ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือยุคแห่งเทคโนโลยี ที่หลายประเทศทั่วโลกต่างก็ต้องดำเนินไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน โดยเฉพาะนโยบายด้านดิจิทัลของรัฐบาล และหนึ่งในหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมาก หนีไม่พ้น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Ministry of Digital Economy and Society) หรือ DES ที่จะบ่งชี้ได้ถึงศักยภาพการแข่งขันของประเทศด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีในเวทีโลก
แต่เดิมกระทรวงดิจิทัลฯ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2545 ในชื่อ “กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร” และในปี 2559 ก็ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างเช่นปัจจุบัน ตาม พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 17) มีอำนาจหน้าที่หลักๆ เกี่ยวกับการวางแผน ส่งเสริม และพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล
โดยเศรษฐกิจดิจิทัลคือการนำนวัตกรรม เทคโนโลยี เข้ามายกระดับเศรษฐกิจ ซึ่งกระทรวงดิจิทัลฯ มีบทบาทในการวางนโยบายและออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาด้านต่างๆ ตั้งแต่ด้านดิจิทัล ระบบสถิติ อุตุนิยมวิทยา และกำกับดูแลในเรื่องการใช้เทคโนโลยีอย่างปลอดภัย
ข้อมูลจากเว็บไซต์ของกระทรวงดิจิทัลฯ เผยแพร่ทำเนียบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงตั้งแต่เริ่มก่อตั้งไว้ ดังนี้
สำหรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ คนปัจจุบัน คือ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ กับภารกิจในการแจ้งปิดกั้นแอปฯ Digital Wallet จากมิจฉาชีพที่ฉวยโอกาสลวงประชาชนเพื่อรับเงินดิจิทัล 10,000 บาท อีกทั้งร้องศาลปิดเฟซบุ๊ก หลังปล่อยให้กลุ่มมิจฉาชีพซื้อโฆษณา สร้างความเสียหายให้กับคนไทยกว่าแสนล้านบาท
นอกจากนี้ภายใต้กระทรวงดิจิทัลฯ ยังมีหน่วยงานในสังกัดอีก 4 แห่ง ได้แก่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
สำหรับผลงานที่โดดเด่นของกระทรวงดิจิทัลฯ มีหลายโครงการที่ผลักดันให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะการสนับสนุนด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี แต่ที่กลายเป็นภาพจำกับคนไทยที่หลายคนน่าจะรู้จักนั่นก็คือการก่อตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake News Center) เมื่อปี 2562 เพื่อตรวจสอบและกำจัดข่าวปลอมในโลกออนไลน์ ที่มีผลกระทบกับประชาชนเป็นวงกว้าง อย่างเช่น ข้อมูลด้านโรคระบาด ภัยพิบัติ ข่าวสร้างความแตกแยกในสังคม ข่าวทำลายภาพลักษณ์ประเทศ
นอกจากนี้ยังมีสํานักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ดำเนินงานด้านการส่งเสริมและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA
ขณะเดียวกันก็มีการทำงานส่งเสริมสตาร์ทอัพผ่านสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Depa) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัด โดยมุ่งสนับสนุนให้สตาร์ทอัพปรับใช้เทคโนโลยีเชิงลึก และสร้างการแข่งขันในระดับนานาชาติ
สำหรับว่าที่รัฐบาลใหม่ซึ่งนำโดยพรรคเพื่อไทย ที่คาดว่าจะได้ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง นั่งตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลฯ นั้น ทางพรรคก็มีนโยบายในการใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนการทำงานหลายด้านด้วยกัน
ตั้งแต่นโยบายรัฐบาลดิจิทัลเพื่อประชาชน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและลดช่องทางการคอร์รัปชันด้วย Smart Contract พร้อมสร้าง One Stop Service รวมบริการภาครัฐอยู่บนแพลตฟอร์มเดียว
นอกจากนี้ทางพรรคเพื่อไทยยังสนับสนุนสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC) โดยร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย พัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับคนไทย ยกระดับการเงินของประเทศ รองรับเศรษฐกิจดิจิทัล
ขณะเดียวกันก็มีนโยบายเดินหน้าจัดการกับอาชญากรรมไซเบอร์ ที่แพร่ระบาดอย่างหนักในขณะนี้ โดยวางระบบป้องกัน และร่วมกับธนาคารในการส่งข้อมูลกลโกงเพื่อการอัปเดตได้ทันท่วงที ป้องกันการสูญเสียที่อาจจะเกิดกับประชาชนในอนาคต
สำหรับด้านเทคโนโลยี ทางพรรคมีนโยบายที่มุ่งพัฒนาบล็อกเชนเพื่อเป็นพื้นฐานให้เทคโนโลยีการเงินไทยเติบโตสู่การเป็น Blockchain Hub และ Fintech Center ของอาเซียน และจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับเหล่า SME และสตาร์ทอัพไทย.