KBank อัดฉีด บีคอน วีซี 1.2 พันล้าน ตั้ง Impact Fund ลงทุนเพื่อโลก หลังสร้าง IRR เกินเป้า 1.5 เท่า

Sustainability

Green Finance

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

KBank อัดฉีด บีคอน วีซี 1.2 พันล้าน ตั้ง Impact Fund ลงทุนเพื่อโลก หลังสร้าง IRR เกินเป้า 1.5 เท่า

Date Time: 1 มี.ค. 2566 10:34 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • บีคอน วีซี ในเครือ KBank ตั้ง Impact Fund ลงทุน 1,200 ล้านบาท ในธุรกิจด้าน ESG ไทยและอาเซียน ใน 3 ปี โชว์ผลงานปีก่อนสามารถสร้าง IRR คืนแบงก์เกินเป้ากว่า 1.5 เท่า

Latest


บีคอน วีซี CVC ในเครือธนาคารกสิกรไทย จัดตั้งกองทุน Beacon Impact Fund ลงทุน 1,200 ล้านบาท ในธุรกิจด้าน ESG ไทยและอาเซียนภายใน 3 ปี พร้อมโชว์ผลงานปีก่อน exit 3 ดีล สร้าง IRR คืนแบงก์เกินเป้ากว่า 1.5 เท่า ปีนี้เตรียมลงทุนเพิ่มอีก 15 ดีล

**ตั้ง Impact Fund ลงทุนเพื่อโลก

นายธนพงษ์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด เปิดเผยว่า บีคอน วีซี Corporate Venture Capital ของธนาคารกสิกรไทย ซึ่งผู้นำด้านการลงทุนในสตาร์ทอัพมาอย่างยาวนาน จัดตั้งกองทุน Beacon Impact Fund ขนาด 1,200 ล้านบาท หรือราว 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อลงทุนในธุรกิจที่มีแนวคิดดำเนินงานอย่างยั่งยืน และพัฒนาโซลูชั่นในการแก้ปัญหาหรือสร้างผลกระทบเชิงบวกในมิติต่างๆ ของ ESG

รวมถึงสามารถวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม และมีศักยภาพที่จะสามารถขยายผลไปในวงกว้าง สอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ และเจตนารมณ์ของธนาคารกสิกรไทย ที่มีความมุ่งมั่นจะยกระดับการดำเนินธุรกิจบนหลักการธนาคารแห่งความยั่งยืน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการปูทางให้สังคมไทยและโลกใบนี้เปลี่ยนผ่านไปยังเศรษฐกิจใหม่ที่สดใสและยั่งยืนกว่าที่เคยเป็นมา

สำหรับกองทุน Beacon Impact Fund จะแบ่งเป็นการลงทุนโดยตรงเป็นสัดส่วน 80% และลงทุนผ่านกองทุน VC อื่นๆ ในต่างประเทศที่มีการตื่นตัวในเรื่องของ ESG อีก 20% มีนโยบายลงทุนธุรกิจทั้งในไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเวลา 3 ปี ปีละ 400 ล้านบาท โดยตั้งเป้าว่าจะลงทุนให้กับธุรกิจอยู่ที่รายละ 1-3 ล้านเหรียญ โดยระดับของสตาร์ทอัพที่ลงทุนจะเป็นระดับ Early - Growth Stage ซึ่งเป็นระดับที่สามารถสร้างรายได้ประจำได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

และดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับ ESG ดังนี้

  • ด้านสิ่งแวดล้อม (Environment): มุ่งเน้นธุรกิจที่ช่วยลดการสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านการลดการใช้พลังงานฟอสซิล (Decarbonization) การลดขยะและการผลิตเกินความจำเป็น (Waste Reduction) และการลดผลกระทบจากสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Adaptation)
  • ด้านสังคม (Social): มุ่งเน้นธุรกิจที่สร้างความเท่าเทียมและการเข้าถึงด้านการเงินและเทคโนโลยี (Financial and Digital Inclusion) การสร้างความรู้ความเข้าใจและวินัยด้านการเงินและเทคโนโลยี (Financial and Digital Literacy) และการสร้างการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ (Access to Health Care)
  • ด้านธรรมาภิบาล (Governance): มุ่งเน้นธุรกิจที่ปกป้องสิทธิผู้บริโภค (Consumer Protection) การสร้างความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Visibility) และการสร้างความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ (Business Transparency)

ปัจจุบันมีสตาร์ทอัพที่อยู่ระหว่างพูดคุยสำหรับการลงทุนของ Impact Fund แล้วกว่า 10 ราย

นาย ธนพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากในเรื่องของเป้าหมายการลงทุนแล้ว Impact Fund จะแตกต่างจากกองทุนแบบเดิม ตรงที่ผลตอบแทนที่ปกติแล้วจะได้รับกลับมาเป็นรูปแบบของเงิน แต่สำหรับ Impact Fund จะมีการคาดหวังในเรื่องของผลตอบแทนทางสังคมด้วย โดยธุรกิจแต่ละประเภทจะมีวิธีการวัดผลที่แตกต่างกัน และสิ่งที่ให้ความสำคัญที่สุดในการลงทุน คือ ทุกบริษัทจะต้องมีธรรมาภิบาลที่ดีที่จะต้องเป็นพื้นฐานของการดำเนินธุรกิจ

**โชว์ผลงานสร้าง IRR คืนธนาคารเกินเป้า

ปัจจุบัน บีคอน วีซี ได้รับการอัดฉีดเงินทุนจากธนาคารมาแล้วกว่า 265 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ใช้เงินลงทุนไปแล้ว 160 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ดำเนินงานผ่าน 3 กองทุนด้วยกัน ได้แก่

หนึ่ง Synergistic Fund กองทุนที่เน้นสร้าง Synergy ให้กับธนาคารได้

สอง Opportunistic Fund กองทุนที่เน้นสร้างโอกาสใหม่ ลงทุนในสตาร์ทอัพที่พัฒนาเทคโนโลยีสำหรับอนาคต โดยเมื่อ ณ สิ้นปี 2022 ได้รับเงินทุนจากธนาคารเพิ่มเติมอีก 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้รับมาแล้ว 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สาม กองทุนล่าสุดที่เปิดตัว Impact Fund เป็นการลงทุนเพื่อโลก

สำหรับผลงานในปีที่แล้ว บีคอน วีซี ได้ถอนการลงทุน (exit) สตาร์ทอัพไปแล้ว 3 ดีล สามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ให้กับธนาคารได้สูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้ถึง 1.5 เท่า และแผนงานในปีนี้ บีคอน วีซี ตั้งเป้าที่จะลงทุนในสตาร์ทอัพไม่ต่ำกว่า 15 ดีล ใช้เงินขั้นต่ำ 28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เฉลี่ยรายละ 1-3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