ก.ล.ต. มีคำสั่งให้ Bitkub อนุมัติ KUB ในศูนย์ซื้อขายให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์

Tech & Innovation

Digital Assets

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ก.ล.ต. มีคำสั่งให้ Bitkub อนุมัติ KUB ในศูนย์ซื้อขายให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์

Date Time: 1 ก.ค. 2565 07:43 น.

Video

บัญชีม้า เกลื่อนเมือง คนไทยอยู่อย่างไร ใครต้องรับผิดชอบ ? | Money Issue

Summary

  • บอร์ด ก.ล.ต. มีคำสั่งให้ Bitkub แก้ไขการคัดเลือกและอนุมัติเหรียญ KUB เข้ามาซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ให้เป็นไปตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

Latest


บอร์ด ก.ล.ต. มีคำสั่งให้ Bitkub แก้ไขการคัดเลือกและอนุมัติเหรียญ KUB เข้ามาซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ให้เป็นไปตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มติคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 7/65 เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 65 ที่ผ่านมาอาศัยอำนาจตามมาตรา 35 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 หรือ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ มีคำสั่งให้ บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด หรือ Bitkub แก้ไขการคัดเลือกและอนุมัติเหรียญ KUB ในการเข้ามาซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ ศูนย์ซื้อขายฯ ของ Bitkub ภายใน 30 วัน นับแต่วันนี้ (1 ก.ค. 65)

ทั้งนี้ ให้ Bitkub ประสานกับบริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี จำกัด หรือ BBT ซึ่งเป็นผู้ออกเหรียญ KUB โดยให้ BBT แก้ไขมาตรฐานเทคโนโลยีของโปรเจกต์ของเหรียญ KUB ให้เป็นไปตามคะแนนที่ Bitkub ได้พิจารณาไว้เมื่อวันที่ 5 พ.ค.64 และให้ Bitkub แสดงหลักฐานอย่างชัดเจนต่อ ก.ล.ต. ว่า มาตรฐานเทคโนโลยีของโปรเจกต์ของเหรียญ KUB เป็นไปตามคะแนนที่ Bitkub ได้พิจารณาไว้

สืบเนื่องจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 64 Bitkub ได้พิจารณาอนุมัติเหรียญ KUB เข้ามาให้บริการซื้อขายในศูนย์ซื้อขายฯ ของ Bitkub โดยที่เหรียญ KUB มีคุณสมบัติไม่ถึงเกณฑ์ที่จะได้รับอนุมัติเข้ามาซื้อขายตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ Listing Rule ของ Bitkub ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต.

โดย ก.ล.ต. ได้ตรวจสอบการคัดเลือกเหรียญ KUB แล้ว พบว่า Bitkub มีการให้คะแนนการคัดเลือกเหรียญ KUB เพื่ออนุมัติให้เข้ามาซื้อขายในศูนย์ซื้อขายฯ ของ Bitkub ไม่เป็นไปตาม Listing Rule ของ Bitkub ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. โดย Bitkub ให้คะแนนในเรื่องมาตรฐานเทคโนโลยีของโปรเจคในระดับที่ "สูงกว่ามาตรฐานและไม่เคยมีมาก่อน" แต่ไม่ปรากฏหลักฐานและเอกสารที่แสดงให้เห็นว่า เหรียญ KUB มีเทคโนโลยีดังกล่าวอยู่จริง

นอกจากนี้ Bitkub ยังให้คะแนนในหัวข้อการระดมทุนและหัวข้อส่วนลด Pre-ICO Sale ที่ไม่สอดคล้องกับลักษณะของเหรียญ KUB ด้วย จึงทำให้ ก.ล.ต. เห็นว่า คะแนนการคัดเลือกเหรียญ KUB โดยรวมไม่ถึงเกณฑ์ที่จะอนุมัติเข้ามาซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลได้

ลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด กรณีสร้างปริมาณเทียมสินทรัพย์ดิจิทัล

นอกจากนี้ ก.ล.ต. พบเหตุสงสัยว่าอาจมีการสร้างปริมาณเทียมในศูนย์ซื้อขาย Bitkub จึงได้ตรวจสอบโดยพบการกระทำเข้าข่ายเป็นความผิดของบุคคล 3 ราย ได้แก่ 1. บริษัท บิทคับ 2. นายอนุรักษ์ เชื้อชัย ร่วมกันในการส่งคำสั่งซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล อันเป็นการทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับปริมาณการซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลในศูนย์ ซื้อขาย Bitkub และ 3. นายสกลกรย์ สระกวี ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้มีอำนาจจัดการของบริษัทบิทคับ สั่งการ หรือกระทำการหรือไม่สั่งการหรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำ เป็นเหตุให้บริษัทบิทคับกระทำความผิดดังกล่าว

