คุยกับสองผู้บริหาร FutureTales Labs อีกด้านของความเจริญ "AI เทคโนโลยีแลกชีวิต" ตัวการทำร้ายโลก?

Sustainability

ESG Strategy

พิมพ์ชญา ภมรพล (แพร)

พิมพ์ชญา ภมรพล (แพร)

Tag

คุยกับสองผู้บริหาร FutureTales Labs อีกด้านของความเจริญ "AI เทคโนโลยีแลกชีวิต" ตัวการทำร้ายโลก?

Date Time: 6 ต.ค. 2567 11:35 น.

Video

บรรยง พงษ์พานิช แกะปมเศรษฐกิจไทยโตต่ำ ฟื้นช้า พร้อมแนะทางออก

Summary

  • Thairath Money พูดคุยกับสองผู้นำศูนย์วิจัยแห่งอนาคต ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่อนาคตศาสตร์ ผู้อำนวยการบริหารศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา (FutureTales Lab by MQDC) และ รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารนวัตกรรมยั่งยืน ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC by MQDC) ถึงโจทย์ใหญ่ของไทย เมื่อประเทศกลายเป็นฐานที่มั่นของบิ๊กเทคฯ ความท้าทายของการมุ่งหน้าสู่อนาคต เรื่อง AI และ Sustainability พัฒนาควบคู่กันได้จริงหรือไม่ เม็ดเงินและนโยบายเพียงพอแล้วหรือยัง และอะไรคือสาเหตุที่ไทยต้องมี Renewable Energy ให้เร็วที่สุด

Latest


อีกด้านของยุคใหม่และความหวือหวาในโลกเทคโนโลยี เมื่อ “Generative AI” โมเดลปัญญาประดิษฐ์สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้เกินจินตนาการ รับบทเป็นมันสมองให้กับธุรกิจทั่วโลก ทว่าการคาดการณ์มูลค่าทางเศรษฐกิจที่ว่า AI จะเพิ่มเม็ดเงินมหาศาลยังถูกคาดการณ์ไปพร้อมกับการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกจำนวนหลายเมตริกตันด้วยเช่นกัน

“AI ทำให้โลกร้อนขึ้น” 

“AI กินไฟ” 

“Data Center ปล่อยมลพิษพุ่ง”

นอกจาก “AI สร้างเฟคนิวส์” และ “AI แทนที่มนุษย์” แล้วช่วงที่ผ่านมาข้อถกเถียงเรื่อง “AI และพลังงาน” ได้กลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่หลายฝ่ายเริ่มแสดงความกังวล…

หลายแห่งรายงานประเด็นน่าเป็นห่วงที่ได้กลายเป็นวาระแห่งชาติของหลายประเทศ หลังผลสำรวจรายงานถึงปริมาณการใช้งาน “Data” หรือข้อมูลที่นำมาใช้สำหรับเทรนโมเดล AI เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวและกำลังไต่ระดับคู่มากับความต้องการบริโภคพลังงานที่พุ่งขึ้นสูงสุดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน สืบเนื่องจากขยายตัวของ Data Center และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากบริษัทเทคโนโลยีที่สูงขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนให้เห็นแนวโน้มว่า AI อาจเป็นตัวการเร่งวิกฤตพลังงานครั้งใหม่ในทั่วโลก

Thairath Money พูดคุยกับสองผู้นำศูนย์วิจัยแห่งอนาคต ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่อนาคตศาสตร์ ผู้อำนวยการบริหารศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา (FutureTales Lab by MQDC) และ รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารนวัตกรรมยั่งยืน ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC by MQDC) ถึงโจทย์ใหญ่ของไทย เมื่อประเทศกลายเป็นฐานที่มั่นของบิ๊กเทคฯ ความท้าทายของการมุ่งหน้าสู่อนาคต เรื่อง AI และ Sustainability พัฒนาควบคู่กันได้จริงหรือไม่ เม็ดเงินและนโยบายเพียงพอแล้วหรือยัง และอะไรคือสาเหตุที่ไทยต้องมี Renewable Energy ให้เร็วที่สุด

