ผู้ว่าฯแบงก์ชาติอธิบาย ทำไมใบอนุญาต Virtual Bank ในไทย เปิดทางน้อย-เงื่อนไขสูง?

Tech & Innovation

Digital Transformation

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ผู้ว่าฯแบงก์ชาติอธิบาย ทำไมใบอนุญาต Virtual Bank ในไทย เปิดทางน้อย-เงื่อนไขสูง?

Date Time: 6 ม.ค. 2567 14:18 น.

Video

ดร.พิพัฒน์ KKP กระเทาะโจทย์เศรษฐกิจไทย บุญเก่าเจอความเสี่ยง บุญใหม่มาไม่ทัน

Summary

  • ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ เผยความคืบหน้า ใบอนุญาต Virtual Bank ในไทย ทุกอย่างเป็นไปตามแผนเดิม คาดปี 2568 เปิดดำเนินการได้ พร้อมอธิบายสาเหตุที่ประเทศไทยเปิดทางใบอนุญาตน้อย และกำหนดเงื่อนไขสูง

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นความคืบหน้าของการออกใบอนุญาต Virtual Bank กับ Thairath Money ในรายการ Money Issue ว่า ขณะนี้ ธปท.ได้ส่งร่างหลักเกณฑ์ใบอนุญาต Virtual Bank ไปที่กระทรวงการคลังเรียบร้อยแล้ว เมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งทุกอย่างสามารถดำเนินไปได้ตามเป้าหมายวางไว้ ตอนนี้ก็รอให้ทางกระทรวงการคลังออกประกาศอย่างเป็นทางการในเรื่องของการเปิดรับสมัคร และประกาศรายชื่อผู้ได้รับการอนุมัติภายในปี 2567 และหลังจากนั้น ในปี 2568 Virtual Bank สามารถดำเนินธุรกิจได้ 


“โจทย์ของ ธปท. ในการเปิดทางให้มีใบอนุญาต Virtual Bank นอกเหนือการเข้าถึงบริการทางการเงินของกลุ่ม Undeserve แล้ว ก็คือ เรื่องของนวัตกรรมต่างๆ ที่เป็นการให้บริการในรูปแบบใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์กับกลุ่ม Digital Native ที่คุ้นเคยกับการใช้ชีวิตบนมือถือได้มากกว่าและดีกว่า และอีกสิ่งที่ ธปท. อยากเห็นคือ การแข่งขันจากผู้เล่นรายใหม่ในรูปแบบการให้บริการแบบใหม่ๆ” ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าว  


อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่จะมีแค่ธนาคารรายเดิมที่ประกาศร่วมมือกับพันธมิตรที่จะเข้ามาเล่นในธุรกิจ Virtual Bank ประกอบกับเงื่อนไขของ ธปท. ที่กำหนดทุนจดทะเบียนไว้ไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท ซึ่งอาจสะท้อนได้ว่าอาจไม่ได้เปิดทางให้ผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาอย่างที่คาดหวังหรือไม่ 


ในประเด็นดังกล่าว ดร.เศรษฐพุฒิ อธิบายว่า เรื่องทุนจดทะเบียน ก่อนหน้านี้ทาง ธปท.ได้มีการศึกษาเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้ว แต่ในขณะเดียวกันถ้าทุนตรงนี้ต่ำไปมันก็มีข้อเสียหลายประการ จากการที่ได้มีการศึกษาจะเห็นกรณีที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ คือ เมื่อเปิดดำเนินธุรกิจแล้วไปไม่รอด เนื่องจาก Virtual Bank ไม่ได้เป็นธุรกิจที่ง่าย การที่มีธนาคารมาเปิด รับเงินฝากของประชาชน มันต้องมีเรื่องของความเชื่อมั่นด้วย เพราะถ้าเกิดวันหนึ่งธนาคารต้องปิดตัวไป มันมีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องมั่นใจเลย คือ  ธุรกิจแบบนี้มันมีเวลาของมัน ที่ต้องใช้เวลาหลายปี กว่าธุรกิจจะได้กำไร  ดังนั้นเราต้อง make sure ว่าทุนมันเพียงพอ ธนาคารมีโอกาสอยู่รอดได้ เป็นที่มาว่าเกณฑ์ที่เซตไว้ทำไมถึงเป็นแบบนั้น 


ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวต่อว่า บทเรียนจากต่างประเทศก็เห็นเหมือนกันว่า คนที่จะประสบความสำเร็จในธุรกิจนี้ จะต้องเข้าใจเรื่องเทคโนโลยี เพราะทุกอย่างมันอยู่บนตัวแพลตฟอร์ม แต่ถ้าเก่งแพลตฟอร์ม แต่ไม่เข้าใจเรื่องสินเชื่อ มันก็มีที่แม้จะดึงลูกค้าเข้ามาได้ แต่สุดท้ายมันก็เจ๊ง ซึ่งทักษะเรื่องของการเข้าใจสินเชื่อมันก็เลยอยู่กับธนาคารเป็นส่วนใหญ่ เลยเข้าใจว่า ทำไมมันถึงมีการจับมือกันของธนาคารรายเดิมกับพันธมิตร  แต่ทั้งหลายทั้งปวงเราก็ต้องมาชั่งดูว่าใครจะตอบโจทย์ที่เราเซตไว้มากที่สุด 


ส่วนเรื่องจำนวนใบอนุญาตที่วางไว้ 3 ราย นั้น ในเฟสแรกที่เปิดนี้ ถือเป็นตัวเลขที่มีความเหมาะสม เนื่องจากจำนวนธนาคารในประเทศไทยก็ไม่ได้มีเยอะ เหมือนในบางประเทศที่เป็นเป็นหลักร้อย ดังนั้นการมีเข้ามาใหม่ 3 ราย เมื่อเทียบกับจำนวนกับผู้เล่นเดิมที่มีอยู่ ถือเป็นจำนวนที่ไม่ได้น้อย และมองว่าสามารถกระตุ้นการแข่งขันได้พอสมควร 


“ธปท.อยากจะดูก่อนด้วยว่าออกมาแล้ว 3 รายเป็นอย่างไร สมมติว่าถ้าออกมาแล้วมันสุดยอดดีเด่น ก็พร้อมที่จะมานั่งดูในเฟสต่อไปว่าควรเปิดเพิ่มเติมหรือไม่ อันนี้ก็ไม่ได้ปิดกั้น แต่การที่เป็นของใหม่ เราต้องไปอย่างระมัดระวังเป็นสิ่งที่เหมาะสม เพราะว่า ธุรกิจนี้ไม่ได้เหมือนกับการเปิดร้าน แต่นี่คือ การรับเงินฝากจากประชาชน มันเกี่ยวกับเรื่องของความเชื่อมั่น เราต้องมั่นใจว่าเรื่องพวกนี้มันปลอดภัย”


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