สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) ภายใต้สังกัดสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ประกาศแผนงาน ปลุกจิตสำนึกการนำทรัพยากรมาใช้ประโยชน์ใหม่ อย่างไม่รู้จบ เพื่อสร้างคุณค่า “บรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว” มาสู่การหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ให้คุ้มค่าและเกิดความยั่งยืน เพื่อดูแลด้านสิ่งแวดล้อมลดความรุนแรงของสภาวะภูมิอากาศโลก
TIPMSE ได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐภาคอุตสาหกรรมและภาคส่วนอื่นๆ โดยในแผนได้เน้นการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต ครอบคลุมตลอดทั้งวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Extended Producer Responsibility: EPR) โดยปีนี้ได้ขยายเครือข่าย ความร่วมมือกับ 149 องค์กร ผ่านการจัดงาน “Pack Back in Action ปี 3 รวมพลังเดินหน้า : The Drive for EPR in Thailand” ที่ได้ร่วมกันประกาศเจตจำนงพัฒนาระบบ ใช้ทรัพยากรและวัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ
นายโฆษิต สุขสิงห์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธาน TIPMSE ให้ข้อมูลว่าเงื่อนไขการนำเข้าสินค้า ในหลายๆประเทศได้วางกฎเกณฑ์ ที่ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์จนถึงบรรจุภัณฑ์ รวมถึงประเทศไทย ที่ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว เพื่อรักษาขีดความสามารถการแข่งขัน ในการส่งออกสินค้าก็ต้องเร่งเดินหน้าพัฒนากฎหมายที่จะนำมากำหนดกฎเกณฑ์ความรับผิดชอบของผู้ผลิตที่นำไปสู่การสร้างความยั่งยืนของธุรกิจ
อาทิ การกำหนดให้มีการใช้ทรัพยากรให้เกิด การหมุนเวียน ลดปริมาณของเสีย โดยอาศัยกลไกการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ และประชาชน ที่ต้องเข้าใจและสามารถนำหลักการ EPR หรือการขยายความรับผิดชอบ ของผู้ผลิตไปใช้ในวงจรของธุรกิจ โดยที่ภาครัฐจะทำหน้าที่พัฒนาเป็นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน หรือกฎหมาย EPR ผ่านความเห็นชอบจากทุกภาคส่วน เพื่อเตรียมประกาศใช้ในปี 2570 ซึ่งสหภาพยุโรปได้ประกาศใช้กับประเทศคู่ค้าไปแล้วบางประเทศ ส่งผลให้ทั้งภาครัฐ เอกชน ต้องเตรียมความพร้อมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและกฎหมาย เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลง
เนื่องจากเรื่องนี้เป็นความท้าท้ายของทุกภาคส่วนที่ต้องร่วมมือกัน โดยเฉพาะผู้ผลิตสินค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์กับสินค้า อาทิ พลาสติก โลหะ แก้ว กระดาษ ฯลฯ ที่อดีตมีการนำมาใช้แต่ไม่ได้คำนึงถึงการจัดการหลังการใช้งาน ใช้แล้วไปไหน ใช้แล้วสร้างผลกระทบอย่างไร ทำให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาขยะที่หลุดรอดสู่ธรรมชาติ
ล่าสุดการพัฒนาระบบ EPR ของไทย พบว่าขณะนี้มีความพร้อมของภาคเอกชนที่ได้เร่งปรับตัวเองในการนำ EPR ไปใช้ในภาคธุรกิจ ทั้งด้านการร่วมพัฒนาร่างกฎหมาย EPR การพัฒนามาตรการจูงใจ การพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อรองรับระบบ EPR การส่งเสริมการออกแบบ ตามหลักการการออกแบบเพื่อการรีไซเคิล (Design-for-recycling หรือ D4R) การนำหลักการ EPR มาสู่การทดลองทั้งโมเดลเก็บกลับ
ในพื้นที่เป้าหมายในโครงการ Pack Back จังหวัดชลบุรี นำร่องใน 3 เทศบาลประกอบด้วยเทศบาลเมืองแสนสุข เทศบาลเมืองบ้านบึงและเทศบาลตำบลเกาะสีชัง และปีนี้จะขยายไปอีก 9 เทศบาล เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบเก็บขนของท้องถิ่น และยกระดับสู่การออกเทศบัญญัติหรือข้อบัญญัติท้องถิ่น
“แผนงานดังกล่าวส่งผลให้เกิดต้นแบบการสนับสนุนท้องถิ่น ที่แตกต่างกันตามบริบทของพื้นที่ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับ EPR ภาคบังคับในอนาคตได้อย่างแข็งแกร่ง”.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” เพิ่มเติม