“ปัจจุบันโลกเรากลายเป็น AI-First-Generation ไปแล้ว ในยุคที่การเสิร์ชข้อมูลด้วยเอนจิ้นซึ่งขับเคลื่อนด้วย Generative AI ใช้พลังงานมากกว่าเดิมอย่างน้อยสิบเท่า หรืออีกหลายๆ กรณีที่มากกว่าเดิมถึงหนึ่งร้อยเท่าและดูเหมือนว่าการเติบโตของเทคโนโลยีจะไม่หยุดอยู่แค่นี้ เพราะความต้องการของธุรกิจ ซึ่งยังไม่มีแนวโน้มที่ความต้องการจะลดลงในเร็วๆ นี้ เราปฏิเสธไม่ได้ว่า AI เป็นตัวเร่งวงจรนวัตกรรมและการทะยานขึ้นรายได้และกำไรมหาศาล แต่ผลกระทบอีกด้านคือเรื่อง Energy Consumption สิ่งที่ต้องมองต่อไปคือ เมื่อการเติบโตของเทคโนโลยีนี้มันหยุดไม่ได้ แล้วเราจะอยู่ร่วมกับมันได้อย่างไร”

ดร.การดี เลียวไพโรจน์ เริ่มต้นฉายภาพให้เราเห็นว่าไม่แปลกที่ AI กำลังถูกมองเป็นตัวร้าย แต่ประสิทธิภาพและประสิทธิผลเป็นสิ่งที่เราต่างเห็นโดยประจักษ์ เราเห็นแล้วว่า AI ทำให้ชีวิตดีขึ้น เพียงแต่คำว่า “AI เป็นตัวร้าย” มันจะเกิดในมุมอื่นๆ อีกหรือไม่ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของผู้สร้างและการตระหนักรู้ของผู้ใช้

ในระยะต่อไปพฤติกรรมและบริบทแวดล้อมจะทำให้เราเข้าใจ AI มากขึ้นและเห็น AI เป็นตัวร้ายน้อยลง เมื่อถึงจุดหนึ่งคนจะมีความตระหนักรู้มากขึ้นในเรื่องเทคโนโลยีว่าเขาต้องใช้อย่างไร ได้อะไรและสูญเสียอะไร เหมือนที่เราได้บทเรียนในยุคดิจิทัล เรารู้แล้วว่าสิ่งที่อยู่ในโลกโซเชียลมีเดียไม่ใช่ของฟรี โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี ประโยชน์ AI ที่ช่วยให้เราทำงานง่ายขึ้นเปิดให้ใช้งานฟรี แต่นั่นฟรีจริงไหม…

โครงสร้างเทคโนโลยีที่แลกมาด้วยไฟฟ้าและชั้นบรรยากาศ

ล่าสุด Microsoft ลงนามทำสัญญาฟื้นคืนโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งหนึ่งในสหรัฐฯ Three Mile Island จาก Constellation เจ้าของเดิมที่ปลดระวางในปี 2019 พร้อมทำสัญญาซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงงานต่อเนื่องถึง 20 ปี เพื่อให้บริษัทมีแหล่งพลังงานสะอาดเพื่อ Data Center สำหรับ AI และการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืนผ่านแผน Carbon-Negative ตามมุ่งหวัง

ด้านสื่อต่างประเทศที่จับตาความเคลื่อนไหวรายงานว่า หากข้อตกลงได้รับการอนุมัติ Microsoft จะเข้าถึงพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์จากโรงงานได้ 100% และจะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดในสหรัฐฯ เพราะโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นับเป็น “แหล่งพลังงานเพียงแห่งเดียว” ที่สามารถส่งมอบพลังงานสะอาด ปลอดคาร์บอนได้อย่างอุดมสมบูรณ์ โดยโรงงานแห่งนี้สามารถผลิตพลังงานได้ถึง 837 เมกะวัตต์ ที่ว่ากันว่าเพียงพอสำหรับบ้านกว่า 800,000 ครัวเรือน นั่นสะท้อนให้เห็นถึงปริมาณมหาศาลที่จะทำให้ Microsoft ไปสู่เป้าหมายผู้นำของวงการเทคฯ ที่ไม่มีข้อครหาด้านสิ่งแวดล้อม

