คอลัมน์ Sustainable together สัปดาห์นี้ ได้มีโอกาสร่วมคณะไปเยือนจังหวัดสงขลา เมืองท่าและเมืองชายทะเลที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทยที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของภาคใต้ และมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของภาคใต้ กับบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ในฐานะภาคเอกชน ซึ่งได้ดำเนินธุรกิจในจังหวัดมาตั้งแต่ปี 2524 ที่เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของชุมชนชาวสงขลา
นางสาวพรสุรีย์ กอนันทา รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกิจการองค์กร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า ในฐานะบริษัทพลังงานที่เป็นผู้บุกเบิกและพัฒนาธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ในไทยมากว่า 6 ทศวรรษ เชฟรอนมีนโยบายดำเนินธุรกิจควบคู่กับการทำงานร่วมกับชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน ผ่านการทำโครงการเพื่อสังคมที่มีกลยุทธ์ใน 4 ด้าน ได้แก่ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงาน การพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต การส่งเสริมการศึกษา และการเปิดโอกาสให้พนักงานได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมเพื่อสังคม
“จังหวัดสงขลา เปรียบเหมือนบ้านหลังที่สองของเชฟรอน ที่ผูกพันกันมายาวนานกว่า 40 ปี ในการทำโครงการเพื่อสังคม เรามุ่งให้ความสำคัญกับการทำงานแบบบูรณาการ ผ่านการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคประชาสังคม ให้ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนได้อย่างตรงจุด สามารถพัฒนาต่อยอดได้อย่างยั่งยืน”
ดังนั้น โครงการส่วนใหญ่จึงเป็นโครงการระยะยาวที่เน้นการพัฒนาองค์ความรู้ สร้างต้นแบบและพัฒนาพลังคน อาทิ โครงการก๊าซชีวภาพสหกรณ์ยางพาราสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสงขลาได้อย่างยั่งยืน ให้เป็นต้นแบบที่นำไปปฏิบัติในพื้นที่อื่นๆได้
สำหรับการเสริมศักยภาพเกษตรกรสวนยางเกิดขึ้นเพื่อขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำในจังหวัดสงขลา เพราะคนในชุมชนส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรยางพาราเป็นอาชีพหลัก และการแปรรูปยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของจังหวัด
ที่สำคัญ การผลิตยางแผ่นรมควัน ซึ่งใช้ไม้ฟืนเป็นเชื้อเพลิงมีต้นทุนสูง และบางครั้งไม่ได้คุณภาพตามที่ต้องการ อีกทั้งกระบวนการผลิตยังปล่อยก๊าซเรือนกระจก และก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นและน้ำเสียส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบสหกรณ์
ในปี 2558 เชฟรอนจึงได้ร่วมกับสถาบันวิจัยระบบพลังงาน (PERIN) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดทำโครงการเพื่อส่งเสริมกระบวนการผลิตยางแผ่นรมควันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเปลี่ยนน้ำเสียให้เป็นก๊าซชีวภาพ และใช้ก๊าซชีวภาพไปรมควันยางแผ่น เพื่อช่วยประหยัดเชื้อเพลิงไม้ฟืน
รวมทั้งการนำระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ มาใช้ในการผลิตยางแผ่น โดยนำร่องต้นแบบ ณ สหกรณ์บ้านทรายขาว และสหกรณ์ยูงทอง ตอบโจทย์การพัฒนาสงขลาของภาครัฐ ให้เป็นเมืองเกษตรกรรมสีเขียวมูลค่าสูง สอดคล้องกับหลักการของแบบจำลองโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ส่งผลให้แต่ละสหกรณ์ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 425 ตัน/ปี หรือ 31% และการนำก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้ยังช่วยลดการใช้ฟืน ส่งผลให้ประหยัดเงินของสหกรณ์ฯได้ 130,000-180,000 บาทต่อปี
ขณะนี้สหกรณ์ยางแผ่นรมควันยูงทอง จึงเป็นต้นแบบในการส่งต่อความรู้ให้กับสหกรณ์อื่นๆ และจะมีการต่อยอดสู่โครงการก๊าซชีวภาพสหกรณ์ยางพารา สู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยผลักดันให้สหกรณ์ยูงทองขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพริ้นต์ของยางแผ่นรมควัน (Carbon Footprint of Product) ได้สำเร็จเป็นแห่งแรก ของสหกรณ์ยางแผ่นรมควันของประเทศ
ปัจจุบัน อยู่ระหว่างดำเนินการขอรับรองการจดทะเบียนคาร์บอนฟุตพริ้นต์องค์กร (Carbon Footprint for Organization) และดำเนินการประเมินความเป็นไปได้ในการทำคาร์บอนเครดิตของสหกรณ์ ตามเงื่อนไขขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ของประเทศไทย
เพื่อนำสหกรณ์ยางแผ่นรมควันยูงทองไปสู่องค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) แห่งแรกของประเทศไทย.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่