จาก AI สู่ ROI ประเทศไทยจะได้อะไร ? จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่

Tech & Innovation

Digital Transformation

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

จาก AI สู่ ROI ประเทศไทยจะได้อะไร ? จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่

Date Time: 29 ส.ค. 2567 17:15 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Summary

  • ในยุคที่นวัตกรรมดิจิทัลกำลังเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกธุรกิจอย่างรวดเร็ว ประเทศไทยก็กำลังเตรียมพร้อมที่จะก้าวสู่การเป็นผู้นำในภูมิภาคด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ในงาน Thailand Focus 2024 ภายใต้หัวข้อ "How Thailand is Transforming Its Supply Chain with Digital Innovation" นวัตกรรมดิจิทัลพลิกโฉมห่วงโซ่อุปทานไทย โดยมีผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ ได้แก่ ปฐมา จันทรักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย วัตสัน ถิรภัทรพงศ์ Country Manager, Amazon Web Services และ พชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ร่วมแบ่งปันวิสัยทัศน์และแผนการลงทุนที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าอุตสาหกรรมไทยด้วยเทคโนโลยีอย่าง AI และระบบคลาวด์ ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทานไทย ทำให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก

ในงาน Thailand Focus 2024 ภายใต้หัวข้อ "How Thailand is Transforming Its Supply Chain with Digital Innovation" มีผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ ได้แก่ ปฐมา จันทรักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย วัตสัน ถิรภัทรพงศ์ Country Manager, Amazon Web Services และ พชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ร่วมแบ่งปันวิสัยทัศน์และแผนการลงทุนที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าอุตสาหกรรมไทยด้วยเทคโนโลยีอย่าง AI และระบบคลาวด์ ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทานไทย ทำให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก

Accenture - AWS ทุ่มทุนมหาศาล ปักหมุดไทยเป็นฐานที่มั่น

ปฐมา จันทรักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย หรือ Accenture กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นบริษัทที่ปรึกษาระบบคลาวด์ ให้การปรึกษาลูกค้าเพื่อปรับเปลี่ยนเป็นดิจิทัลนั้นสามารถทำได้รวดเร็วมากขึ้น และในขณะนี้ บริษัทของไทยกำลังเผชิญกับปัญหาเรื่องช่องว่างของโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่อการทำธุรกิจ รวมทั้งการขาดคนที่มีคุณภาพเข้ามาร่วมงานเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง

ปฐมา จันทรักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย
ปฐมา จันทรักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย

โดยมีการขยายการลงทุนครั้งใหญ่ Accenture มองว่าประเทศไทยเป็นศูนย์บริการลูกค้าที่สำคัญ ปัจจุบันบริษัทมีพนักงานที่ประจำการในประเทศไทยเพิ่มขึ้นถึง 5,300 คน ภายในเวลาเพียง 2 ปีเท่านั้น บริษัทตั้งศูนย์ข้อมูลในประเทศไทย นอกจากนี้ยังได้ควบรวมบริษัทท้องถิ่นอย่างเช่น Rabbit’s Tale เพื่อขยายการให้ธุรกิจ และให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ เป้าหมายคือให้บริการใน 3 ด้าน คือ การลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน รวมทั้งการปรับเปลี่ยนระบบการดำเนินงานขององค์กร โดยมีพนักงานเป็นคนไทยถึง 70% จากจำนวนพนักงานทั้งหมด มองประเทศไทยเป็นศูนย์ที่สำคัญของการบริการลูกค้าในภูมิภาค

ขณะที่ด้าน วัตสัน ถิรภัทรพงศ์ Country Manager ของ Amazon Web Services (AWS) กล่าวถึงการลงทุนครั้งใหญ่ของ AWS ในประเทศไทยว่า ที่ผ่านมา AWS ประกาศแผนการลงทุนระบบคลาวด์ในไทยมูลค่ามหาศาลถึง 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.9 แสนล้านบาท) โดยศูนย์ข้อมูลของ AWS จะเปิดให้บริการในปีหน้า

“ครั้งนี้ถือเป็นการลงทุนครั้งใหญ่มากในชีวิตการทำงานของผม”

วัตสัน ถิรภัทรพงศ์ Country Manager, Amazon Web Services
วัตสัน ถิรภัทรพงศ์ Country Manager, Amazon Web Services

ส่วนเหตุผลที่ AWS เลือกไทยนั้น การตัดสินใจลงทุนครั้งนี้มาจากการพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ อย่างรอบคอบ เมื่อ 6 เดือนก่อนบริษัทตัดสินใจการลงทุน และได้พิจารณาข้อดีข้อเสียเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค เช่น ทางเลือกการลงทุนในเวียดนาม ซึ่งบริษัทต้องพิจารณาถึงเสถียรภาพของประเทศ ความมั่นคงของเครือข่ายด้านดิจิทัล ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีโครงสร้างพื้นฐานดีที่สุด ในปีที่ผ่านมา บริษัทได้ลงทุนในประเทศไทยไปแล้วมูลค่าประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท การลงทุนของบริษัทจะช่วยให้บริษัทขนาดเล็กและกลาง สามารถใช้เทคโนโลยีของบริษัทเพื่อแข่งขันกับต่างชาติได้ หากลงทุนเองในด้านปัญญาประดิษฐ์ การสั่งซื้อ CPU ต้องรออย่างน้อย 6 เดือนถึง 1 ปี

นอกจากการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานข้างต้นแล้ว AWS ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรในประเทศ โดยมีแผนอบรมบุคลากรด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้ได้ถึง 100,000 คนภายในสองปีข้างหน้า เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะด้านปัญญาประดิษฐ์ในประเทศไทย

จาก AI สู่ ROI: กรณีศึกษาธุรกิจไทยใช้เทคโนโลยียกระดับประสิทธิภาพองค์กร

พชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการบริหารห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะการใช้ AI และระบบคลาวด์ว่า ห่วงโซ่อุปทานเป็นกระดูกสันหลังของธุรกิจทั้งหลาย เทคโนโลยีดิจิทัลที่ก้าวหน้าจะทำให้บริษัทนำมาใช้บริหารต้นทุนได้ การดึงเอาข้อมูลจากระบบปฏิบัติการต่าง ๆ ของบริษัทมาวิเคราะห์เพื่อทำนโยบายลดค่าใช้จ่ายได้ รวมทั้งเพิ่มความสามารถในการตัดสินใจ ทำให้สามารถบริหารแบบมีความยืดหยุ่นและทันกับสถานการณ์ตลาดได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการใช้ระบบคลาวด์ จะทำให้เข้าใจตลาด และสร้างกลยุทธ์ต่าง ๆ ได้รวดเร็วกว่าเดิม

ดังนั้นในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังปรับตัว ข้อมูลจากระบบคลาวด์จะสามารถทำให้บริษัทตัดสินใจที่จะปรับลดหรือขยายการดำเนินงานเพื่อปรับต้นทุนให้เหมาะสมได้ตลอดเวลา
นอกจากนี้ยังได้ยกตัวอย่างการประยุกต์ใช้ AI ของลูกค้ารายหนึ่งที่เป็นบริษัทเครื่องดื่มที่ต้องการปรับห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งทางบลูบิคหารูปแบบเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาให้ โดยเฉพาะ AI ที่ปรับใช้กับส่วนต่าง ๆ ของการดำเนินงานในบริษัทได้เป็นอย่างดี

เช่น ด้านกำลังการผลิต โดยปกติบริษัทมักจะผลิตเกินความต้องการ และต้องเก็บสินค้าเอาไว้ก่อนที่จะจำหน่ายออกไปได้ ซึ่งทำให้แบกรับภาระต้นทุน และ AI สามารถใช้วิเคราะห์ความต้องการของตลาด จากนั้นก็นำเอาข้อมูลนั้นมาปรับการผลิตของบริษัทให้เหมาะกับความต้องการ หรือสามารถวางแผนโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ใช้เวลาน้อยลง ตลอดจนการซื้อวัตถุดิบการผลิต รวมทั้งปรับเปลี่ยนระบบการผลิต ซึ่งทั้งหมดนี้หมายความว่าจะทำให้ต้นทุนลดลงได้ นอกจากนี้ AI ยังมีคาดการณ์ผลตอบแทนต่อการลงทุนต่าง ๆ ที่บริษัทวางแผนในอนาคตได้ด้วย

พชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
พชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

ความปลอดภัยคือหัวใจสำคัญ: ตั้ง Data Center ในไทย เพิ่มความมั่นใจให้นักลงทุน

นอกจากนี้ในวงเสวนานั้น ปฐมา ย้ำถึงความสำคัญของความปลอดภัยทางไซเบอร์ว่า การตั้งศูนย์ข้อมูลในประเทศไทย นอกจากจะเป็นข้อกำหนดของกฎหมายแล้ว ความปลอดภัยก็มีความสำคัญมาก ผู้ลงทุนที่เข้ามาในไทยก็จะมองหาความปลอดภัยของระบบเครือข่ายต่าง ๆ

ด้านวัตสัน กล่าวเสริมว่า บริษัทต่าง ๆ สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ในกิจกรรมหลากหลาย อย่างเช่น บริษัทตรวจสอบความเสียหายให้กับบริษัทประกันภัย สามารถใช้ AI ตรวจสอบความเสียหายจากการวิเคราะห์ภาพถ่ายอุบัติเหตุรถยนต์ได้ การมีศูนย์ข้อมูลในประเทศไทยสามารถให้บริการและติดต่อลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว หากเทียบกับการไปใช้บริการของศูนย์ข้อมูลในประเทศอื่น เช่นในสิงคโปร์ ซึ่งจะทำให้ต้องรอผลการประมวล และส่งกลับมาทางไทยที่ต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้น


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์