กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF กำลังปรับแนวทางเกี่ยวกับคริปโตเคอร์เรนซี่ โดยเฉพาะ “บิตคอยน์” (Bitcoin) ออกคู่มือดุลการชำระเงินฉบับใหม่ (Balance of Payments Manual) เป็นฉบับที่ 7 หรือ BPM7 มีรายละเอียดจัดให้ Bitcoin และคริปโตฯ ที่ไม่มีภาระผูกพันทางการเงิน เช่น ไม่มีผู้ออกตราสารรองรับ (Issuer) และถูกออกแบบให้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน จะถูกจัดเป็น “สินทรัพย์ที่ไม่มีการผลิตและไม่ใช่สินทรัพย์ทางการเงิน” (Non-Produced Non-Financial Assets) ซึ่งจะถูกบันทึกไว้ใน บัญชีทุน (Capital Account) ต่างจากคริปโตฯ ที่มีภาระผูกพันทางการเงิน อย่างเช่น Stablecoin ซึ่งจะถูกจัดเป็น สินทรัพย์ทางการเงิน (Financial Assets)
นอกจากนี้ยังให้คำจำกัดความของ “เครื่องมือที่ใช้ในการชำระเงิน” (Means of Payment) ซึ่งรวมถึงเงินสด เช็ค บัตรเดบิต/เครดิต และสินทรัพย์ดิจิทัลบางประเภท เช่น Stablecoin อย่างไรก็ตาม Bitcoin แม้จะถูกออกแบบมาเพื่อใช้เป็น “สื่อกลางในการแลกเปลี่ยน” (Medium of Exchange) แต่ไม่ได้ถูกนับเป็นเงินในเชิงบัญชีของ IMF และยังถูกจัดอยู่ในหมวดสินทรัพย์ที่ไม่มีการผลิต
สำหรับคู่มือ BPM7 เป็นมาตรฐานใหม่สำหรับการจัดทำสถิติเศรษฐกิจภาคต่างประเทศ ครอบคลุม ดุลการชำระเงิน (Balance of Payments - BOP) และสถานะการลงทุนระหว่างประเทศ (International Investment Position - IIP) โดยได้รับการออกแบบให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก ไม่ว่าจะเป็น การเชื่อมโยงระหว่างประเทศที่มากขึ้น การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล และนวัตกรรมทางการเงิน
ขณะที่สินทรัพย์คริปโตที่มีหนี้สินที่เกี่ยวข้องจะถูกจัดประเภทเป็น “สินทรัพย์ทางการเงิน” (Financial Assets)
สำหรับสินทรัพย์คริปโตฯ ที่ไม่มีภาระผูกพันทางการเงินจะจัดเป็น “สินทรัพย์ที่ไม่ถูกผลิตหรือมีภาระผูกพันทางการเงิน” (Non-Produced Non-Financial Assets) ตัวอย่างเช่น Bitcoin, Ethereum (บางประเภท), และคริปโตอื่น ๆ ที่ไม่มีผู้ออก (Issuer)
ซึ่งเหตุผลที่จัดหมวดหมู่นี้ เนื่องจากบิตคอยน์และคริปโตฯ ประเภทนี้ไม่มีหนี้สินหรือภาระผูกพันทางการเงิน เชื่อมโยงกับบุคคลหรือองค์กรใด ๆ ไม่มีผู้ออกเหรียญ (Issuer) และไม่ได้มีสินทรัพย์หรือมีมูลค่าหนุนหลัง
และแม้ว่าจะใช้เป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยน แต่ไม่มีสถานะเป็นเงินตราในเชิงบัญชีโดยสินทรัพย์ประเภทนี้ไม่ถูก “ผลิต” โดยกระบวนการเศรษฐกิจปกติ (เช่นเดียวกับทองคำที่ถูกขุดขึ้นมา) จึงถือเป็น “สินทรัพย์ที่ไม่มีการผลิต” เช่นเดียวกับสิทธิในที่ดินหรือทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติหรือกระบวนการทางสังคม
เนื่องจากสินทรัพย์คริปโตฯ ที่ไม่มีหนี้สินที่เกี่ยวข้องและถูกออกแบบให้ใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน ถูกจัดประเภทเป็นสินทรัพย์ที่ไม่ใช่ทางการเงินและไม่ได้เกิดจากการผลิต ดังนั้น ธุรกรรมที่มีการชำระเงินด้วยสินทรัพย์คริปโตฯ ประเภทนี้จะถือเป็นธุรกรรมแบบแลกเปลี่ยน หรือ Barter Transactions นั่นเอง
ที่มา: IMF
ติดตามเพจ Facebook: Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney