การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลก ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่า โลกใบนี้จำเป็นต้องลดการปล่อย CO2 อย่างเร่งด่วน เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้เผยแพร่รายงานสรุปการปล่อย CO2 จากการใช้พลังงานของประเทศไทยระหว่างเดือน ม.ค.-ส.ค.ที่ผ่านมา
โดยพบว่า การปล่อย CO2 จากการใช้พลังงานอยู่ที่ระดับ 159.7 ล้านตัน CO2 ลดลง 3.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งสามารถสรุปการปล่อย CO2 จากการใช้พลังงานในรายสาขาต่างๆได้ดังนี้ ภาคการขนส่งมีการปล่อย CO2 อยู่ที่ระดับ 55 ล้านตัน CO2 ลดลง 0.3% ภาคอุตสาหกรรมมีการปล่อย CO2 อยู่ที่ระดับ 34.1 ล้านตัน CO2 ลดลง 16.1% ภาคเศรษฐกิจอื่นๆ (ภาคครัวเรือน เกษตรกรรม พาณิชยกรรม และกิจกรรมอื่นๆ) มีการปล่อย CO2 อยู่ที่ระดับ 8.9 ล้านตัน CO2 ลดลง 0.3%
ขณะที่ภาคการผลิตไฟฟ้า มีการปล่อย CO2 เพิ่มขึ้น 1% อยู่ที่ 61.8 ล้านตัน
ล่าสุด สถานการณ์การปล่อย CO2 มากที่สุด 10 ประเทศ ในปีนี้ มีดังนี้ 1.จีน อยู่ที่ระดับ 10,667 ล้านตัน 2.สหรัฐฯ อยู่ที่ระดับ 4,712 ล้านตัน 3.อินเดีย อยู่ที่ระดับ 2,441 ล้านตัน 4.รัสเซีย อยู่ที่ระดับ 1,577 ล้านตัน 5.ญี่ปุ่น อยู่ที่ระดับ 1,030 ล้านตัน 6.อิหร่าน อยู่ที่ระดับ 745 ล้านตัน 7.เยอรมนี อยู่ที่ระดับ 644 ล้านตัน 8.ซาอุดีอาระเบีย อยู่ที่ระดับ 625 ล้านตัน 9.เกาหลีใต้ อยู่ที่ระดับ 597 ล้านตัน 10.อินโดนีเซีย อยู่ที่ระดับ 589 ล้านตัน
เมื่อเปรียบเทียบการปล่อย CO2 ต่อการใช้พลังงานของประเทศไทยเทียบกับต่างประเทศ จากข้อมูลของ International Energy Agency (IEA) ประเทศสหรัฐฯ พบว่าในปีนี้
ประเทศไทยมีการปล่อย CO2 ต่อการใช้พลังงานอยู่ที่ 1.8 พันตัน CO2 ต่อการใช้พลังงาน 1 KTOE ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก
ทั้งนี้ เป็นผลมาจากประเทศไทยมีนโยบายด้านพลังงานที่สำคัญๆ โดยเฉพาะ การจัดทำแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) ที่จะขับเคลื่อนภาคพลังงานไทยให้มีทิศทางสอดคล้องกับทิศทางโลก โดยสนับสนุนให้ประเทศไทย มุ่งสู่การใช้และการผลิตพลังงานสะอาด และลดการปล่อย CO2 เพื่อให้บรรลุคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ในปี 2050
ล่าสุด หลายๆประเทศสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ด้วยเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำที่มีราคาไม่แพง ประเทศอื่นๆสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาการปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงเหมือนประเทศที่ร่ำรวยในอดีต
ดังนั้น จึงจะเห็นได้ว่านานาประเทศกำลังดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อต่อสู้กับการปล่อย CO2 ตั้งแต่การกำหนดเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ไปจนถึงการดำเนินการริเริ่มด้านสิ่งแวดล้อม
ความพยายามเหล่านี้ เพื่อลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล ส่งเสริมแหล่งพลังงานสะอาดที่มีความยั่งยืน นับว่าเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างกลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ที่สำคัญพวกเราทุกคนสามารถมีส่วนสนับสนุนให้โลกของเรามีอนาคตที่สดใส และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่