ETDA ประกาศ คู่มือกำกับดูแลฯ คุ้มเข้มแพลตฟอร์มดิจิทัล ปล่อยมิจฉาชีพยิงแอด แก้ปัญหาโฆษณาหลอกลวง

Tech & Innovation

Digital Transformation

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ETDA ประกาศ คู่มือกำกับดูแลฯ คุ้มเข้มแพลตฟอร์มดิจิทัล ปล่อยมิจฉาชีพยิงแอด แก้ปัญหาโฆษณาหลอกลวง

Date Time: 18 มิ.ย. 2567 16:07 น.

Video

ล้วงลึกอาณาจักร “PCE” สู่บริษัทมหาชน ปาล์มครบวงจร | On The Rise

Summary

  • สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประกาศ “คู่มือการดูแลโฆษณาบนบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล” ภายใต้ “กฎหมาย DPS (Digital Platform Services)” เพื่อเป็นแนวทางการกำกับดูแลโฆษณาออนไลน์แก่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่ครอบคลุมตั้งแต่ “การพิสูจน์และยืนยันตัวตน-ตรวจสอบ-เก็บข้อมูล” เร่งเครื่องแก้ปัญหาโฆษณาหลอกลวงและโฆษณาชักชวนให้กระทำผิดทางกฎหมาย

นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA กล่าวว่า ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาการหลอกลวงทางออนไลน์ที่เกิดขึ้นผ่านทางแพลตฟอร์มดิจิทัลในรูปแบบต่างๆ จึงมีนโยบายเชิงรุกในการดำเนินงานเรื่องดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อสนับสนุนนโยบายดังกล่าว จึงได้จัดทำ “คู่มือการดูแลโฆษณาบนแพลตฟอร์มดิจิทัล” ที่ได้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2567

เพื่อเป็นแนวทางในการกำกับดูแลตนเองของผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งจะช่วยให้การโฆษณาบนแพลตฟอร์มมีความน่าเชื่อถือ ตรวจสอบได้และลดปัญหาที่เกิดจากการโฆษณาที่จะนำไปสู่การฉ้อโกงและหลอกลวงออนไลน์ อาทิ การหลอกลวงลงทุน การปลอมแปลงเป็นบุคคล ร้านค้า หรือผู้ประกอบการอื่น (Impersonate) และการขายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (Counterfeit goods) การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารปลอม ข้อมูลบิดเบือน หรือข้อมูลที่ผิด

รวมทั้ง การโฆษณาชักชวนกันเพื่อทำกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย เช่น การเล่นการพนัน เป็นต้น โดยคู่มือฉบับนี้ มีเนื้อหาครอบคลุมใน 2 ส่วนที่สำคัญ ได้แก่ การตรวจสอบและเก็บข้อมูลของผู้ทำการโฆษณารวมถึงการตรวจสอบโฆษณาก่อนการเผยแพร่ (Screening) และการตรวจสอบผู้ทำการโฆษณาและโฆษณาภายหลังเผยแพร่ (Monitoring) 

สำหรับการตรวจสอบ และเก็บข้อมูลของผู้ทำการโฆษณารวมถึงการตรวจสอบโฆษณาก่อนการเผยแพร่ (Screening) จะครอบคลุมตั้งแต่การพิสูจน์ตัวตนของผู้ทำการโฆษณาที่ต้องมีการลงทะเบียนก่อนในวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ผ่านแอปพลิเคชัน ThaID ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย หรือในกรณีผ่านระบบของผู้ประกอบธุรกิจเองก็ต้องเป็นไปตามระดับความน่าเชื่อถือของการพิสูจน์ตัวตนตามที่มาตรฐานกำหนด

นอกจากนี้กรณีไม่มีระบบรองรับจะต้องมีการตรวจสอบข้อมูลอย่างน้อย ได้แก่ ชื่อ-สกุล หรือชื่อนิติบุคคลของผู้ทำการโฆษณา หรือเป็นผู้ชำระค่าบริการสำหรับการลงโฆษณา เลขประจำตัวประชาชน เลขที่หนังสือเดินทาง (Passport) มีช่องทางการติดต่อที่ชัดเจน หลังจากนั้นจะต้องมีการเก็บข้อมูลของผู้ที่ทำการโฆษณา รวมถึงจัดทำทะเบียนประวัติสำหรับการตรวจสอบโฆษณาที่พึงระวัง (Watchlist) การทำความผิดตามกฎหมาย หรือข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล (Blacklist) และผู้ทำการโฆษณาที่น่าเชื่อถือ (Whitelist) นอกจากนี้ ยังต้องมีการตรวจสอบโฆษณาก่อนเผยแพร่ตามแนวทางที่กำหนด เช่น กำหนดลักษณะของโฆษณาที่ต้องห้ามหรือที่เผยแพร่ได้แบบมีข้อจำกัด และโฆษณาที่ต้องมีการขออนุญาตที่เกี่ยวข้องก่อนดำเนินการ เป็นต้น 

อีกส่วนที่สำคัญ คือ การตรวจสอบผู้ทำการโฆษณาและโฆษณาภายหลังเผยแพร่ (Monitoring) ที่จะครอบคลุมตั้งแต่การตรวจสอบคุณภาพของผู้ทำการโฆษณา จากจำนวนและประเภทของการแจ้งรายงาน (Report/Flagging) รวมถึงการปฏิบัติตามข้อตกลงและเงื่อนไขการให้บริการ สำหรับการตรวจสอบโฆษณาที่มีการเผยแพร่ จะดำเนินการโดยการใช้ระบบอัตโนมัติ และมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาลำดับความสำคัญของการตรวจสอบประเภทของโฆษณา ที่ต้องใช้เจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบนอกเหนือจากการใช้ระบบ พร้อมกันนี้ ยังให้มีการกำหนดช่องทางการแจ้งรายงานโฆษณา (Report/Flagging) เช่น การแอบอ้างรูปภาพ วิดีโอ การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา หรือการชักชวนให้ลงทุนหรือระดมทุนโดยผิดกฎหมาย เป็นต้น  

คู่มือฉบับนี้ถือเป็นแนวทางสำหรับธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลในการดูแลการทำโฆษณาบนบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการดูแลการทำโฆษณาบนบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลแต่ละประเภทได้ตามความเหมาะสม 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