ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ทำให้ตลาดการแข่งขันเปิดกว้างมากขึ้น บริษัทที่ทำธุรกิจแบบเก่าจะถูกดิสรัปและแทนที่มากขึ้น และในโลกใบใหม่นี้บริษัทเทคโนโลยี หรือนำเทคโนโลยีมาเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจก็ได้กลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลตัวจริงของอุตสาหกรรม Thairath Money รวบรวม 6 บริษัทใหญ่ในตลาดหุ้นไทยที่ประกาศวิสัยทัศน์เปลี่ยนตัวเองก้าวสู่ Tech Company มาดูกันว่าแต่ละบริษัทมีการปรับตัวอย่างไรกันบ้าง
SCG
บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG กลุ่มบริษัทชั้นนำในอาเซียน เติบโตอย่างมั่นคงเข้าสู่ปีที่ 109 ด้วยความสามารถปรับตัวทางธุรกิจ และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อพัฒนานวัตกรรมสินค้า บริการ ปัจจุบัน ประกอบด้วย 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ธุรกิจเคมิคอลส์ และ SCGP (ธุรกิจแพ็กเกจจิ้ง)
SCG ถือเป็นบริษัทแรกๆ ที่ปรับตัวเป็นองค์กรนวัตกรรม ทุ่มงบประมาณในเรื่อง R&D เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ แต่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป เทคโนโลยีรวมถึงโมเดลธุรกิจใหม่ๆ มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว การลงทุนในการวิจัยและพัฒนานั้นไม่เพียงพอ บริษัทจึงเริ่มทำ Digital Transformation ให้กับทุกกลุ่มธุรกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในสภาพแวดล้อมใหม่ๆ
ตลอดหลายปีที่ผ่านมาเอสซีจีได้เตรียมงบประมาณด้านการลงทุนเรื่องนวัตกรรรมในแต่ละปีไว้ประมาณ 1% ของยอดขาย โดยมีแนวทางการปรับเปลี่ยนองค์กรสู่ดิจิทัลด้วยการเปิดรับนวัตกรรมภายนอกผ่านการจัดตั้งบริษัทที่เป็น Corporate Venture Capital เพื่อร่วมลงทุนและสร้างความร่วมมือกับสตาร์ทอัพทั้งในไทยและต่างประเทศ การบ่มเพาะสตาร์ทอัพภายในองค์กรด้วยการจัดตั้งสตูดิโอสตาร์ทอัพ ผลักดันให้พนักงานต่อยอดหรือสร้างธุรกิจใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อลูกค้า รวมถึงการใช้ AI และ Machine learning มาวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ
และเมื่อเดือนเมษายน 2562 ได้จัดตั้งหน่วยงานพิเศษ ที่เป็น Digital Office หรือที่รู้จักกันในชื่อ WEDO เพื่อทำ Digital Transformation ให้กับธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ยกระดับธุรกิจสู่ Experience Economy หรือเศรษฐกิจยุคประสบการณ์เพื่อสนองความต้องการลูกค้าในทุก ๆ ด้าน
สำหรับปีนี้ SCG เปิดเผยว่า กำลังเดินหน้าสู่การเป็นเทคคอมพานี โดยใช้นวัตกรรมเข้ามาสร้างการเติบโตให้กับบริษัทเพื่อพัฒนาให้บริการของบริษัทให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยจะนำเทคโนโลยีมาใช้ใน 2 ส่วนหลัก คือ เอาเข้ามาช่วยลดต้นทุนและเพิ่มคุณภาพในธุรกิจเดิมที่มีอยู่ รวมถึงคิดค้นบริการด้านเทคโนโลยีขึ้นมาใหม่เลยภายใต้กลุ่มลูกค้าเดิม จากเดิมที่ดูแลบ้าน จะหันมาดูแลชีวิตในบ้านของลูกค้า ด้วยการใช้เทคโนโลยี เพื่อลดต้นทุนและให้บริการได้ดีขึ้น
KBANK
ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเก่ียวเนื่อง แต่พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้บริการ Digital Banking เติบโตแบบก้าวกระโดด ธนาคารเล็งเห็นถึงความสำคัญ จึงประกาศจัดตั้งกสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) ขึ้นเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2559 โดยเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่มุ่งคิดค้นนวัตกรรมร่วมกับพันธมิตรทางเทคโนโลยี และให้การสนับสนุน FinTech และ Tech Startup เพื่อสร้างนวัตกรรมทางการเงินให้กับบริษัทแม่ธนาคารกสิกร ด้วยงบประมาณปีละ 5,000 ล้านบาท
ต่อมาในปี 2563 KBTG ประกาศวิสัยทัศน์ Beyond The Future Day 2020 ตั้งเป้า 5 ปีข้างหน้า เป็นหนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในอาเซียน ด้วยการทำทรานส์ฟอร์เมชั่นภายใต้แนวคิด "วันเคบีทีจี" (One KBTG) โดยมีแกนสำคัญ ในการปฏิรูปวัฒนธรรมองค์กร การปฏิรูปกระบวนการทำงาน และให้พนักงานมีส่วนร่วมในบริษัท ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนให้บริษัทแม่ก้าวขึ้นเป็นเทคคอมพานีได้ในที่สุด
