ดูเหมือน "การเก็บเงิน" วางแผนเพื่อการเกษียณ จะเป็นเรื่องยากและซับซ้อนมากขึ้น เพราะช่วงชีวิตหลังเกษียณ เป็นช่วงเวลา ที่อาจยาวนานถึง 1 ใน 3 ของชีวิตเรา หรือมากกว่านั้น อีกทั้งไม่อาจคาดเดาได้ว่า เราจะเผชิญกับภัยคุกคาม-อันตรายใดๆ ที่ทำให้การเกษียณของเรา ไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ทั้งความสูญเสียต่อร่างกาย ทรัพย์สิน รวมทั้งจิตใจ
Morgan Stanley Wealth Management เคยศึกษา และพบว่า ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของ “ผู้สูงวัย” ทั่วโลก โดยเฉลี่ยแล้ว มักสูงกว่า คนวัยทั่วไป เกือบ 2 เท่าตัว เพราะมีต้นทุนค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้น และมักสูงกว่า “อัตราเงินเฟ้อทั่วไป” นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ยังมีแนวโน้มสูงขึ้นตลอด ช่วงระยะเวลาเกษียณ โดยเฉพาะในช่วงปลาย หรือ ที่เรียกว่า Retirement Spending Smile
ซึ่งหมายถึง กราฟการใช้จ่ายวัยเกษียณที่จะสูงในช่วงแรก ซึ่งเกิดจากการท่องเที่ยวและพักผ่อน หลังจากนั้นจะลดลงในช่วงกลาง และสูงขึ้นในช่วงปลายจากความจำเป็นในการรักษาพยาบาล ซึ่งนี่คือเหตุผลที่ทำให้ต้องเผื่อค่าใช้จ่าย สำหรับวัยเกษียณมากขึ้น เพื่อให้คนเราใช้ชีวิตในช่วงดังกล่าวอย่างมีความสุข สมวัย
ข้อมูลเผยแพร่ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) โดย รุจิพรรณ พรรัตนพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญการวางแผนเกษียณ ระบุว่า การเก็บออมและลงทุน เพื่อเกษียณ นับเป็นเรื่องสำคัญ และต้องลงมือทำตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อทำให้ชีวิตหลังเกษียณเต็มไปด้วยความสุข แต่นอกจากเรื่องดังกล่าวแล้ว ยังมีเรื่องอื่นๆ ที่ต้องนึกถึงด้วยเช่นกัน
ไม่ว่าจะเป็นวิธีการถอนเงิน คุณสมบัติของเครื่องมือสร้างรายได้หลังเกษียณ การเตรียมวางแผนรับมือกับความเสี่ยงจากการมีอายุยืน เป็นต้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้ต้องเตรียมคิด วางแผน พร้อมๆ กับการเก็บเงิน อย่างไรก็ตาม หลายคนประสบความสำเร็จในการเก็บเงิน แต่กลับล้มเหลวในการวางแผนชีวิตหลังเกษียณ เพราะลืมบริหารความเสี่ยงสำคัญที่จะส่งผลต่อการดำเนินชีวิต
กล่าวคือ “ความเสี่ยง” เป็นเรื่องที่อยู่คู่กับชีวิตผู้คนตลอดเวลา แม้แต่อยู่ในบ้านก็ยังมีความเสี่ยง เช่น เดินตกบันได ลื่นหกล้มในห้องน้ำ ซึ่งล้วนแล้วแต่นำความสูญเสียและสร้างความเสียหายต่อร่างกายและทรัพย์สินโดยไม่คาดคิด แล้ว “ความเสี่ยงหลังเกษียณ” ที่ว่า มีอะไรบ้าง?
