กฟผ.ขับเคลื่อนสู่พลังงานสีเขียว

Sustainability

ESG Strategy

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

กฟผ.ขับเคลื่อนสู่พลังงานสีเขียว

Date Time: 6 ก.ค. 2567 05:20 น.

Summary

  • คอลัมน์ Sustainable Together สัปดาห์นี้ ได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ “ธวัชชัย สำราญวานิช” รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เกี่ยวกับการดำเนินการด้าน “พลังงานสีเขียว”

Latest

ปริมาณการปล่อย CO2 ของไทย

คอลัมน์ Sustainable Together สัปดาห์นี้ ได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ “ธวัชชัย สำราญวานิช” รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เกี่ยวกับการดำเนินการด้าน “พลังงานสีเขียว” (Green Energy) หรือ “พลังงานสะอาด” ของ กฟผ. ในฐานะรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นกลไกของรัฐในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ และเตรียมพร้อมรองรับการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ

อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าปัจจุบันทั่วโลกให้ความสำคัญการใช้พลังงานสีเขียวในทุกกระบวนการผลิต ดังนั้น ไทยจำเป็นต้องส่งเสริมการผลิตพลังงานสีเขียวตามเทรนด์ของโลก ซึ่งนอกจากเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศแล้ว ยังเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ ลดอุปสรรคด้านการค้า การลงทุน จากมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่หลายประเทศใช้ในปัจจุบัน เช่น มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) ก่อนส่งออกสินค้าไปขายในยูโรโซน รวมถึงยังเป็นการเตรียมพร้อมรองรับนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนหรือย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย

ดังนั้น ตามร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan : PDP ) หรือเรียกกันว่าแผนพีดีพี จึงกำหนดเป้าหมายไว้ว่า ปี 2593 คาดว่าประเทศไทยจะมีสัดส่วนไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 50% เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality หรือความเป็นกลางทางคาร์บอน ที่มีปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับปริมาณคาร์บอนที่ถูกดูดซับกลับ

“ธวัชชัย” เล่าว่า กฟผ.ตระหนักถึงภารกิจการเป็นแกนนำในการผลิตไฟฟ้า เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ และต้องปรับตัวให้สอดรับกับสถาน การณ์การผลิตไฟฟ้าของโลก เช่นเดียวกับการผลิตพลังงานสีเขียวตามเทรนด์ของโลก

โดย กฟผ.มีแผนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ (Hydro-floating Solar Hybrid) ซึ่งเป็นต้นแบบของโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดแบบผสม ผสานระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์ทำงานร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำของ กฟผ.ที่มีอยู่เดิม ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้า จากพลังงานสะอาดได้อย่างต่อเนื่องยาวนานขึ้น และมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่ำลง

ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ 2 แห่ง คือ โครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี จำนวน 45 เมกะวัตต์ และโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น จำนวน 24 เมกะวัตต์ และมีแผนดำเนินการในเขื่อนภูมิพล จ.ตาก เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี เขื่อนน้ำพุง จ.สกลนคร รวมถึงเขื่อนสิรินธร และเขื่อนอุบลรัตน์เพิ่มเติมจนครบ 2,725 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573 นอกจากนี้ กฟผ.ยังมีแผนดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับที่เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ กำลังผลิตประมาณ 800 เมกะวัตต์

สำหรับกระบวนการทำงานของโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดนั้น จะเป็นการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาผลิตไฟฟ้าในช่วงกลางวัน และผลิตไฟฟ้าด้วยโรงไฟฟ้าพลังน้ำในช่วงที่แสงแดดน้อย หรือไม่มีแสงแดด ส่วนระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ จะกักเก็บพลังงานส่วนที่เหลือจากโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ และช่วยจ่ายไฟฟ้าเสริมความต้องการของระบบไฟฟ้าในช่วงเปลี่ยนผ่านตอนหัวค่ำ ทำให้สามารถตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้อย่างต่อเนื่องและยาวนานขึ้น

“ธวัชชัย” เล่าต่อว่า กฟผ.ได้จัดตั้งศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Forecast Center) เพื่อพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ทั้งพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ของโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (Small Power Producer: SPP) โดยนำผลพยากรณ์ไปใช้วางแผนการผลิตไฟฟ้าร่วมกับโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงประเภทอื่น เพื่อให้ระบบไฟฟ้าสามารถรองรับความผันผวนและความไม่แน่นอนจากปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานหมุนเวียน

นอกจากนี้ ยังได้ปรับปรุงสถานีไฟฟ้าแรงสูงดิจิทัล (Digital Substation) เพื่อช่วยเพิ่มความสามารถในการควบคุมและส่งจ่ายไฟฟ้าให้มีเสถียรภาพมากขึ้น ควบคู่กับการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid Modernization) เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียน เช่น โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ ซึ่งเป็นระบบกักเก็บพลังงานขนาดใหญ่ด้วยพลังน้ำที่มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยต่ำ สามารถปล่อยน้ำมาผลิตไฟฟ้าได้โดยใช้เวลาไม่ถึง 5 นาที ทำให้รองรับการขาดหายไปของกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้อย่างทันท่วงที

สำหรับกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญาในระบบ 3 การไฟฟ้า ณ สิ้นปี 2566 รวม 53,868 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น กฟผ. 16,237 เมกะวัตต์ คิดเป็น 30% โรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (ไอพีพี) 17,649 เมกะวัตต์ หรือ 33% โรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก 9,453 เมกะวัตต์ หรือ 17% ซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ 6,235 เมกะวัตต์ หรือ 12% และโรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก พพ. และ PEA 4,294 เมกะวัตต์ หรือ 8%

โดยสิ้นปี 2566 สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.นั้น แบ่งเป็นพลังงานสะอาด 3,120 เมกะวัตต์ หรือ 19% และจะทยอยปรับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สอดคล้องกับทิศทางและแผนพีดีพีฉบับใหม่.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