เพื่อให้เป้าหมายเกิดขึ้นจริง ล่าสุดเมื่อปี 2565 KBTG ได้ประกาสแนวคิด 'Human First, Universe of Technology' โดยใช้ความเชี่ยวชาญและความคิดสร้างสรรค์ของชาว KBTG มาขับเคลื่อนนวัตกรรมรูปแบบต่างๆเพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในอาเซียน ด้วยความพร้อม 3 ด้าน ได้แก่
1. การพัฒนาบุคลากร ด้วยการจัดกิจกรรมให้ความรู้เพื่ออัปสกิลบุคลากรในวงการไอทีอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งเปิดรับพนักงานที่มีทักษะความสามารถทั้งด้าน Dev, Data, Design รวมถึงสาย DeFi, Blockchain เพื่อบุกเบิกบริการใหม่
2. การพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยี ด้วยการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีให้สอดคล้องกับเทรนด์การใช้งานทั้งโลกบริการทางการเงินปัจจุบันและโลกอนาคต ด้วยงบประมาณการลงทุนมากกว่า 10,000 ล้านบาท
3. ยกระดับขีดความสามารถทางนวัตกรรม เผยโฉม KBTG Labs หน่วยงานที่รวมพลคนมีความรู้ด้านธุรกิจและผลิตภัณฑ์ การออกแบบ UX/UI และการทำวิจัยด้านเทคโนโลยี
SCB
บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นบริษัทใหญ่ของกลุ่มธุรกิจทางการเงิน ดำเนินธุรกิจในลักษณะโฮลดิ้ง คอมพานี (Holding Company) เข้าถือหุ้นในบริษัทอื่นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการมีอำนาจควบคุมกิจการในบริษัทอื่น และมองหาโอกาสการลงทุน และจัดสรรเงินลงทุนที่จะสร้างการเติบโตให้กลุ่มธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
การมาถึงของ decentralized finance technology นำมาซึ่งการขยายตัวของแพลตฟอร์มระดับโลก ที่เริ่มเข้าสู่ธุรกิจการเงิน ทำให้ความสำคัญของธนาคารต่อผู้บริโภคลดลงและจะส่งผลลบต่อการให้มูลค่าอนาคตของนักลงทุนต่อธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิม
เพื่อปรับตัวให้ทันต่อการ disrupt ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ประกาศแผนปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า "ยานแม่" โดยปรับโครงสร้างจากธนาคารไปสู่บริษัทโฮลดิ้งในนาม "กลุ่มเอสซีบี เอกซ์" (SCBX Group)
และนำบริษัท SCBX เข้าตลาดหลักทรัพย์แทน SCB เดิม เพื่อเพิ่มความคล่องตัวและเร่งขยายธุรกิจเชิงรุกเข้าสู่ธุรกิจการเงินและแพลตฟอร์มอย่างเต็มรูปแบบ มุ่งสู่เป้าหมายการเป็น "บริษัทเทคโนโลยีทางการเงินระดับภูมิภาค" ที่จะสร้างมูลค่าของบริษัทจากธุรกิจใหม่ให้มีมูลค่าตลาด (Market Cap) 1 ล้านล้านบาท ภายใน 3-5 ปี และสร้างฐานลูกค้าให้ได้ถึง 200 ล้านคน
ตลอดปี 2565 ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวออกมาต่อเนื่องตามแผนปรับโครงสร้าง เพื่อวางแนวทางสร้างธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงินและแพลตฟอร์มของกลุ่ม SCBX ตามที่ประกาศยุทธศาสตร์เอาไว้ ทั้งการเปิดตัวบริษัทใหม่ๆ ในฐานะยานลูกกว่าสิบแห่ง และการเข้าลงทุนที่มุ่งเน้นในด้านเทคโนโลยี จนกระทั่งเปลี่ยนเป็น SCBX อย่างเป็นทางการเมื่อ 27 เมษายน 2565
TRUE
บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยี ที่มีผู้ใช้งานบริการมือถือมากเป็นอันดับสองของประเทศ แต่ในช่วงหลายปีมานี้ภาพรวมอุตสาหกรรมโทรคมนาคมได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเปิดโอกาสให้ผู้เล่นหน้าใหม่จากอุตสาหกรรมดิจิทัล เข้ามาดิสรัปธุรกิจโทรคมนาคมแบบเดิม ด้วยการเสนอบริการการสื่อสารรูปแบบดิจิทัลที่ไม่ต้องมีค่ายมือถือเป็นตัวกลางในการส่งสัญญาณ และการอิ่มตัวของโมเดลธุรกิจโทรคมนาคมแบบเดิมที่ไม่สามารถเพิ่มมูลค่าได้อีกต่อไป
การปรับโครงสร้างไปเป็นบริษัทเทคโนโลยีจึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมดำเนินธุรกิจต่อไปได้ท่ามกลางการแข่นขันที่ดุเดือดในยุคดิจิทัล
ทำให้เมื่อวัน 22 พฤศจิกายน 2564 เครือซีพีและกลุ่มเทเลนอร์ ประกาศควบรวม TRUE และ DTAC และร่วมกันจัดตั้งบริษัทใหม่ ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นการปรับโครงสร้างทางธุรกิจโทรคมนาคมใหม่ เพื่อก้าวสู่การเป็นเทคคอมพานี
โดยมีเป้าหมายในการสร้างอีโคซิสเท็มด้านการลงทุนในทุกมิติ ทั้งดิจิทัลมีเดียแพลตฟอร์ม คลาวด์ เทคโนโลยี ระบบนิเวศด้านการลงทุน และจัดตั้งกองทุนวงเงิน 200 ล้านเหรียญสหรัฐ (7,300 ล้านบาท) เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ และเทคสตาร์ทอัพไทย รวมถึงเทคสตาร์ทอัพที่ตั้งอยู่ในไทยด้วย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีระดับภูมิภาคและระดับโลกต่อไป
