ผู้พิพากษาจีนระบุ คำตัดสินของศาลจีนในการยอมรับลิขสิทธิ์ของภาพที่สร้างผ่านปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นการสร้างสรรค์รวมถึงให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมเกิดใหม่
โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมาศาลออนไลน์ในกรุงปักกิ่ง (Beijing Internet Court) ได้ตัดสินให้รูปภาพที่สร้างผ่าน Stable Diffusion ซึ่งเป็นโมเดล AI ที่ใช้ Generate รูปภาพจากข้อความว่าควรนับเป็นงานศิลปะภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายลิขสิทธิ์เพราะมีความเป็นต้นฉบับ (Originality) และเป็นสิ่งที่เกิดจากความรู้ของผู้สร้าง
นอกจากนี้ผู้พิพากษายังระบุว่าการกำหนดสถานะทางกฎหมายให้กับคอนเทนต์ที่เกิดจาก Generative AI ภายใต้เงื่อนไขที่แน่ชัดอย่างในกรณีนี้มีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนให้คนสร้างสรรค์ผลงานด้วยเครื่องมือใหม่ๆ พร้อมเสริมว่าหากเนื้อหาที่สร้างโดยโมเดล AI ไม่ถูกนับว่าเป็นงานศิลปะเลยจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรม
สำหรับที่มาที่ไปของการตัดสินในครั้งนี้เริ่มต้นขึ้นในเดือนพฤษภาคมของปีที่แล้วโดยโจทย์ที่ชื่อว่า Li ได้ยื่นฟ้องบล็อกเกอร์รายหนึ่งว่าใช้ภาพที่เขาสร้างจาก Stable Diffusion โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งศาลก็ได้ตัดสินว่ารูปภาพที่สร้างโดย AI ของ Li ถือเป็นงานศิลปะโดยมาจากการเขียน Prompt อย่างต่อเนื่องและทำซ้ำๆ จนได้ภาพที่สะท้อนถึงสุนทรียภาพของตัวเอง
และการพิจารณาคดีดังกล่าวก็ได้จุดประเด็นการถกเถียงที่ร้อนแรงขึ้นว่าเนื้อหาที่สร้างโดย AI ควรได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์หรือไม่ซึ่งศาลออนไลน์ในกรุงปักกิ่งยืนยันว่าข้อพิพาทในอนาคตเกี่ยวกับภาพที่สร้างโดย AI ควรได้รับการตัดสินเป็นกรณีไป
อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรม Generative AI ในจีนถูกคาดการณ์ว่าภายในปี 2035 จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึง 30 ล้านล้านหยวน (หรือประมาณ 151.6 ล้านล้านบาท) คิดเป็นหนึ่งในสามของมูลค่าอุตสาหกรรมทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ 90 ล้านล้านหยวน (หรือประมาณ 454.9 ล้านบาท) ตามรายงานของ CCID Group หน่วยวิจัยสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศจีน (MIIT)
อ้างอิง