เมื่อเร็วๆนี้ 5 องค์กรชั้นนำของไทยได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ภายใต้โครงการ Platform ซื้อขายคาร์บอนเครดิต หรือ Carbon Neutrality 4 ALL ซึ่งจะมีสาระสำคัญอย่างไร คอลัมน์ Sustainable Together สัปดาห์นี้ จะพาไปเจาะลึกในรายละเอียด
สำหรับ MOU ที่ 5 องค์กรชั้นนำ ได้แก่ หอการค้าไทย กระทรวงมหาดไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. และ กลุ่มเซ็นทรัล ได้ร่วมกันลงนามนั้น
มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศไทย ให้เดินหน้าสู่เป้าหมาย Net Zero (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์) ภายใน ค.ศ.2065 (พ.ศ.2608)
และส่งเสริมให้ภาครัฐ เอกชน และบุคคลทั่วไป นอกเหนือจากธุรกิจรายใหญ่ ได้ร่วมกันลดโลกร้อน และมีโอกาสเข้าถึงการชดเชยคาร์บอนเครดิตจากกิจกรรมต่างๆผ่านแพลตฟอร์มซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit Exchange of Thailand : CCXT) รวมถึงแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้องกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาคการค้าและการลงทุน ภาคการเกษตรและอาหาร การท่องเที่ยวและบริการ และอุตสาหกรรมไมซ์
โดยโครงการนี้ประกอบด้วยโครงสร้างหลัก 5 ส่วน ได้แก่
1.เจ้าของคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรอง T-VER หรือโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบจ.)
2.แพลตฟอร์มซื้อขายคาร์บอนเครดิต ทำหน้าที่เป็นผู้รับคาร์บอนเครดิตจากเจ้าของมาลงขายในแพลตฟอร์ม
3.แอปพลิเคชัน หรือ Digital Channel ที่เชื่อมต่อกับแพลตฟอร์ม CCXT เพื่อรับคาร์บอนเครดิตมาชดเชยกิจกรรมต่างๆ
4.หน่วยงานรับรองคาร์บอนเครดิต เพื่อให้ผู้ชดเชยมั่นใจได้ว่ามีการชดเชยแล้วตามระเบียบของ อบจ.
5.ผู้ซื้อคาร์บอนเครดิตในภาคการค้า การเกษตร การบริการ การท่องเที่ยวและไมซ์
สำหรับการดำเนินการในเฟสแรก จะเริ่มจากการชดเชยคาร์บอนเครดิตในกลุ่มท่องเที่ยว การจัดอีเวนต์ อุตสาหกรรมไมซ์ และภาคบริการต่างๆ ผ่านแอป “CERO” ซึ่งเป็นแอปแรกบนแพลตฟอร์มซื้อขายคาร์บอนเครดิต โดยกระทรวงมหาดไทยจะนำคาร์บอนเครดิตชุมชน จาก “โครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อน” เข้าสู่แพลตฟอร์มนี้
ส่วนฝั่งผู้ซื้อ หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้เชิญชวนสมาชิกกว่า 150,000 ราย และเครือข่าย เข้าร่วมใช้แพลตฟอร์มนี้ ขณะที่ สสปน.ส่งเสริมให้เครือข่ายภาคการท่องเที่ยว โรงแรม ศูนย์การจัดประชุมสัมมนา งานแสดงสินค้าเข้าร่วมใช้แพลตฟอร์มด้วย
เช่นเดียวกับที่ ททท.ได้ช่วยประชาสัมพันธ์ให้เครือข่ายผู้ประกอบการท่องเที่ยว ร่วมคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแพลตฟอร์มของ ททท. และนำข้อมูลมาเชื่อมต่อกับแอปภายใต้โครงการ
ขณะที่กลุ่มเซ็นทรัล ที่ร่วมพัฒนาแพลตฟอร์ม ได้ดูแลการบริหารจัดการแพลตฟอร์มให้มีประสิทธิภาพ สะดวกต่อการใช้งาน อีกทั้งช่วยประชาสัมพันธ์ผ่านคู่ค้า และเครือข่ายของกลุ่มเซ็นทรัล
แม้โครงการนี้ มีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี แต่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทั้ง 5 องค์กร จะได้ร่วมกันผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็น “สังคมคาร์บอนต่ำ” และบรรลุ “Net Zero” ได้ตามเป้าหมาย.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่