ขณะที่นักพัฒนาสายพลังงานในสหรัฐฯ พยายามอย่างหนักในการผลิตพลังงานหมุนเวียนทั้งลมและแสงอาทิตย์ เพื่อหาพลังงานทางเลือกอื่นๆ ที่ลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ทว่า Data Center และความต้องการไฟฟ้าที่สูงขึ้น ส่งผลให้มาตรการการจำกัดหรือยุติการใช้ไฟฟ้าจากโรงผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินแบบดั้งเดิมถูกยืดการดำเนินการออกไปอีก

เมื่อถามว่าประเทศไทยจะรับมือกับความไม่สมดุลนี้อย่างไร เมื่อผู้นำโลกอย่างสหรัฐฯ ยังเผชิญกับการเปลี่ยนผ่านพลังงานซึ่งได้รับผลกระทบจากการเติบโตขึ้นเทคโนโลยี รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต ให้มุมมองกับเราว่า ประเด็นดังกล่าวกลายเป็นเงื่อนไขใหม่ของผู้ให้บริการระดับโลกอย่างมีนัยสำคัญ

AI นอกเหนือจากต้องมีเม็ดเงินลงทุนหลักพันล้านแล้วยังเรียกร้องการพลังงานมหาศาลในการหล่อเลี้ยงระบบ ซึ่งนั่นทำให้บิ๊กเทคฯ และผู้ให้บริการทั้งหลายปรับตัวเพื่อรักษาสมดุลในเรื่องนี้ เพราะแผนลงทุนขยายการให้บริการไปทั่วโลก ย้อนแย้งกับเป้าหมายที่อยากจะลดมลพิษ ซึ่งยากมากที่ลดการปล่อยคาร์บอนฯ ลงได้ ดังนั้นบิ๊กเทคฯ เลยหันไปที่การสรรหาพลังงานใหม่ๆ และสะอาดมาทดแทน

นอกจากนี้ Carbon Emission ได้กลายเป็น KPI หรือมาตรวัดสำคัญในการขอสินเชื่อสำหรับธุรกิจจากสถาบันการเงินที่จะมอบทุนรูปแบบ Green Finance เหล่านี้ล้วนทำให้เรื่องพลังงานกลายเป็นโจทย์ใหญ่ของบิ๊กเทคฯ ต่อจากนี้ ถ้าไม่ปรับตามก็ไม่ได้เงินทุน ไปจนถึงเรื่องการหาพันธมิตรทางธุรกิจที่ปัจจุบันล้วนให้ความสำคัญกับการประเมินด้าน Sustainability ทั้งสิ้น

“ดังนั้นหนึ่งในปัจจัยการเลือกจุดในการลงทุนร่วมมือ Data Center ในประเทศนั้นๆ นอกเหนือจากมาตรการภาษีที่เอื้ออำนวยแล้ว คือ โครงสร้างด้านพลังงานที่มั่นคง มาตรการของประเทศในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการจัดการเรื่องความยั่งยืนในมิติต่างๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ความพร้อมของอุตสาหกรรม Renewable Energy แต่แน่ๆ ว่า ตอนนี้เรื่อง Renewable Energy เราไม่แข็งแกร่งเพียงพอ”

รศ.ดร.สิงห์ กล่าวว่า ประเทศไทยเรายังมีช่องว่างเรื่อง Renewable Energy อีกหลายอย่าง ไทยเราเน้นเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์กับพลังงานลม แต่นอกเหนือจากแผงโซลาร์เซลล์แล้วเราลงทุนกับอะไรอีกบ้าง การผลิตพลังงานหมุนเวียนจากลมยังไม่เพียงพอ เรายังไม่มีความคืบหน้ามากพอในเรื่องการผลิตไฟฟ้าจากคลื่น ความร้อนจากใต้ดิน เรายังไม่มีการดึงพลังงานจากอวกาศ ตอนนี้ความรู้วิทยาการส่วนใหญ่เป็นการนำเข้ามาจากต่างประเทศ เราจะเปลี่ยนจากนำเข้าเพียงอย่างเดียวมาศึกษาอย่างลึกซึ้งและผลิตเองได้อย่างไร และตอนนี้โซลาร์เซลล์ที่นำมาใช้รอบแรกเมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้วก็จ่อหมดอายุตามอายุการใช้งาน ก็ยังไม่มีแผนที่ชัดเจนว่าหลังจากนั้นจะมีการนำกลับมาใช้ต่ออย่างไร

