CPF - มิตรผล องค์กรไทย กรณีศึกษาระดับโลก ทรานส์ฟอร์มธุรกิจด้วยเทคโนโลยีของ SAP

Tech & Innovation

Digital Transformation

พิมพ์ชญา ภมรพล (แพร)

พิมพ์ชญา ภมรพล (แพร)

Tag

CPF - มิตรผล องค์กรไทย กรณีศึกษาระดับโลก ทรานส์ฟอร์มธุรกิจด้วยเทคโนโลยีของ SAP

Date Time: 19 ส.ค. 2567 15:52 น.

Video

โมเดลธุรกิจ Onlyfans ทำไมถึงมีแต่ได้กับได้ ? บริษัทมั่งคั่ง คนทำก็รวย | Digital Frontiers

Summary

  • บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) และ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด สององค์กรไทย ร่วมแชร์ความสำเร็จการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี SAP ยกระดับองค์กรสู่อนาคต ในงาน “SAP NOW Southeast Asia 2024 - Accelerate to Innovate” ที่จัดขึ้นโดย SAP ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์บริหารจัดการองค์กรเบอร์หนึ่งของโลก

สององค์กรไทยร่วมแลกเปลี่ยนกลยุทธ์และข้อมูลเชิงลึกด้านการทำทรานส์ฟอร์เมชันที่ยั่งยืนท่ามกลางความท้าทายในงาน “SAP NOW Southeast Asia 2024 - Accelerate to Innovate” ที่จัดขึ้นโดย SAP ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์บริหารจัดการองค์กรเบอร์หนึ่งของโลก เมื่อวันที่ 23-25 กรกฎาคม 2567 ณ ศูนย์ประชุมราฟเฟิลซิตี้ ประเทศสิงคโปร์

โดยงานนี้มีพันธมิตรบริษัทเทคโนโลยีและองค์กรธุรกิจชั้นนำทั่วอาเซียนเข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก สำหรับประเทศไทยนำโดย “CPF” บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) และ “Mitrphol Group” บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด สององค์กรชั้นนำขนาดใหญ่ในฐานะพันธมิตรที่ใช้เทคโนโลยี SAP สร้างสรรค์นวัตกรรมและปรับเปลี่ยนกระบวนการเพื่อรองรับธุรกิจแห่งอนาคต ได้ร่วมแชร์ถึงความสำเร็จและกระบวนการคิด ที่เป็นประโยชน์สำหรับองค์กรธุรกิจทั่วภูมิภาค

CPF บริษัทอาหารแช่แข็งที่เรียกตัวเองว่า เทคคอมปะนี กับเป้าหมาย “ครัวที่ยั่งยืนที่สุดของโลก”

นายพีรพงศ์ กรินชัย ผู้บริหารสูงสุดสายงานวิศวกรรมกลางและประธานคณะกรรมการ Net-Zero Digital Platform บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยถึงความท้าทายใหญ่ของอาณาจักร CPF ในฐานะผู้ผลิตและส่งออกอาหารแก่ผู้บริโภคมากกว่า 4 พันล้านคนทั่วโลกที่กำลังเตรียมการรับมือ “ภาวะโลกร้อน” โจทย์ใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของธุรกิจโดยตรง

ทำให้ CPF จำเป็นต้องประกาศแนวทางขับเคลื่อนองค์กรสู่อนาคตที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของโลก ทั้งการกำหนดเป้าหมาย Net-Zero และเป้าหมายการเป็น “Sustainable Kitchen” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเทคโนโลยีเข้ามาขับเคลื่อนกระบวนการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบด้านความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต และโครงสร้างพื้นฐานที่กระจายอยู่ทั่วโลก

โดยที่ผ่านมา CPF ประยุกต์ใช้โซลูชั่นของ SAP หลากหลาย อาทิ RISE with SAP, SAP Sustainability Control Tower, SAP Environment Management และ SAP Sustainability Footprint Management ที่ขับเคลื่อนบนเทคโนโลยี Blockchain เพื่อติดตามการปล่อยคาร์บอนและคำนวณ Greenhouse Emission Gas ติดตามข้อมูลผลผลิตจากต้นทาง แหล่งที่มาของวัสดุ กระบวนการผลิต ตลอดจนถึงมือผู้บริโภค ในแต่ละขั้นตอนมีการคำนวณอัตราการปล่อยคาร์บอนมากน้อยอย่างไร ทำให้ CPF สามารถรายงานตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เป็นองค์กรแรกๆ ตาม Scope 1-3 ที่ตั้งไว้

นายพีรพงศ์ เปิดเผยว่า ยุคแรกแห่งการทำ Digital Transformation ของ CPF เริ่มต้นจากการจัดเก็บข้อมูลธุรกิจและข้อมูลการผลิตด้วยเทคโนโลยี IoT ที่เมื่อคลังข้อมูลเพียงพอแล้วทำให้ CPF สามารถยกระดับตัวเองสู่องค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-Driven) โดยโซลูชั่นของ SAP เข้ามายกระดับกระบวนการดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพ

“ปัจจุบันหากส่งออกไก่หนึ่งตันไปประเทศอังกฤษ เราสามารถคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ พร้อมระบุว่า นี่คือผลกระทบของไก่หนึ่งตันที่มีต่อโลกให้กับลูกค้าได้จริงๆ มากไปกว่านั้นการติดตามข้อมูลที่ครบวงจร ทำให้เรารับมือกับการปฏิบัติตามกฎระเบียบคาร์บอนในอนาคตที่กำลังจะมีขึ้นในตลาด โดยเฉพาะสหภาพยุโรปที่เตรียมบังคับใช้มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดนของสหภาพยุโรป (EU C-BAM) ซึ่งกระทบการส่งออกของ CPF โดยตรง”

Mitrphol ผู้ผลิตน้ำตาลชั้นนำอันดับสามของโลกที่ไม่ได้ผลิตแค่น้ำตาล 

นอกจากเป็นผู้ผลิตน้ำตาลชั้นนำของไทยแล้ว “กลุ่มมิตรผล” ยังมีเป้าหมายในการเป็นผู้นำด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในภาคอุตสาหกรรมเกษตร โดยมีพอร์ตโฟลิโอทางธุรกิจที่หลากหลาย ได้แก่ พลังงานหมุนเวียน พลังงานไฟฟ้าชีวมวล ชีวเคมี เอทานอล ผลิตภัณฑ์ไบโอเบส รวมถึงวัสดุทดแทนไม้และปุ๋ย โดยมีการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยและภูมิภาคอื่น ได้แก่ จีน ลาว ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย

ก่อนหน้านี้ กลุ่มมิตรผลได้ประกาศแนวทางในการปรับปรุงด้านดิจิทัลทั้งองค์กร เพื่อพัฒนาระบบนิเวศทางดิจิทัลที่จะเสริมกระบวนการธุรกิจและการบริหารองค์กร โดยประกาศแผนเดินหน้าขับเคลื่อน “Farm-to-Table Transformation” ให้ความสำคัญกับการพัฒนาฟาร์มอัจฉริยะ โรงงานอัจฉริยะ การเชื่อมต่อข้อมูลและเครือข่ายธุรกิจ ตลอดจนแพลตฟอร์มดิจิทัลและ AI เพื่อช่วยให้เกษตรกรต้นน้ำล้วนแล้วแต่ทำพืชผลได้ดีกระทั่งปลายน้ำที่การจัดจำหน่ายกระจายสินค้ามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นายอธิคม กาญจนวิภู รองประธานบริหารฝ่ายดิจิทัลและเทคโนโลยี บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด เปิดเผยถึงบทบาทในการพลิกโฉมองค์กรมิตรผลสู่ดิจิทัลคอมปะนี ซึ่งเริ่มต้นดำเนินการมาเป็นเวลากว่าห้าปีตั้งแต่ปี 2019 โดยมีโร้ดแม็ปการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันที่วางไว้หลากหลายประการทั้งองค์กร

โดยกลุ่มมิตรผลมีประวัติความร่วมมือกับ SAP มายาวนานกว่า 15 ปี ตั้งแต่การยกระดับระบบ RISE with SAP ในการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจแบบครบวงจร เปลี่ยนผ่านสู่ระบบ ERP บนคลาวด์ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อกลยุทธ์ Digital core แบบ Asset-light บูรณาการเข้ากับแพลตฟอร์มเดิมของบริษัทอย่างไฮบริดคลาวด์ ดิจิทัล การวิเคราะห์ข้อมูล และระบบเพิ่มผลผลิตแบบอัตโนมัติที่ขับเคลื่อนด้วย AI และ ML ที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อสร้างผลิตผล โอกาสใหม่ รวมถึงนวัตกรรมที่สนับสนุนการเติบโตของกลุ่มธุรกิจ

ปัจจุบันกลุ่มมิตรผลตระหนักถึงแพลตฟอร์ม AI ที่แพร่หลายในตอนนี้ โดยมองว่า กลุ่มมิตรผลทุ่มงบลงทุนในเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาเป็นเวลาสองปีแล้ว และกำลังวางแผนที่จะบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานของ SAP ในแง่ของ AI เข้ากับภาพรวมของ AI ที่กลุ่มมิตรผลกำลังสร้าง โดยปัจจุบันมีพนักงานในกลุ่มทดลองใช้งานแล้วจำนวน 1,000 คน นอกจากนี้ยังมีแผนขยายสู่พนักงานจำนวน 5,000 คนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า นายอธิคม กล่าว

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้
https://www.facebook.com/ThairathMoney 


Author

พิมพ์ชญา ภมรพล (แพร)

พิมพ์ชญา ภมรพล (แพร)
Technology & Digital Economy Team , The Columnist of BrandStory