สิ้นเดือนไม่สิ้นใจ 5 เทคนิคบริหารเงินให้พอใช้ ถึงสิ้นเดือน

Personal Finance

Wealth Management

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

สิ้นเดือนไม่สิ้นใจ 5 เทคนิคบริหารเงินให้พอใช้ ถึงสิ้นเดือน

Date Time: 28 ม.ค. 2567 11:55 น.

Video

"CINDY CHAO The Art Jewel" สองทศวรรษอัญมณีศิลป์ | Brand Story Exclusive EP.4

Summary

  • ใกล้วันสิ้นเดือนแบบนี้ เชื่อว่าหลายคน กำลังประสบปัญหา “เงินไม่พอใช้” Thairath Money รวบรวมเทคนิคบริหารเงิน สำหรับมนุษย์เงินเดือน เตรียมตัวดีตั้งแต่เนิ่นๆ ให้มีเงินใช้พอ โดยไม่ต้องรู้สึกว่า “สิ้นเดือนจะสิ้นใจ”

Latest


ใกล้วันสิ้นเดือนแบบนี้ เชื่อว่าหลายคน กำลังประสบปัญหา “เงินไม่พอใช้” ซึ่งบางคนอาจเป็นเพราะสถานการณ์ชีวิต ไม่เอื้ออำนวย ทำให้มีรายจ่ายมากกว่ารายรับ หรือบางคนพอเงินออกช่วงต้นเดือน ก็ใช้เงินเพลิน จนลืมแบ่งไว้ใช้ช่วงสิ้นเดือนที่เหลือ จึงต้องจำยอมใช้ชีวิตอย่างเจียมเนื้อ เจียมตัว เพื่อรอรับเงินเดือนรอบใหม่

Thairath Money รวบรวมเทคนิคบริหารเงิน สำหรับมนุษย์เงินเดือน เตรียมตัวดีตั้งแต่เนิ่นๆ ให้มีเงินใช้พอ โดยไม่ต้องรู้สึกว่า "สิ้นเดือนจะสิ้นใจ"

1.บันทึกรายรับ รายจ่าย

ก่อนที่เราจะบริหารเงินเป็น อันดับแรกเราต้องรู้จักนิสัยการใช้เงินของตัวเองในแต่ละเดือนก่อน วิธีที่ง่ายที่สุดคือ การเริ่มจดบันทึกรายรับ ต่อเดือนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นทั้งหมด เพื่อให้เราเห็นภาพรวมว่าในแต่ละเดือน เรามีรายได้เท่าไร จากช่องทางไหน และมีภาระค่าใช้จ่ายประจำอะไรบ้าง

หากเรามีรายจ่ายมากกว่ารายรับ ก็เป็นสัญญาณว่าเราอาจ จะอยู่ไม่รอดจนถึงสิ้นเดือน และอาจต้องกู้เงินเพิ่มไว้ใช้จ่าย และหากปล่อยทิ้งไว้นานไป อาจกลายเป็นปัญหาทางการเงินได้ เพราะการใช้จ่ายเกินรายรับมักนำไปสู่ปัญหาหนี้สิน


2.แบ่งเงินเป็นส่วนๆ ตั้งแต่ต้นเดือน

เมื่อรู้จักนิสัยการใช้เงินของตัวเองในแต่ละเดือนแล้ว ก็มาสู่ขั้นตอนของการวางแผนการเงิน หลายคนอาจจะนึกไม่ออกว่าต้องแบ่งเงินเก็บอย่างไร ให้มีประสิทธิภาพและทำได้จริง
การใช้สูตรเก็บเงินตามช่วงอายุ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ชีวิตที่แตกต่างกันไป
จะทำให้เราสามารถบริหารเงินได้อย่างยืดหยุ่นและเห็นผลมากขึ้น

