เมื่อปี 2562 ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ประกาศความร่วมมือกับจูเลียส แบร์ (Julius Baer) บริษัทบริหารจัดการความมั่งคั่งและการลงทุนจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จัดตั้งบริษัทร่วมทุนในนามบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด (SCB Julius Baer) โดยธนาคารไทยพาณิชย์ ถือหุ้นสัดส่วน 60% และจูเลียส แบร์ ถือ 40%
ความร่วมมือดังกล่าว เป็นการนำเข้าประสบการณ์ 130 ปี ในการดูแลลูกค้ากลุ่มความมั่งคั่งระดับสูงจากทั่วโลกของจูเลียส แบร์ ผสานเข้ากับจุดแข็งของธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ริเริ่มและมีฐานลูกค้ากลุ่มมั่งคั่งจำนวนไม่น้อย เพื่อขยายโอกาสในการลงทุนทั่วโลกแบบไร้พรมแดนให้กับลูกค้า
5 ปีจากจุดเริ่มต้น ปัจจุบัน ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ มีฐานลูกค้าหลักพันราย ที่ต้องมีวงเงินลงทุนเบื้องต้นที่ 100 ล้านบาทขึ้นไป โดยสามารถลงทุนได้ทั้งในประเทศ (Onshore) และต่างประเทศ (Offshore) ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ทางการเงินและการลงทุนแบบมององค์รวม (holistic vie) เช่น บริการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (FX Hedging), สินเชื่อเพื่อการลงทุนอย่าง Lombard Loan หรือ Property Backed Loan
ลลิตภัทร ธรณวิกรัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันลูกค้ากลุ่มความมั่งคั่งระดับสูง (High Net Worth) มีอายุน้อยลงแตะหลัก 20 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นลูกที่เข้ามารับสืบทอดบริหารจัดการทรัพย์สินของครอบครัวสืบต่อจากรุ่นบิดามารดา
แบ่งพฤติกรรมการลงทุนออกได้เป็น 2 ประเภท กลุ่มแรกเป็นสายบู๊สุดซอย ดูแลการลงทุนเอง เป็นพวก All in ลงทุนครอบคลุมทั้งหุ้น พันธบัตร ผ่านการศึกษาบทวิเคราะห์ ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่ต้องการมืออาชีพมาช่วยบริหารพอร์ต (Discretionary Portfolio Mandates)
แม้ปัจจุบันธุรกิจบริหารความมั่งคั่งให้ลูกค้าเศรษฐี (Wealth Management) จะได้รับความนิยมมากขึ้นตามลำดับ สะท้อนจากจำนวนผู้ให้บริการต่างชาติที่แห่เข้ามาเปิดสาขาในประเทศไทย แต่กว่า 80% ของความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีไทย ยังคงเป็นการลงทุนหมุนเวียนในประเทศเป็นหลัก ไม่ใช่การแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ในตลาดโลก ธุรกิจจึงยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก
รายงานของ Boston Consulting Group (BCG) ยังตอกย้ำให้เห็นโอกาสทางธุรกิจ โดยเมื่อปี 2565 กลุ่มเศรษฐีโลกมีความมั่งคั่งลดลงราว 4% จากปัจจัยลบอย่างสถานการณ์โควิด ความผันผวนของตลาดโลกจากปัจจัยอัตราดอกเบี้ย เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงและภาวะสงคราม แต่สำหรับเศรษฐีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศไทย มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น 4% เท่ากัน ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะผลกระทบจากสถานการณ์โลกที่น้อยกว่า ขณะที่เศรษฐีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีปัจจัยบวกที่ช่วยเพิ่มผลตอบแทน ไม่ว่าจะเป็นราคาที่ดิน ราคาหุ้น
ท่ามกลางความไม่แน่นอน น่าหวั่นเกรงของตลาดทุนโลก ลลิตภัทร ผู้บริหารความมั่งคั่งให้กับเศรษฐีไทยหลายตระกูล ให้ความเห็นว่า การลงทุนต้องใจเย็นๆ ปีที่แล้วพอร์ตของลูกค้าที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการโดยไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ มีผลตอบแทนติดลบราว 7% แต่ในปีนี้ สิ้นสุดเดือน ก.ย.2566 ผลตอบแทนเติบโต 7%
ภายใต้สถานการณ์ขณะนี้เป็นโอกาสดีที่จะลงทุนใน 1.หุ้นกู้ของบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือ เพราะดอกเบี้ยคงไม่ขึ้นไปมากกว่านี้แล้ว และขณะนี้มีหุ้นกู้ออกมาให้เลือกซื้อเป็นจำนวนมาก 2.เป็นจังหวะเก็บหุ้นชั้นดี หุ้นปันผล ที่ราคาร่วงลงมามาก การมองหาหุ้นที่มีอัตราเติบโต (Growth) อาจไม่เหมาะนัก เพราะหุ้นที่ต้องเติบโตนั่นหมายถึงบริษัทต้อง ทุ่มเงินเพื่อสร้างการเติบโตนั้นด้วย จึงควรเลือกหุ้นดีที่ราคาต่ำ เพื่อลงทุนระยะยาวเก็บเงินปันผล 3.ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งให้ดอกเบี้ยในระดับ 4-5% เป็นระดับที่ 10 ปีที่ผ่านมาไม่เคยได้เห็น รวมทั้งการลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศของบริษัทชั้นนำ ก็น่าจะให้ผลตอบแทนที่เหมาะสมในสถานการณ์เช่นนี้
นอกจากนั้น ยังควรเพิ่มสัดส่วนการถือครองเงินสด เพื่อรอจังหวะเข้าลงทุนเมื่อถึงเวลาอันเหมาะสม.
ศุภิกา ยิ้มละมัย
คลิกอ่านคอลัมน์ "THE ISSUES" เพิ่มเติม