ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาอาวุโส สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) กล่าวว่า ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) เป็นเทคโนโลยีที่มีบทบาทต่อทุกกิจกรรม ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญและเร่งพัฒนานโยบายเพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันประเทศไทยมี “แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565- 2570)” ที่เป็นกรอบในการดำเนินงานของทุกภาคส่วนเพื่อส่งเสริมให้ประเทศเกิดประยุกต์ใช้ AI อย่างมีประสิทธิภาพ
ภายใต้แผน AI นี้ ได้มีการประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจในอาเซียนในปี 2030 ไว้ที่ 1.9 พันล้านล้านบาท และคาดว่าแผนดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ในประเทศ ตั้งแต่การสนับสนุกจากภาครัฐที่กระจัดกระจายและไม่เพียงพอ การขาดศูนย์กลางและความพร้อมในการใช้ AI พร้อมลดภาวะการขาดแคลนกำลังคนด้านดิจิทัลและ AI
ดร.กัลยา อุดมวิทิต รักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวถึงผลการศึกษาความพร้อมในการประยุกต์ใช้ AI สามารถคาดการณ์ได้ว่าในอนาคตองค์กรในประเทศไทยจะมีนำ AI มาประยุกต์ใช้เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วแน่นอน ทั้งนี้ องค์กรที่มีการประยุกต์ใช้งาน AI มีเป้าหมายสำคัญ 3 อันดับแรก ได้แก่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตหรือการให้บริการขององค์กร เพื่อใช้ในการบริหารจัดการภายในองค์กร และ เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่องค์กร ตามลำดับ
นอกจากนี้ผลการสำรวจยังพบว่า องค์กรที่มีการนำ AI มาใช้งานแล้ว มีความพร้อมอยู่ในระดับ “Aware” ซึ่งหมายถึง องค์กรมีความตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยี AI และเริ่มนำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้ในองค์กร
โดยเมื่อพิจารณาแยกลงไปในแต่ละด้านพบว่า ด้านที่มีความเข้มแข็งมากที่สุด คือ
ด้านข้อมูลและโครงสร้างพื้นฐาน (ประกอบด้วย รูปแบบและคุณภาพของข้อมูล และ โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่จำเป็นต่อการใช้งาน AI) โดยกลุ่มที่มีความพร้อมอยู่ในระดับต้นๆ ได้แก่ กลุ่มการเงินและการค้า กลุ่มการใช้งานและบริการภาครัฐ และ กลุ่มการศึกษา
ทั้งนี้ การที่หน่วยงานมีความพร้อมโดยเฉพาะในด้านข้อมูลสูง สาเหตุหนึ่งมาจากในห้วงเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความตื่นตัวในเรื่องของ Big Data และเห็นความสำคัญของการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ในมุมมองต่างๆ ตามที่องค์กรให้ความสนใจ สำหรับด้านที่มีคะแนนเฉลี่ยในระดับรองลงมาได้แก่ ด้านยุทธศาสตร์และความสามารถขององค์กร ด้านธรรมาภิบาล ด้านบุคลากร และด้านเทคโนโลยี ตามลำดับ
อย่างไรก็ตามประเทศไทยได้มีส่วนการประยุกต์ใช้ AI ที่ได้เกิดขึ้นแล้ว ก็คือด้านการแพทย์ โดยใช้ Computer Vision และ Image processing ในการตรวจสอบข้อมูลจากภาพ เช่น ค้นหาเครื่องมือผ่าตัด ช่วยในการวินิจฉัยของแพทย์ และ Signal Processing ในการจับสัญญาณของคนไข้ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลประกอบการรักษา รวมไปถึง Data Analytic เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมคนไข้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัยของแพทย์ ลดระยะเวลาในการรักษา และลดความหนาแน่นในโรงพยาบาล
ในด้านการเงินและการค้า ก็สามารถใช้เทคโนโลยี Computer Vision และ Image processing สำหรับตรวจสอบข้อมูล อ่านข้อมูลในรูปแบบต่างๆ และแปลงเป็นข้อมูลดิจิทัล ทั้งยังสามารถใช้เทคโนโลยีในการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า ให้สถาบันการเงินประเมินการขอสินเชื่อและความเสี่ยงของลูกค้าได้
สำหรับองค์กรที่ปัจจุบันยังไม่มีการนำ AI มาประยุกต์ใช้ในองค์กร ได้ให้เหตุผลที่น่าสนใจ 3 อันดับแรก ได้แก่
(1) ยังอยู่ในช่วงของการศึกษาข้อมูล เนื่องจากยังไม่ทราบว่าจะนำ AI มาประยุกต์ใช้อย่างไร
(2) คิดว่าอาจยังไม่มีความจำเป็นในการนำ AI มาใช้
(3) องค์กรยังขาดความพร้อมและต้องการการสนับสนุนในด้านต่างๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน บุคลากร และงบประมาณ เป็นต้น
จากผลการสำรวจดังกล่าว นำมาสู่ข้อเสนอแนะเพื่อเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ได้แก่
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ในฐานะผู้ช่วยเลขาคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติฯ กล่าวว่า ผลการศึกษาครั้งนี้จะเป็นข้อมูลสำคัญในการสนับสนุนการจัดทำแผนการดำเนินการเพื่อส่งเสริมและพัฒนา AI ในระยะถัดไป (ปี 2567) ให้เป็นไปอย่างตรงเป้าหมายมากขึ้น ตามยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ด้านในแผนฯ ได้แก่ ด้านจริยธรรมและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ด้านโครงสร้างพื้นฐานและข้อมูลสำหรับ AI ที่เน้นพัฒนา AI Service Platform ด้านการพัฒนากำลังคน เพื่อเพิ่มผู้เชี่ยวชาญและวิศวกรด้าน AI ให้เพียงพอต่อการเติบโต ด้านวิจัยและพัฒนา ด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้งาน AI