แน่นอนว่า “ความยั่งยืน” ไม่ใช่ทางเลือก แต่คือทางรอด แล้วธุรกิจจะไปต่อได้อย่างไรหากองค์กรไม่ปรับตัว เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินชื่อของ “Interface” ผู้นำด้านการผลิตพรมแบบแผ่น (Modular Carpet) อันดับหนึ่งของโลก ในฐานะหนึ่งในบริษัทที่ได้รับการยกย่องว่า “ยั่งยืน” เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก
ชื่อเสียงด้านความยั่งยืนเริ่มต้นจากการพลิกวิสัยทัศน์องค์กรโดย “เรย์ แอนเดอร์สัน” (Ray Anderson) อดีตผู้บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท Interface ซึ่งในงานถ่ายทอดเรื่องราวการเดินทางสู่ความยั่งยืนของบริษัท “Interface Inc.” ผู้ผลิตพรมชั้นนำระดับโลกที่เป็นต้นแบบแห่งความสำเร็จในการขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง ด้วยความมุ่งมั่นอันแรงกล้าและวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนและกล้าหาญ จนก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำด้าน Regenerative Business เพื่อฟื้นฟูและกอบกู้โลกที่พัฒนา Sustainable Business ไปอีกระดับ
ในช่วง Sharing session จากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายด้าน ที่จะช่วยเปิดมุมมองใหม่ด้านความยั่งยืนเพื่อสร้างประโยชน์ที่แท้จริงทั้งต่อโลกและธุรกิจ Thairath Money ได้สรุปใจความสำคัญมาด้วยกัน 2 Section
เริ่มต้นด้วย “Beyond Sustainability: The Green Shift” ทรงพล ชัญมาตรกิจ บริษัท อิกนิไฟเออร์ จำกัด กล่าวว่า การทำ Regenerative เป็นแนวคิดที่กำลังเกิดขึ้นใหม่ ซึ่งก้าวไปไกลกว่าการรักษาสภาพปัจจุบัน แต่เป็นการปรับปรุงและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง แทนที่จะพยายามลดอันตรายเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการซ่อมแซมและปรับปรุงสิ่งที่เสียหายไปแล้ว ที่ไม่ใช่แค่ทำเพื่อโลก แต่ต้องสร้างโลกให้ดี เพราะปัจจุบันการลดคาร์บอนไดออกไซด์นั้น ไม่สามารถทำได้ทันต่อเป้าหมายที่วางไว้
“เพราะคาร์บอนคือชีวิต เป็นเสมือนสารตั้งต้น ถ้าเราทำความเข้าใจใหม่ว่ามันอยู่ผิดที่ แค่เราดึงมาอยู่ในดิน อยู่ข้างล่าง เพราะคาร์บอนสร้างชีวิต ด้วยกระบวนการมนุษย์ เราต้องแยกมัน และมันจะลงมาข้างล่าง ดังนั้น Regenerative คือกระบวนการคิดที่ไม่ใช่แค่ทำ”
ส่วนการทำธุรกิจกับความยั่งยืนในปัจจุบัน ทรงพลมองว่า ความยั่งยืนเป็นทางรอดไม่ใช่ทางเลือก ไม่ใช่แค่การส่ง Report แล้วได้รางวัลการันตี แต่ต้องมีการมาพูดคุยกันทั้งองค์กรเพื่อให้ธุรกิจไปต่อได้
ยกตัวอย่างกลยุทธ์ความสำเร็จของ Interface ทั้ง 3 ด้านคือ เป็นการริเริ่มตั้งแต่ “ผู้นำองค์กร” ต่อมาคือ “กลยุทธ์” ที่ไม่ได้ปูพรมแดงเพราะต้องเจอปัญหาหลายอย่าง ที่ต้องใช้ทั้ง Finance, Engineering พร้อมกับทำให้เกิดนวัตกรรมท่ามกลางแรงกดดัน โดยที่องค์กรต้องรับแรงกดดันต่างๆ ให้ได้
และสุดท้ายคือ “การนำไปปฏิบัติ” เพราะหากเป้าหมายดี แต่ทำไม่ได้ก็ไร้ประโยชน์ ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ในที่สุด เพราะแค่ Mission มันไม่พอ ดังนั้น Mission มันต้องเปลี่ยนความยั่งยืนกับองค์กรจึงจะไปต่อด้วยกันได้
ขณะที่ พนอจันทร์ จารุรังสีพงค์ ที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนองค์กร กล่าวถึง "Practical Lessons for Regenerative Leadership" ว่า Interface เป็นองค์กรที่ได้รับความชื่นชม และถูกจัดอันดับว่าเป็นบริษัทที่ยั่งยืนที่สุดบริษัทหนึ่งของโลก ถือเป็นแนวหน้าของการดำเนินงานด้านความยั่งยืนมาตลอด โดยเปลี่ยนแปลงจาก Business As Usual ไปสู่ Sustainable Business คือการลดผลกระทบเชิงลบให้ได้มากที่สุด นั่นคือการทำในเรื่องของ Mission Zero และเมื่อสำเร็จก็ได้ขยับไปสู่ Climate Take Back คือการนำ Climate กลับลงมา นี่คือการทรานส์ฟอร์มองค์กร และสร้างผลกระทบเชิงบวก และกอบกู้โลกให้กลับมา หรือที่เรียกว่า Regenerative Business มากกว่าแค่การทำเรื่อง Sustainability
