คอลัมน์ Sustainable Together สัปดาห์นี้ จะพาไปรู้จักอีกหนึ่งภารกิจสำคัญของ “กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ” (DITP) กระทรวงพาณิชย์ ที่นอกจากเป็นหน่วยงานหลักส่งเสริมและผลักดันการส่งออกสินค้าไทย เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ และ “พระเอก” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมายาวนานแล้ว
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา กรมนี้ยังช่วยเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการไทย ให้ปรับกระบวนการผลิตสินค้าให้สอดรับเทรนด์โลก ที่มุ่งทำธุรกิจด้วย BCG Model (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว)
เพื่อช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ลดภาวะโลกเดือด และเตรียมพร้อมสู่การทำธุรกิจภายใต้กฎกติกาโลกยุคใหม่ ที่นำ “สิ่งแวดล้อม” มาเป็นข้อปฏิบัติในการผลิตสินค้าและส่งออก และเป็น “ข้อกีดกันทางการค้า” มากขึ้น
“นายพรวิช ศิลาอ่อน” รองอธิบดี DITP เริ่มต้นเล่าว่า กรมช่วยเตรียมพร้อมให้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs ในมาตรฐานความยั่งยืน ที่เป็นกติกาใหม่ของโลก โดยสร้างความรู้ ความเข้าใจ เพื่อพัฒนากระบวนการผลิต และสร้างสินค้าแบรนด์ไทยที่สอดคล้องกับมาตรฐานความยั่งยืนด้านต่างๆ
ภายใต้โครงการ “เสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริมผู้ประกอบการไทยสู่ความยั่งยืน” (BCG to Carbon Neutrality) แบ่งการดำเนินการเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ปี 2565 และระยะที่ 2 ปี 2566
โดยระยะที่ 1 เน้นเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการ ให้เกิดองค์ความรู้ เข้าใจเกี่ยวกับ BCG และการลดการปล่อย Carbon Footprint ซึ่งมุ่งเน้นกลุ่มสินค้าหัตถอุตสาหกรรม ไลฟ์สไตล์ ที่มีความพร้อมยื่นขอฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์ 33 ราย จากนั้นคัดเลือกให้เหลือ 10 ราย เพื่อเข้าร่วมโครงการระยะที่ 2
ส่วนระยะที่ 2 ผลักดันผู้ประกอบการทั้ง 10 ราย ให้ได้รับ Carbon Footprint ของผลิตภัณฑ์ และเป็นผู้ประกอบการนำร่อง “BCG Heroes to Low Carbon Pioneers” หรือ “Carbon Neutrality Leaders (CNLs)” รุ่นที่ 1 เพื่อเป็นต้นแบบให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ทำธุรกิจแบบคาร์บอนต่ำ สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจสีเขียว
“ในปี 2567 กรมยังคงเดินหน้าปั้น CNLs รุ่นที่ 2 โดยขยายผลสู่กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งได้คัดเลือกผู้ประกอบการ 38 บริษัท ที่สมัครเข้ามาจากทั่วประเทศ เพื่อเข้าสู่กระบวนการสร้างองค์ความรู้”
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา กรมได้ร่วมกับพันธมิตร เปิดโครงการเสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริมผู้ประกอบการไทยสู่ความยั่งยืน ปี 2567 พร้อมจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “3 Days Way to Achieve Carbon Neutrality” เพื่อพัฒนาองค์ความรู้แก่ SMEs กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม
เพื่อให้เป็นต้นแบบการทำธุรกิจแบบคาร์บอนต่ำ และเตรียมพร้อมต่อมาตรการจัดเก็บภาษีด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการคำนวณคาร์บอนฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์ เพื่อเตรียมขอฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.
ด้าน “รศ.ดร.ปิติวัฒน์ วัฒนชัย” ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ร่วมกับ DITP ผลักดันผู้ประกอบการไทยให้ทำธุรกิจแบบคาร์บอนต่ำมากว่า 3 ปีแล้ว สำหรับการอบรมเชิงปฏิบัติการ “3 Days Way to achieve carbon neutrality” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 2-4 ก.ค. โดยทั้ง 38 บริษัท จะได้รับการอบรม 5 หลักสูตร คือ
1.จุดประกายธุรกิจด้วยแนวคิดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
2. Sustainable Product to Global Market
3. How to prepare for the Carbon Label
4. หลักการประเมินและคำนวณคาร์บอนฟุตพรินต์ (หลักสูตรเข้มข้น)
และ 5. Export & Funding Clinic
พร้อมคัดเลือก 10 บริษัท มาให้คำปรึกษาเชิงลึกด้านคาร์บอนฟุตพรินต์ และท้ายสุดมีกิจกรรมจัดทำแผนธุรกิจด้านการลดคาร์บอน เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปประกอบการยื่นขอฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์ และนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่