บริษัทบิทคับ โดยนายสกลกรย์ ได้ทำสัญญากับนายอนุรักษ์ให้นายอนุรักษ์ทำหน้าที่ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) ในศูนย์ซื้อขาย Bitkub และได้ให้นายอนุรักษ์ยืมเงินเพื่อใช้ในการทำหน้าที่ดังกล่าว ซึ่งจากการตรวจสอบของ ก.ล.ต. พบว่า ในเดือน ก.พ.62 นายอนุรักษ์ได้ส่งคำสั่งจับคู่ซื้อขายเหรียญคริปโตเคอร์เรนซี จำนวน 4 เหรียญ ได้แก่ Bitcoin (BTC), Bitcoin Cash (BCH), Ethereum (ETH) และ Ripple (XRP)

โดยเป็นการจับคู่ซื้อขายกันเองในบัญชีซื้อขายเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีของตนเองในศูนย์ซื้อขาย Bitkub ซึ่งการจับคู่ซื้อขายกันเองในแต่ละเหรียญดังกล่าว มีสัดส่วนตั้งแต่ร้อยละ 84-99 ของปริมาณการซื้อขายทั้งหมดของนายอนุรักษ์ และตั้งแต่ร้อยละ 57-99 ของปริมาณการซื้อขายรวมทั้งตลาด โดยบริษัทบิทคับและนายสกลกรย์รับทราบถึงการจับคู่ซื้อขายกันเองในบัญชีซื้อขายของนายอนุรักษ์ แต่ไม่ได้มีการทักท้วงการส่งคำสั่งซื้อขายเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีของนายอนุรักษ์ดังกล่าว

การกระทำของบริษัทบิทคับและนายอนุรักษ์เป็นความผิดฐานส่งคำสั่งซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล อันเป็นการทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับปริมาณการซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลตามมาตรา 46(1) ประกอบมาตรา 48(2)(3) แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดฉบับเดียวกัน เป็นความผิด 4 กระทง (นับตามจำนวนเหรียญ)

ส่วนการกระทำของนายสกลกรย์ เป็นความผิดในฐานะเป็นบุคคลที่รับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทบิทคับ สั่งการ หรือกระทำการหรือไม่สั่งการหรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำ เป็นเหตุให้บริษัทบิทคับกระทำความผิดในกรณีข้างต้น ซึ่งต้องรับโทษเดียวกันตามมาตรา 94 ประกอบมาตรา 46(1) ประกอบมาตรา 48(2)(3) แห่ง พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดฉบับเดียวกัน เป็นความผิด 4 กระทง (นับตามจำนวนเหรียญ)

คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับผู้กระทำความผิดทั้ง 3 ราย โดยกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่ง ได้แก่ ค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด มาตรการห้ามซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล และมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัล หรือผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ดังนี้

1. ให้บริษัทบิทคับ ชำระค่าปรับทางแพ่งขั้นสูงสุดตามกฎหมายและชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 8,053,764 บาท

2. ให้นายอนุรักษ์ ชำระค่าปรับทางแพ่งขั้นสูงสุดตามกฎหมายและชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 8,053,764 บาท กำหนดมาตรการห้ามซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นเวลา 6 เดือน และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา 12 เดือน

3. ให้นายสกลกรย์ ชำระค่าปรับทางแพ่งขั้นสูงสุดตามกฎหมายและชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 8,053,764 บาท และให้นายสกลกรย์ร่วมรับผิดในมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ดำเนินการกับบริษัทบิทคับอย่างลูกหนี้ร่วมตามมาตรา 99 แห่ง พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ประกอบมาตรา 317/11 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ที่แก้ไขเพิ่มฉบับที่ 5 พ.ศ. 2559 นอกจากนี้ ค.ม.พ. ได้กำหนดมาตรการห้ามซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นเวลา 6 เดือน

รวมถึงห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา 12 เดือนการกำหนดระยะเวลาห้ามซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินทรัพย์ดิจิทัลและการกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารดังกล่าวข้างต้นจะมีผลนับตั้งแต่วันที่ผู้กระทำความผิดลงนามในบันทึกการยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด

หากผู้กระทำความผิดไม่ยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด ก.ล.ต. จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเพื่อกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งในอัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติโดยไม่ต่ำกว่าอัตราที่ ค.ม.พ. กำหนด


ทั้งนี้ เงินค่าปรับทางแพ่งที่ได้รับจากการกระทำความผิดเป็นรายได้แผ่นดินที่นำส่งกระทรวงการคลัง


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