ซึ่งองค์ประกอบหลักที่เราเห็นได้ชัดในการเปลี่ยนแปลงคือ “ผู้นำองค์กร” รวมถึง Mission ของผู้นำองค์กรที่เป็นส่วนสำคัญที่จะนำพาองค์กรไปสู่เป้าหมายได้
“Regenerative Business มันจะไป Beyond กว่าในเรื่องของ Sustainable Business ที่เป็นแค่การลดผลกระทบเชิงลบเพื่อจะรักษาทรัพยากร สิ่งแวดล้อม หรือสังคมที่ดี ให้เหลือไปยังคนรุ่นถัดไป แต่ในความเป็นจริงเราจะอยู่แค่นั้นไม่ได้ เราจะต้องสร้างเรื่องของ Regenerative Business ขึ้นมา เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ทำแล้วได้ผลกระทบเชิงบวก ซึ่งไม่ใช่แค่เล็กน้อย แค่สามารถปฏิรูปเปลี่ยนระบบที่เสียหายให้กลับมาดี อย่างเช่น Regenerative Agriculture ระบบเกษตรกรรมฟื้นฟู หรือแม้กระทั่งของ Interface ที่มีการทำ Factory as a Forest การเก็บกักคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ในโรงงาน ไว้ในผลิตภัณฑ์ ทำให้ผลิตภัณฑ์ Interface จึงกลายเป็น “Negative พรม” ได้”
ฉะนั้นสิ่งสำคัญของการทำธุรกิจคือ 1.ผู้นำ ที่จะมาสร้างผลกระทบเชิงบวก ต้องมีแนวคิดที่ชัดเจน มองการณ์ไกล ที่อยากจะสร้างผลกระทบเชิงบวก และอยากเปลี่ยนแปลง ที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์องค์กร เพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่ชัดเจนและนำไปสู่วิธีการที่ชัดเจน
แต่กระนั้นการนำไปสู่ Regenerative Business ได้นั้นต้องมี 2.Innovation หรือ นวัตกรรม ที่ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก โดยเราจะต้องเสาะหา ที่ปัจจุบันมักจะมาในเรื่องของ Biotech มากขึ้น คือการเลียนแบบธรรมชาติ
ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาของเสียในโรงงานและการขนส่ง Interface ประยุกต์ใช้แนวคิดชีวลอกเลียน (biomimicry) มาใช้ในการออกแบบนวัตกรรมอย่าง Tactiles ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากจิ้งจกที่ปีนบนผนังได้โดยใช้ขนเล็กๆ นับล้านที่เท้า Tactiles ระบบการติดตั้งพรมรูปแบบใหม่ที่เชื่อมต่อพรมแต่ละแผ่นด้วยพลาสติกใสขนาดเล็กโดยไม่จำเป็นต้องยึดพรมกับพื้นห้องตามวิถีการปูพรมแบบเดิม ซึ่งนอกจากจะช่วยลดรอยเท้าคาร์บอนได้ถึงร้อยละ 90 Tactiles ยังช่วยลดกลิ่นไม่พึงประสงค์และสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่ายที่เกิดจากกาวในการติดตั้งแบบทั่วไปอีกด้วย สามารถนำพรมไปรีไซเคิลได้ทั้งแผ่น
3.Mindset การเปลี่ยนมายเซ็ตของคนที่เกี่ยวข้องในซัพพลายเชนทั้งหมด สิ่งต่างๆ จะเปลี่ยนไปจากเดิมทั้งวิธีการผลิต การได้มาของวัตถุดิบ อาจจะทำให้ได้มาซึ่งลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ เช่น Interface หากขายพรมธรรมดาจะมีลูกค้าเยอะมาก แต่เมื่อเป็นพรมคาร์บอนจะได้ลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ อย่างเช่น ตึก Low Carbon
ดังนั้นหากต้องการจะเปลี่ยนอะไร ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคน ร่วมช่วยกันคิด นี่คือสิ่งที่แตกต่างกว่าการทำแผนให้เสร็จ และการดำเนินการในองค์กร ซึ่ง Interface ไม่มีหน่วยงาน Sustainability แต่ทุกคนมี Sustain ในตัวเอง รู้สึก และมีส่วนร่วมมี KPI ที่มาแชร์ร่วมกัน และทำร่วมกันจนสุดท้าย Mission Net Zero ได้ในปี 2020 โดยที่ผู้บริหารต้องคิดภาพรวมทั้งหมดก่อนจะนำมาสู่ขั้นตอนต่างๆ
“เราจะบรรลุเป้าได้แน่นอนไม่ว่าจะเป็นเป้าทางการเงิน ด้าน ESG หากทั้งหมดทำได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยเฉพาะความร่วมมือของพนักงาน ก็จะสำเร็จได้ แต่ทั้งหมดทั้งมวลควรเริ่มจากผู้นำองค์กร ในการวางแผนและทำให้ทุกภาคส่วนเห็นอย่างเป็นรูปธรรม เชื่อว่า กิจการที่มีการพัฒนาเพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืนอย่างเข้มข้น จะผันองค์กรให้มีการดำเนินธุรกิจแบบ Regenerative Business หรือแนวทางของกิจการในการเสริมสร้างให้มีสภาพภูมิอากาศเป็นบวก ได้อย่างแน่นอน”
อ้างอิง ป่าสาละ, SE Thailand
ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/business_marketing
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney