วย 31%, ขาดโอกาสในการดูแลเชิงป้องกันหรือการรับการรักษาที่รวดเร็ว 31%

อย่างไรก็ตามเห็นตรงกันว่า หากสามารถเชื่อมต่อข้อมูลได้สำเร็จจะมีศักยภาพและประโยชน์ต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยมากที่สุด โดยให้ความสำคัญถึงคุณภาพของข้อมูล ความแม่นยำของข้อมูล การปรับปรุงด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล การเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตัวผู้ป่วยเอง และการทำงานร่วมกันระหว่างแพลตฟอร์มหรือสถานบริการสาธารณสุข ล้วนเป็นส่วนที่ควรได้รับการพัฒนา

เตรียมนำ AI มาใช้รักษา จัดการยา ติดตามผู้ป่วย วางแผนวินิจฉัยโรคจากทางไกล

นอกจากนี้ยังพบว่าผู้นำในวงการเฮลท์แคร์ในเอเชียแปซิฟิกมีการวางแผนนำเทคโนโลยี AI มาใช้สนับสนุนทางคลินิกและวางแผนที่จะนำไปใช้ในหลายๆ ด้านภายใน 3 ปีข้างหน้า โดยพวกเขาต่างเห็นว่าการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ในภูมิภาคประสบความสำเร็จ จากการนำเทคโนโลยี AI มาใช้เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจในทางการแพทย์

ได้แก่ ด้านการดูแลเชิงป้องกัน 91%, ด้านการบริหารจัดการยา 90%, ด้านระบบติดตามผู้ป่วยในโรงพยาบาล 89%, ด้านการวางแผนการรักษา 89%, ด้านระบบติดตามผู้ป่วยระยะไกลหรือแบบรีโมต 87%, ด้านระบบในศูนย์สั่งการทางคลินิก 83%, ด้านรังสีวิทยา 79% และด้านพยาธิวิทยา 79%

อีกทั้งมีความสนใจต่อ Generative AI เพิ่มมากขึ้น จากการใช้ประโยชน์ของอัลกอริทึม AI ที่สามารถใช้ในการทำคอนเทนต์ต่างๆ ตามคำสั่งที่ป้อนเข้าไปจะเป็นประโยชน์ต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยเพื่อแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพและข้อมูลเชิงลึกใหม่ๆ จากข้อมูลของผู้ป่วย

โดย 36% เตรียมลงทุนในเทคโนโลยี Generative AI และ 62% มีแผนที่จะลงทุนในเทคโนโลยีนี้ภายใน 3 ปีข้างหน้า ซึ่งความสนใจด้าน Generative AI ของผู้นำด้านเฮลท์แคร์ในเอเชียแปซิฟิกมากกว่าผู้นำด้านเฮลท์แคร์ทั่วโลกที่ปัจจุบันลงทุนอยู่ 29% และมีแผนที่จะลงทุนภายใน 3 ปีข้างหน้าอยู่ที่ 56%

ทั้งนี้แม้ว่าจะมีความตื่นตัวด้านเทคโนโลยี AI เป็นวงกว้าง แต่ 95% ของผู้นำในวงการเฮลท์แคร์ในเอเชียแปซิฟิกยังมีความกังวลเกี่ยวกับความแม่นยำของข้อมูลในแอปพลิเคชันที่ใช้ AI เนื่องจากอาจส่งผลต่อผลลัพธ์ทางสุขภาพ

ดังนั้น พวกเขาจึงระบุว่าเทคโนโลยี AI ต้องถูกนำไปใช้อย่างมีความรับผิดชอบเพื่อป้องกันความผิดพลาด โดยกลยุทธ์ในการลดความเสี่ยงของความผิดพลาดทางข้อมูลคือ ความโปร่งใสและความเข้าใจด้าน AI สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ การทำให้บุคลากรมีความมั่นใจในข้อมูลและเทคโนโลยี AI มีการฝึกอบรมและให้ความรู้อย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับ AI และมีการกำหนดนโยบายสำหรับการใช้ข้อมูลและ AI อย่างมีจริยธรรม ซึ่งกลยุทธ์เหล่านี้จะสามารถทำได้ผ่านการทำงานร่วมกันในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ -   


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์