ธุรกิจใหม่ที่จะเกิดขึ้นจากการควบรวมครั้งนี้ ได้แก่ ปัญญาประดิษฐ์ ระบบคลาวด์ เทคโนโลยี IOT อุปกรณ์อัจฉริยะ เมืองอัจฉริยะ และดิจิทัลมีเดียโซลูชัน
WHA Group
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้นำในการให้บริการแบบครบวงจรที่ครอบคลุมทุกความต้องการของลูกค้าในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการด้านโลจิสติกส์ โดยสามารถจำแนกส่วนธุรกิจได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจพัฒนาและบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ (Logistics Hub) ธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรม (Industrial Development Hub) ธุรกิจให้บริการสาธารณูปโภคและพลังงาน (Utilities & Power Hub) และธุรกิจให้บริการด้านดิจิทัล (Digital Platform Hub)
โดยบริษัทได้เริ่มทำ Digital transformation ตั้งแต่ปี 2564 และได้จัดตั้งบริษัท ดับบลิวเอชเอ ดิจิทัล จำกัด ในปี 2565 เพื่อพัฒนาโครงการ และดำเนินงานด้านดิจิทัล (Digital Initiatives) โดยก้าวต่อไปของการทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัล คือ การใช้เทคโนโลยีเพื่อหาแหล่งรายได้ใหม่ๆ จากผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นนวัตกรรมใหม่และใช้ข้อมูลเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน เพื่อไปสู่เป้าหมายที่จะก้าวเป็นบริษัทเทคโนโลยีให้ได้ภายในปี 2567
ทำให้ปีนี้ได้ประกาศภารกิจ Mission to the sun เพื่อปรับเปลี่ยนองค์กรสู่เทคคอมพานี (Technology Company) ซึ่งจะประกอบไปด้วย 9 โครงการ ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ บริการใหม่ๆ ความพึงพอใจให้กับลูกค้า พัฒนาองค์กร และบุคลากรของบริษัท เช่น โครงการ Green Logistics, Digital Assets (Metaverse), Digital Health Tech, Circular
JMART
บริษัท เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JMART ปัจจุบันมีสถานะเป็นโฮลดิ้ง คอมพานี (Holding Company) โดยมีธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจจัดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์เสริมและแก็ดเจ็ต โดยมีร้านค้ามากกว่า 300 แห่งทั่วประเทศ และได้มีการพัฒนาจากบริษัทค้าปลีกสู่การเป็น Technology Investment Holding Company โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากความชื่นชอบในธุรกิจซิงเกอร์ (Singer) จึงเข้าไปถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 24.99% ในบริษัท ซิงเกอร์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อปี 2558 หลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ได้ใช้เวลา 3 ปี ในการอัปเกรดระบบหลังบ้านโดยนำ POS และ ERP เข้ามาใช้ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนจากระบบอนาล็อกมาสู่ระบบดิจิทัลเต็มรูปแบบ
ทำให้ในปี 2559 เจ มาร์ท ได้ปรับโครงสร้างจากบริษัทค้าปลีกมาเป็น Investment Holding Company โดยมีเจมาร์ท โมบาย เป็นธุรกิจหลัก เพราะเล็งเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงต้องการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินทุกกลุ่มธุรกิจ
ต่อมาจึงได้ก่อตั้ง บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด (J VENTURE) ในปี 2560 โดยเป็นผู้พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่มุ่งเน้นการทำ Digital Transformation ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น Blockchain, NFT, Metaverse เข้ามาช่วยขับเคลื่อนสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ
สำหรับปี 2565 วางกลยุทธ์ทรานส์ฟอร์มธุรกิจจาก Investment Holding Company เป็น Technology Investment Holding Company อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจะผลักดันให้กำไรเติบโตไม่ต่ำกว่า 50% ตามเป้าหมาย โดยจะเน้นการสร้าง Synergy ในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกและการเงินที่มีเทคโนโลยีและ Blockchain และ Big Data เป็นหัวใจสำคัญในการผลักดันการเติบโต