ดร.การดี แชร์ให้เราฟังว่าตนได้มีโอกาสถามคำถามสำคัญนี้กับ สัตยา นาเดลลา หัวเรือใหญ่ของ Microsoft บริษัทเทคโนโลยีมูลค่าสูงที่สุดในโลกหรือที่หลายคนรู้จักในฐานะผู้สนับสนุนหลักของ OpenAI ผู้สร้างแชตบอตเปลี่ยนโลกอย่าง ChatGPT ขณะประกาศข้อตกลงร่วมมือกับรัฐบาลเข้ามาลงทุนสร้าง Data Center แห่งในไทยก็มีมุมมองที่ชัดเจนว่า “ไทยต้องทำ Renewable Energy ให้มั่นคง” ดังนั้น พลังงานหมุนเวียนจะเป็นหมุดหมายต่อไปที่ทุกประเทศหนีไม่พ้นและต้องถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงต่อจากนี้

“ต้องเริ่มที่นโยบายให้ได้ แต่ไทยยังคุยกันเรื่องลดค่าไฟอยู่เลย”

ประเด็นดังกล่าวจะขับเคลื่อนไปได้อย่างเป็นรูปธรรมต้องมาจากการกำหนด “นโยบายพลังงาน” และต้องเจาะจงไปที่ Renewable Energy เพื่อนำไปสู่ข้อบังคับเกี่ยวกับการศึกษาค้นคว้าด้านพลังงานสะอาดที่เข้มขึ้นและต้องเริ่มทำตั้งแต่ตอนนี้ รศ.ดร.สิงห์ กล่าวว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจต้องเชื่อมั่นในเรื่องนี้ก่อนเป็นอันดับแรก ทุกอย่างขับเคลื่อนมาจากหัวหน้าและนโยบาย คนข้างบนต้องเห็นชัด ตอนนี้กฎหมายพลังงานไทยยังเป็นเรื่องของน้ำมันก๊าซธรรมชาติ การควบคุมจัดการไฟฟ้า การซื้อขายไฟฟ้า แผนอนุรักษ์พลังงานหรือแผนส่งเสริมด้านพลังงานสะอาด-พลังงานทางเลือกยังไม่ถูกให้ความสำคัญมากพอที่จะรองรับดีมานด์ที่เกิดขึ้น

“ไม่เห็น Profit & Loss ไม่ Take action ถ้าไม่อยู่ในบริบทของบริษัท ไม่เกิดอิมแพกต์ต่อธุรกิจ ยากที่จะลงมือปฏิบัติ”

ต่างประเทศมีการค้นคว้าแนวทางการแก้ปัญหาเรื่องโดยไม่พึ่งพา Renewable Energy
เช่น การใช้ประโยชน์จากภูมิศาสตร์ Geological Location พื้นที่ที่เหมาะสมกับ Data Center รวมถึงการลงทุนเทคโนโลยีในกลุ่มพลังงาน Energy Efficient Technology การจัดการพลังงาน เทคโนโลยีติดตามหรือดักจับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงเทคโนโลยีที่สนับสนุนการผลิตพลังงานทางเลือกรูปแบบต่างๆ ที่เป็นรูปธรรม

ไทยเราพยายามมากในเรื่องการสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนา อย่างไรก็ตามระเบียบการลงทุนวิจัยใหม่ที่ออกมาเพื่อเปิดทางให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุน เพื่อเพิ่มโอกาสให้งานวิจัยถูกนำไปพัฒนาต่อ งานวิจัยทุกชิ้นต้องมีเอกชนมาลงเงินให้ แม้จะมีเป้าหมายลบคำพูดที่ว่ากลัววิจัยขึ้นหิ้งแต่กลับเป็นความผิดพลาดเชิงนโยบาย เพราะงานวิจัยด้านอนาคตส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นแบบ Early Stage ไม่เห็นประโยชน์ภายใน 6 เดือนหรือภายใน 1 ปี หรือไม่เห็นผลในทันที ทำให้ไม่มีใครมากล้าเสี่ยงลงทุน นำไปสู่การตีความว่าภาคส่วนนั้นๆ ไม่น่าลงทุนตามมา

