บทวิเคราะห์จาก ดีน ลาเชก้า รองประธานฝ่ายวิจัยการ์ทเนอร์ ระบุ ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลไม่ได้เป็นตัวกำหนดแนวทางหรือวิธีการให้บริการขององค์กรภาครัฐอีกต่อไป เนื่องจากสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ‘ผลลัพธ์’ ที่จะถูกนำมาพิจารณาหลังมุ่งลงทุนเทคโนโลยีดิจิทัลมาแล้วกว่า 20 ปี จึงถึงเวลาที่จะต้องเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง เมื่อการทำ “ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน” ไม่ใช่ปัจจัยขับเคลื่อนอีกต่อไป
และข้อมูลจากการ์ทเนอร์ ระบุว่า องค์กรภาครัฐ 90% กำลังอยู่ในกระบวนการขยายรัฐบาลดิจิทัล หรือ มีการขยายส่วนงานหลักขององค์กรไปเป็นดิจิทัลแล้ว จึงเกิดเป็นคำถามว่าทำไมถึงควรต้องใช้เงินลงทุนกับเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นอีก
นอกจากนี้ยังคาดการณ์ว่าภายในปี 2569 รัฐบาลทั่วโลกมากกว่า 75% จะวัดความสำเร็จในการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันด้วยการวัดผลกระทบของภารกิจที่ยั่งยืน แทนการพิจารณาเพียงแค่จำนวนชั่วโมงการทำงานที่ลดลง ประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น หรือความพึงพอใจของประชาชนเท่านั้น
โดยการตั้งเป้าหมายที่สูงขึ้นในช่วงเวลาที่ต้องรัดเข็มขัดในการใช้จ่ายและหนี้ทางเทคนิค (Technical Debt) ที่เพิ่มขึ้น บังคับให้องค์กรภาครัฐฯ ต้องมองหาความสามารถและแนวทางที่ใช้ในปัจจุบันให้ต่างออกไป หากต้องการบรรลุผลภารกิจที่ยั่งยืนจะต้องหาช่วงเวลาที่สำคัญ อันหมายถึงการต้องเข้าใจมุมมองของผู้อื่นเพื่อตอบสนองความต้องการของภาคประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
ซึ่งรัฐบาลต้องใช้ประโยชน์จากข้อมูลเชิงลึกเพื่อคาดการณ์การมีส่วนร่วมที่เหมาะสมที่สุดและรับมือกับสิ่งที่ไม่คาดคิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังต้องมองหาการพัฒนาระบบนิเวศของพันธมิตรที่เน้นผลลัพธ์ร่วมกัน
และเพื่อขับเคลื่อนประสบการณ์ไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด รัฐบาลหลังยุคดิจิทัลควรต้องนำเสนอบริการเฉพาะบุคคลขั้นสูง (Hyper-Personalized Services) ที่รวมข้อมูลเชิงลึกด้านความเข้าใจผนวกเข้ากับข้อมูลเชิงลึกการปฏิบัติงานแบบเรียลไทม์และนำไปปฏิบัติได้ในระหว่างกระบวนการตัดสินใจ โดยการ์ทเนอร์คาดการณ์ว่าภายในปี 2567 กว่า 60% ของการลงทุนด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการวิเคราะห์ข้อมูลขององค์กรภาครัฐจะใช้เพื่อการตัดสินใจและสร้างผลลัพธ์แบบเรียลไทม์
นอกจากนี้การสำรวจของการ์ทเนอร์ ในช่วงเดือน เมษายน-พฤษภาคม 2566 จากองค์กรภาครัฐทั่วโลก 161 แห่ง แสดงให้เห็นว่า ในอีก 3 ปีข้างหน้านี้ 70% ขององค์กรภาครัฐจะนำ Generative AI ไปปรับใช้ หรือ อยู่ในขั้นวางแผนนำไปใช้
ซึ่งการนำ AI มาปรับใช้อย่างรวดเร็ว จะทำให้เกิดการสร้างช่องทางข้อมูลเชิงลึกใหม่ๆ ซึ่งรัฐบาลกำลังใช้ AI เพื่อรวบรวมข้อมูลที่เกิดขึ้นใหม่และเพิ่มคุณค่าให้กับข้อมูลเดิมที่มีอยู่ แต่เพื่อให้เกิดผลกระทบอย่างแท้จริง ข้อมูลเชิงลึกแบบเรียลไทม์ชุดใหม่จะต้องนำไปปฏิบัติเป็นแนวทางการทำงาน
และภาครัฐฯ จะต้องสามารถจัดทำผังการไหลเวียนของข้อมูล เปลี่ยนข้อมูลนั้นให้เป็นข้อมูลเชิงลึก ทั้งต้องเข้าใจว่าข้อมูลเชิงลึกนั้นส่งผลต่อการตัดสินใจอย่างไร และเปลี่ยนสิ่งนั้นให้เป็นการกระทำที่จับต้องได้