1. ความเสี่ยงจากการมีอายุยืน
ลองคิดดูว่าหากอายุสั้น เช่น มีชีวิตอยู่ได้เพียง 1-2 ปีหลังจากเกษียณ หรืออัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้นเป็นตัวเลข 2 หลัก ก็ไม่ส่งผลกระทบกับชีวิตเพราะอายุสั้น ตรงกันข้ามถ้ามีอายุยืนยาวจะส่งผลกระทบอย่างมาก
2. ความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อ
การวางแผนเกษียณที่ไม่ได้คำนึงถึง “เงินเฟ้อ” ถือว่าไม่ใช่แผนเกษียณที่เหมาะสม โดยเราต้องพึงระลึกไว้ทุกครั้งที่คิดเรื่องการวางแผนเกษียณว่าต้องคิดเรื่อง “ผลกระทบจากเงินเฟ้อ” ด้วย
3. ความเสี่ยงจากการถอนเงินมากเกินไป
การถอนเงินออกมาใช้มากเกินไป จนส่งผลให้เงินเก็บเพื่อเกษียณหมดลงก่อนเวลาอันควร หรือเรียกว่า “เงินหมดก่อนตาย” เป็นความเสี่ยงที่น่ากังวลมากสุด แต่ในทางตรงข้ามหากถอนเงินออกมาใช้ในอัตราที่น้อยเกินไป ก็จะทำให้มีเงินใช้ไม่เพียงพอที่จะตอบสนองความสุขหลังเกษียณ
4. ความเสี่ยงจากค่ารักษาพยาบาล
เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องธรรมดา แต่ก่อนที่จะตายอาจต้องผ่านด่านเจ็บป่วยก่อน ก็ตามมาด้วยค่ารักษาพยาบาล และไม่มีใครบอกได้ว่าจะเจ็บป่วยมากน้อยและยาวนานแค่ไหน แต่จากสถิติพบว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของค่ารักษาพยาบาล หรือเรียกว่าอัตราเงินเฟ้อของค่ารักษาพยาบาลในประเทศไทยสูงถึง 8-9% แปลว่า ค่ารักษาพยาบาลจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวทุกๆ 8-9 ปี (ตามกฎ 72) โดยยังไม่ได้คำนึงถึง ความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่ทำให้วิธีการรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ก็ต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น
5. ความเสี่ยงจากป่วยนอนติดเตียง
เป็นความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงสุดท้ายของชีวิต เนื่องจากการเจ็บป่วยหนักจนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้และอาจถึงขนาดต้องนอนติดเตียง แน่นอนว่าย่อมนำมาซึ่งค่าใช้จ่ายมหาศาล เป็นภาระของคนในครอบครัว จากสถิติในสหรัฐฯ คนที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปี มีโอกาสตกอยู่ในสภาวะนี้สูงถึง 70%
6. ความเสี่ยงคิดวิเคราะห์ลดลง และความเสี่ยงจากการถูกล่อลวงทางการเงิน
เมื่ออายุมากขึ้น ความรู้ความสามารถจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะความสามารถในการคิด วิเคราะห์ แยกแยะ
จากความเสื่อมถอยของร่างกายและจิตใจเมื่อเข้าสู่วัยเกษียณ ไม่เพียงเท่านี้ยังมีความเสี่ยงอื่นที่มักจะเกิดกับผู้สูงวัย คือ การถูกหลอกลวงทางการเงิน ซึ่งพบเห็นตามข่าวอยู่เป็นระยะๆ ดังนั้น การเป็นผู้สูงวัยที่มีเงิน (ก้อน) เป็นความเสี่ยงที่อาจจะถูกล่อลวงได้ เป็นกลุ่มบุคคลเป้าหมายของ 18 มงกุฎ ทั้งจากบุคคลภายนอก ไม่เว้นแม้แต่บุคคลในครอบครัว
7. ความเสี่ยงจากการลงทุนในตลาดเงิน
ทุกคนควรรู้ว่า การลงทุน ตราสารทุน กองทุนรวม ทองคำ มีความผันผวน ไม่มีอะไรแน่นอน โดยถือเป็นความเสี่ยงที่มีความรุนแรงช่วงหลังเกษียณ
ที่มาข้อมูล : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย