ธนาคารในจีนต่างหันมาให้ความสนใจในด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อช่วยลดต้นทุนด้านกำลังคนและปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งในทุกๆ ปี AI สามารถสร้างมูลค่าให้กับภาคธนาคารได้กว่า 2-3.4 แสนล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 7.2-12.2 ล้านล้านบาท) ตามรายงานจาก McKinsey
นอกจากความสามารถของ AI ในการทำแชตบอตหรือเป็นผู้ช่วยแล้ว Generative AI ยังสามารถใช้ในการทำการตลาด พัฒนาผลิตภัณฑ์ หาลูกค้า และให้คำปรึกษาในด้านการลงทุนรวมไปถึงงานด้านอื่นๆ ของธนาคารตามการรายงานของ Boston Consulting Group
โดย Bank of Communications ธนาคารยักษ์ใหญ่จากจีนเองก็ได้มีการตั้งทีมวิจัยเพื่อศึกษาการใช้ Generative AI โดยใช้เทคโนโลยี AI ในการตรวจจับการฟอกเงินและเข้าถึงข้อมูลความต้องการของลูกค้ารายย่อย
ด้านธนาคารจีนรายอื่นก็พึ่งพา AI ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น China Merchants Bank และ Ping An Bank ซึ่งต่างกำลังใช้ Virtual Staff ที่ขับเคลื่อนด้วย AI สำหรับการบริการลูกค้า
สำหรับ Industrial and Commercial Bank of China (ICBC) หนึ่งในธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเมื่อพิจารณาจากสินทรัพย์ มีความพยายามในการใช้โมเดลภาษา AI ในการจัดการความมั่งคั่ง รวมถึงให้คำปรึกษาด้านการลงทุนที่แม่นยำขึ้น ตลอดจนสร้างสรรค์เนื้อหาการตลาด
นอกจากนี้ ICBC ยังได้พัฒนาโมเดล AI สำหรับภาคการเงินร่วมกับ Tsinghua University, Huawei Technologies และสถาบันวิจัยอย่าง Peng Cheng Laboratory และ Chinese Academy of Sciences เพื่อใช้ในด้านการบริการลูกค้า ควบคุมความเสี่ยง และบริหารจัดการในการดำเนินงาน
พร้อมกันนี้ยังมี China Citic Bank และ Postal Savings Bank of China ที่ทำงานร่วมกับ Ernie Bot ปัญญาประดิษฐ์ที่พัฒนาโดย Baidu เป็นการร่วมมือของธนาคารจีนและ AI ในประเทศที่เติบโตตามกระแสจาก ChatGPT
และไม่เพียงแต่ธนาคารรายใหญ่เท่านั้นที่หันมาลงทุนใน AI เพราะยักษ์ใหญ่ด้านฟินเทคอย่าง Ant Group ก็ได้สร้างโมเดลภาษาของตัวเองสำหรับการบริหารความมั่งคั่งและบริการประกันภัยซึ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยใช้ในการตอบคำถามลูกค้าและเป็นผู้ช่วยให้กับผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน
ด้านนักวิเคราะห์เองก็มองเห็นโอกาสและศักยภาพของโมเดลภาษา AI ในการเป็น Game Changer ของภาคส่วนนี้ โดยนักวิเคราะห์จาก IDC ระบุว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ธนาคารหลายเจ้าจะใช้ AI ในการพิจารณาสินเชื่อแก่ลูกค้า และ AI จะช่วยป้องกันกลโกงและการฟอกเงินได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนผ่านของธนาคารในการปรับใช้ AI ยังคงต้องเผชิญกับอุปสรรคทั้งด้านเทคนิคและกฎระเบียบ เพราะ Generative AI ยังไม่สามารถทำหน้าที่ได้เทียบเท่ามนุษย์ ทั้งต้องมีความสามารถในการประมวลผลภาษาจีนซึ่งมีข้อจำกัดมากกว่าภาษาอังกฤษจึงจะตอบโจทย์ความต้องการของธนาคาร ขณะเดียวกันหาก AI ของธนาคารขาดความน่าเชื่อถือก็จะนำไปสู่การตั้งคำถามจากหน่วยงานกำกับดูแลได้
อ้างอิง