คิกออฟปี 2570 สู่พลังงานสะอาด เคาะสัดส่วน SAF 1% ในน้ำมันเครื่องบิน

Sustainability

ESG Strategy

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

คิกออฟปี 2570 สู่พลังงานสะอาด เคาะสัดส่วน SAF 1% ในน้ำมันเครื่องบิน

Date Time: 14 มิ.ย. 2566 08:36 น.

Summary

  • ไทยเคาะสัดส่วนการใช้น้ำมันเพื่อความยั่งยืน SAF ในเครื่องบินเป็น 1% ในปี 2570 ทยอยเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดรับเทรนด์โลก เอกชนหวังรัฐหนุนยกเว้นเก็บภาษีสรรพสามิต เพราะราคาแพงกว่าน้ำมันเครื่องบินปกติ 2-3 เท่า เล็งคลอดแพ็กเกจหนุนผู้ผลิตในประเทศ ด้านคลังเดินหน้าส่งเสริมเอทานอล นำไปใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ

Latest

จับเทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพ

ไทยเคาะสัดส่วนการใช้น้ำมันเพื่อความยั่งยืน SAF ในเครื่องบินเป็น 1% ในปี 2570 ทยอยเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดรับเทรนด์โลก เอกชนหวังรัฐหนุนยกเว้นเก็บภาษีสรรพสามิต เพราะราคาแพงกว่าน้ำมันเครื่องบินปกติ 2-3 เท่า เล็งคลอดแพ็กเกจหนุนผู้ผลิตในประเทศ ด้านคลังเดินหน้าส่งเสริมเอทานอล นำไปใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ

นางพัทธ์ธีรา สายประทุมทิพย์ รองอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยระหว่างลงพื้นที่ดูงานบริษัทบริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS ว่า ธพ.เตรียมที่จะหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแพ็กเกจส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุนผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ (SAF-Sustainable Aviation Fuel) ในระยะ 5 ปีแรก เพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดตามทิศทางของโลก สอดรับกับแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ฉบับใหม่ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภาพรวมใน 2 เดือนข้างหน้า

“ขณะนี้มีผู้ผลิต 2-3 รายในประเทศที่เป็นกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันให้ความสนใจที่จะผลิต SAF โดยใช้วัตถุดิบหลักคือน้ำมันใช้แล้ว กับเอทานอลจากโมลาสหรือกากน้ำตาล ตามทิศทางต่างประเทศที่เป็นระดับสากล ธพ.จึงต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม ฯลฯ เพื่อกำหนดทิศทางวัตถุดิบ แนวทางการสนับสนุนด้านภาษีและอื่นๆ โดยล่าสุดได้มีการตั้งคณะทำงานดูแลเรื่องนี้แล้ว”

สำหรับประเด็นที่คณะทำงานจะพิจารณา คงต้องดูที่ระดับนโยบายของแต่ละหน่วยงานก่อน ซึ่งเบื้องต้นคือภายใต้ Oil Plan และ AEDP ฉบับใหม่ที่ได้หารือร่วมกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) มีความเห็นตรงกันที่ประเทศไทยจะบังคับให้เพิ่มสัดส่วนการใช้ SAF เป็น 1% ในเครื่องบินในปี 2570 ดังนั้นในระยะ 4-5 ปีข้างหน้า ภาครัฐต้องเตรียมตัวในเรื่องความพร้อมของน้ำมัน SAF ที่จะเกี่ยวกับปริมาณวัตถุดิบ ภาษีต่างๆ และมาตรการส่งเสริมการลงทุนฯในการสนับสนุน เป็นต้น นอกจากนี้ภายใต้ Oil Plan และ AEDP ยังเตรียมที่จะส่งเสริมการเชื่อมท่อน้ำมันและการบริหารจัดการท่อน้ำมันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ให้มากขึ้น และยังมองไปถึงระยะยาวเกิน 10 ปีจากนี้ เมื่อการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) มีมากขึ้น จะกระทบต่อการใช้น้ำมันที่ลดลง ดังนั้นจึงวางแนวทางที่จะขยายท่อน้ำมันไปยังกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม

ม.ล.ณัฐสิทธิ์ ดิศกุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BAFS กล่าวว่า ได้จับมือกับหลายภาคส่วน อาทิ กลุ่มบางจาก กลุ่มมิตรผล พัฒนาโครงการผลิตน้ำมัน SAF เพื่อความยั่งยืนจากน้ำมันที่ใช้แล้วหรือจากส่วนเกินเหลือใช้ในกระบวนการเกษตรกรรม เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero 2050) แต่ในปัจจุบันยอมรับว่าราคา SAF แพงกว่าน้ำมันอากาศยานปกติ 2-3 เท่า จึงอยากให้รัฐบาลสนับสนุนการยกเว้นการเก็บภาษีสรรพสามิตของ SAF เพื่อให้มีแต้มต่อในการแข่งขัน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.วันที่ 13 มิ.ย.2566 รับทราบแนวทางส่งเสริมการนำเอทานอลไปใช้ในอุตสาห กรรมอื่น นอกเหนือจากการเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพและการผลิตสุรา ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้นำเอทานอลไปผลิตเป็นไบโอเอทิลีนหรือพลาสติกชีวภาพ รองรับการขยายตัวตามเทรนด์ของโลกในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า กรมสรรพสามิตพร้อมสนับสนุนให้นำเอทานอลไปผลิตพลาสติกชีวภาพได้ โดยกำหนดให้ผู้ใช้เอทานอลจะต้องใช้เอทานอลที่ผลิตในประเทศก่อนเป็นลำดับแรก คาดว่าเบื้องต้นจะมีความต้องการใช้เอทานอลประมาณ 450 ล้านลิตรต่อปี.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