สัปดาห์นี้คอลัมน์ Sustainable Together ขอพาท่านผู้อ่านไปรู้จักกับโครงการ “Green HUB” เพื่อรับขยะกล่องกระดาษ ซองกระดาษ พลาสติกยืดประเภท PE ขวด PET และ PP รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ใช้แล้ว เข้ากระบวนการอัปไซเคิลและรีไซเคิล เปลี่ยนเป็นชุดนักเรียน ถุงขยะ และสิ่งของใหม่ๆ ส่งมอบให้กับนักเรียน โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และกลุ่มเปราะบางทางสังคม พร้อมเพิ่มช่องทางเพื่อการส่งต่อขยะสู่การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ
โครงการ “Green HUB” นี้เกิดขึ้นได้ เพราะความร่วมมือของ 5 พันธมิตรที่ใส่ใจรักษ์โลก ได้แก่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน)–บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือจีซี บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส บริษัท เอ็ชเอ็มซี โปลีเมอส์ จำกัด เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนชุบชีวิตของเหลือใช้ ขยะพลาสติก ขยะกระดาษ นำมารีไซเคิล เพื่อส่งต่อคุณค่าใหม่ให้สังคม ร่วมด้วยช่วยกันกระตุ้นการจัดการแบบเชิงรุกและยั่งยืน
นายดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไปรษณีย์ไทย เล่าว่า โครงการ “Green Hub” ภายใต้แนวคิด “เส้นทาง...ความร่วมมือ รักษ์โลกไปรฯด้วยกัน” ซึ่งเป็นการต่อยอดและขยายขอบเขตจาก แคมเปญ “reBOX” ภายใต้โครงการ “ไปรษณีย์เชื่อมสุข” ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน สามารถนำบรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษกลับมารีไซเคิลได้ถึง 644,449 กิโลกรัม
สำหรับการดำเนินงานโครงการ Green Hub แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ไปรษณีย์ไทยและเครือข่ายพันธมิตร ได้กำหนดจุดรับนำร่อง 50 แห่ง ในพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล 48 แห่ง และพื้นที่ต่างจังหวัด 2 แห่ง ได้แก่ ไปรษณีย์จังหวัดชลบุรี และไปรษณีย์จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อแยกขยะประเภทต่างๆ จัดส่งไปยัง 5 พันธมิตร ดังนี้ กล่องและซองกระดาษ จัดส่งให้ “เอสซีจี แพคเกจจิ้ง” เพื่อนำไปรีไซเคิลเป็น “กล่องไปรษณีย์เชื่อมสุข” ส่งมอบให้กับกลุ่มผู้เปราะบางทางสังคม
พลาสติกยืด ประเภท Polyethylene (PE) ซองพลาสติกไม่ใช้แล้ว ถุง/ฟิล์มพลาสติกที่แห้ง สะอาด ยืดได้ รับดำเนินการโดย “ทีพีบีไอ” เพื่อเปลี่ยนเป็นถุงขยะพลาสติก ส่งมอบให้กับนักเรียนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน
ขณะที่พลาสติกประเภท Polyethylene Terephthalate (PET) เช่น ขวดน้ำดื่ม ดำเนินการโดย “จีซี” ภายใต้แคมเปญ “เทิร์นสุข” เพื่อเปลี่ยนเป็น “เสื้อนักเรียน” ส่งมอบให้กับนักเรียนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการกำจัดอย่างถูกวิธี โดย “เอไอเอส E-Waste” และพลาสติก ประเภท Polypropylene (PP) เช่น กล่องอาหารพร้อมทาน ถ้วยโยเกิร์ต เพื่อเปลี่ยนเป็นสิ่งของที่เป็นประโยชน์ รับดำเนินการโดย เอ็ชเอ็มซี โปลีเมอร์ แคมเปญ “PP reBORN”
“ไปรษณีย์ไทยและเครือข่ายพันธมิตรยังได้ร่วมกับมือวิเศษกรุงเทพขยายขอบเขตเข้าสู่ย่านชุมชน ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงจุดรับของไปรษณีย์ไทยได้เพิ่มขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแยกขยะและส่งคืน สำหรับการนำบรรจุภัณฑ์ต่างๆกลับเข้าสู่กระบวนการได้อย่างถูกต้อง ทั้งยังก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด”
นายคอร์โซ อูซีลลี่ ประธานเอ็ชเอ็มซี โปลีเมอส์ เล่าเสริมว่า ความร่วมมือกันครั้งนี้ เพื่อผลักดันการบริหารจัดการคัดแยกขยะ เพื่อนำไปรีไซเคิลพลาสติก PP อย่างครบวงจรและถูกต้อง เพื่อลดปริมาณการฝังกลบ
ส่วนนายศักดิ์สิทธิ์ บริสุทธนะกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด ทีพีบีไอ กล่าวว่า เพื่อกระตุ้นให้คนไทยตระหนักถึงแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ซึ่งเป็นหัวใจของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคประชาชนเพื่อคัดแยกและรีไซเคิลขยะพลาสติกอย่างถูกต้อง พร้อมส่งเสริมพฤติกรรมการแยกขยะพลาสติก เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมและอนาคตของทุกคน นำมาสู่การดูแลด้านสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืน.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่