  • ช่วงอายุ 20+ เริ่มทำงาน เป็นช่วงที่เริ่มมีรายได้เป็นของตัวเอง หากวางแผนเก็บเงินเร็ว ไม่สร้างหนี้สินเกินกำลัง สามารถตั้งเป้าหมายการเก็บเงินเพื่ออนาคต เช่น ซื้อบ้าน ซื้อรถ บริหารรายรับรายจ่ายให้พอดี ด้วยสูตรออมเงิน จ่าย 50 สุข 30 ออม 20
  • ช่วงอายุ 30+ สร้างครอบครัว มีความมั่นคงในหน้าที่การงานแล้ว รวมถึงเริ่มมีค่าใช้จ่ายผ่อนบ้าน ผ่อนรถ อายุช่วงนี้รายได้เพิ่ม รายจ่ายก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน แบ่งออมเงินเพื่อลงทุนเพิ่มเติมให้รายได้งอกเงย ด้วยสูตร จ่าย 60 สุข 20 ออม 20
  • ช่วงอายุ 40+ สร้างความมั่นคง เป็นช่วงที่เริ่มมีความมั่นคงในชีวิต ภาระหนี้บางอย่างหมดไป มีเงินในส่วนที่สามารถเก็บออมและลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ได้เพิ่มขึ้น เตรียมพร้อมวางแผนเกษียณด้วยสูตร จ่าย 45 สุข 25 ออม 30
  • ช่วงอายุ 50+ เข้าสู่วัยเกษียณ หมดภาระหนี้สินต่างๆ ไม่ว่าจะบ้าน รถ หรือบุตร ช่วงวัยนี้จะมีเงินเหลือออมเพิ่มมากขึ้น สามารถวางแผนการออมเงินในระยะยาวเพื่อเตรียมพร้อมหลังเกษียณได้เลย ใช้สูตร จ่าย 30 สุข 30 ออม 40

3.คิดก่อนซื้อ

ทำงานมาเหนื่อยๆ หลายคนคงอยากจะให้รางวัลตัวเอง ด้วยการใช้จ่ายซื้อของตามใจ
แต่การตามใจตัวเองแบบไม่มีขอบเขต อาจทำให้เรามีเงินไม่พอใช้จนถึงสิ้นเดือน แล้วต้องมาประหยัด ค่ากิน ค่าเที่ยว ช่วงปลายเดือน จนทำให้ตัวเองลำบากเกินไป
ดังนั้นก่อนซื้อของทุกครั้งควรคิดให้ดีว่าจำเป็นต่อชีวิตเราจริงหรือเปล่า หรือมีของอื่นถูกกว่าแทนได้ การเทียบสเปกและความจำเป็น จึงเป็นวิธีหนึ่งในการเก็บเงิน เพราะของบางอย่างราคาถูก อาจใช้งานได้นาน และคุณภาพไม่แพ้ของราคาแพง หรือรอช่วงเวลาจัดโปรโมชัน ลดราคาสินค้าที่ต้องการซื้อ จะช่วยให้เราประหยัดเงินได้มากขึ้น


4.บริหารเงินให้เหมาะกับสถานการณ์ชีวิต

แม้ตั้งใจวางแผนวิธีการเก็บเงินเป็นอย่างดี แต่บางครั้งชีวิตก็มักจะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ทำให้เราต้องควักเงินเก็บออกมาใช้ เช่น การเจ็บป่วย อุบัติเหตุ ตกงาน หากเราต้องเผชิญกับเหตุการณ์เหล่านี้ ก็ต้องมาลำดับความสำคัญว่าจะนำเงินส่วนไหนออกมาใช้ สัดส่วนเท่าไร และต้องทำอย่างไร โดยอาจหยุดการออมเงินไว้ชั่วคราว เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น ค่อยเริ่มเก็บเงินใหม่ให้มากกว่าเดิม เพื่อชดเชยเงินออมที่หายไป


5.ยกเลิกบัตรสมาชิกที่ไม่จำเป็น

สำหรับมนุษย์เงินเดือนนักกิจกรรม ที่มีบัตรสมาชิกที่ต้องเสียเงินต่ออายุรายเดือนหรือรายปี เช่น บัตรสมาชิกฟิตเนส คลาสเต้น คลาสเสริมทักษะต่างๆ บัตรเหล่านี้อาจเป็นหลุมพรางที่กัดกินเงินเก็บของเราโดยไม่รู้ตัว เราจึงต้องสำรวจบัตรสมาชิกทุกใบที่มี เพื่อหาว่าบัตรใบไหนที่จำเป็นน้อยที่สุด ถ้าบัตรไหนเป็นกิจกรรมที่เราไม่ค่อยได้ไปใช้บริการ โดยอาจมีเวลาไปแค่ 1 ครั้งต่อเดือน แนะนำให้รีบไปยกเลิก และนำเงินตรงนั้นมาเป็นเงินเก็บหรือลงทุนต่อยอดอื่นๆ

อ่านเคล็ดลับบริหารเงิน และต่อยอดความมั่งคั่ง กับ Thairath Money ได้ที่

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