“ที่ผ่านมาเราดึงทรัพยากรในอนาคตมาใช้หาเงินโดยไม่ได้เกิดผล”

บทบาทนักวิจัยพัฒนาอย่างเรา แน่นอนว่าเราต้องนำเสนอความรู้เพื่อสร้างความเข้าใจขั้นต้นให้กับสังคม สะท้อนภาพและข้อมูลของสิ่งที่เกิดขึ้นให้คนเห็นและสร้างความตระหนักรู้เป็นวงกว้าง เพื่อให้เกิดการปฏิบัติที่เห็นผลชัดขึ้นเรื่อยๆ ทุกวันนี้ “ธุรกิจ” ขับเคลื่อนด้วยเงินด้วยรายได้ ผู้บริโภคคาดหวังว่าสินค้าบริการที่จะตอบโจทย์ทุกครั้งตามต้องการ แต่ทุกครั้งความสะดวกสบายของเราคือ “ต้นทุนของอนาคต” ทั้งสิ้น ดร.การดี กล่าว

ที่ผ่านมาไทยจะแก้ปัญหาก็ต่อเมื่อปัญหามาเกิดขึ้นตรงหน้า ไม่ได้ขับเคลื่อนจากนโยบายหรือการประเมินว่าสิ่งนี้คือปัญหา จากนั้นกำหนดมาตรวัดหรือตัววัดความสำเร็จที่สะท้อนเป้าหมายได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่มองไปยังความสำเร็จระยะสั้นแบบ Quick Win เท่านั้น ถ้าฟากการเมืองเรื่องนี้ยังไม่มีการศึกษาเรื่องเหล่านี้ แผนที่ไทยเราจะมุ่งสู่อนาคตอย่างยั่งยืนย่อมไม่มีทางขับเคลื่อนได้

ถ้าทิ้งขยะตอนนี้แล้วไม่ย่อยสลายเท่ากับยกภาระนี้ให้ตัวเราในอนาคตนะ ยกตัวอย่างอุตสาหกรรมท่องเที่ยวบ้านเรา เดิมที่เวลาฟังข่าวเราจะได้ยินว่า คนต้องมากี่ล้าน เงินต้องได้เท่าไหร่แต่อีกด้านของเม็ดเงินจากคน 30-40 ล้านคน ลองพิจารณาว่ากลุ่มคนเป็นล้านล้านใช้ทรัพยากรไปเท่าไหร่ ทุกครั้งที่นักท่องเที่ยวมาเราได้เงินจากนักท่องเที่ยวชั้นดี 30,000/คน แต่เราเคยพูดถึงมั้ยว่า Cost Carbon Emission อยู่ที่เท่าไหร่ มูลค่าในการจัดการขยะที่เกิดขึ้นอาจจะสูงกว่า เราเห็น Profit แต่ Loss เราไม่เห็นเลย เราอาจจะไม่ได้กำไรเลยก็ได้ แต่สิ่งนี้ไม่เคยถูกพูดถึง

"การคิดกำไรขาดทุนมันเกิดจากรายได้วันนี้ลบค่าใช้จ่ายวันนี้ แต่มุมนี้อาจจะไม่เพียงพออีกต่อไป เราจำเป็นต้องตั้งสมการความสำเร็จใหม่ที่แฟร์ทั้งกับธุรกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม จะทำอย่างไรให้เราสามารถดึง Future Value หรือมูลค่าทรัพยากรที่ถูกใช้เกินต่อไปในอนาคตกลับมาคำนวณร่วมกับ Present Value มูลค่าที่ได้ในปัจจุบันเพื่อหาผลลัพธ์ว่าเราได้และเสียอะไร เพื่อนำไปสู่การกำหนดเป้าหมายและแนวทางที่จะไปต่อได้อย่างยั่นหลังจากนี้อย่างแท้จริง " 

บทความที่เกี่ยวข้อง

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ -   


Author

พิมพ์ชญา ภมรพล (แพร)

พิมพ์ชญา ภมรพล (แพร)
Technology & Digital Economy Team , The Columnist of BrandStory