ไทยเจอโจทย์ใหญ่ แก่เร็ว-หนี้ครัวเรือนสูง เชื่อเศรษฐกิจครึ่งปีหลังฟื้นตัว

Personal Finance

Wealth Management

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ไทยเจอโจทย์ใหญ่ แก่เร็ว-หนี้ครัวเรือนสูง เชื่อเศรษฐกิจครึ่งปีหลังฟื้นตัว

Date Time: 18 ก.ค. 2566 16:45 น.

Video

บิทคอยน์ VS เงินในกระเป๋าเกี่ยวกันยังไง ? | Digital Frontiers

Summary

  • หากมองภาพใหญ่ของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมานับว่ามีความท้าทายที่ต้องเผชิญหน้าอยู่อีกมาก ไม่ว่าจะเป็น การเข้าสู่สังคมสูงวัย หนี้ครัวเรือนสูง และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งการเมืองไทยที่ดูเหมือนกับว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะล่าช้า ทำไทยเสียโอกาสในหลายด้าน

Latest


แต่ทั้งนี้คาดว่าสถานการณ์ของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังปี 2566 จะมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการบริโภคในครัวเรือนและการลงทุนทำธุรกิจมากขึ้น จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะฟื้นเร็ว รวมทั้งภาคการส่งออกที่น่าจะกลับมาเป็นบวก ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่จะทรงตัว แต่ยังคงต้องจับตาปัจจัยในประเทศอย่างการจัดตั้งรัฐบาล รวมทั้งเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวโดยเฉพาะจีน และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด


ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย แนะลูกค้า-นักลงทุนสร้างพอร์ตการลงทุนแบบปลอดภัย เน้นการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น ลงทุนในสินทรัพย์ผสม (multi-asset) และตราสารหนี้ประเภท Investment Grade (IG) ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว สำหรับนักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงได้และมองหาโอกาสในการลงทุนใหม่ แนะนำลงทุนในกลุ่มการดูแลสุขภาพทั่วโลก (Global Healthcare) และในกลุ่มเอเชียแปซิฟิกที่ไม่รวมญี่ปุ่น (Asia-ex Japan) อาเซียน (ASEAN) และ ตลาดจีน (China) รวมทั้งคาดการณ์เงินบาทน่าจะเคลื่อนไหวตามค่าเงิน CNY จนกว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะชัดเจน 


ในงานสัมมนาการลงทุน Mid-Year Outlook ได้มีการสำรวจและวิเคราะห์เจาะลึกโอกาสการลงทุนในตลาดหุ้นในเอเชียแปซิฟิกที่ไม่รวมญี่ปุ่น (Asia-ex Japan) ที่ถูกจับตาว่ากำลังเติบโตดีกว่าตลาดที่พัฒนาแล้ว (Developed Markets-DM)  


อัตราเงินเฟ้อของไทยเฉลี่ยทั้งปีนี้จะอยู่ที่ร้อยละ 2.7

นายเอ็นริโก้ ทานูวิดฮาฮา นักเศรษฐศาสตร์ Global Economic and Market Research ธนาคารยูโอบี เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ธนาคารมองว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ในปีนี้ อีกทั้งมีความเป็นไปได้ที่จะขยับขึ้นไปสูงถึงร้อยละ 3.5 ในปี 2567 


นอกจากนี้ผลพวงจากการฟื้นตัวของภาคธุรกิจท่องเที่ยวและแรงหนุนจากปัจจัยภายนอกจะช่วยให้ประเทศไทยคงสถานภาพดุลการค้าเกินดุล โดยธนาคารเชื่อมั่นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยยังคงมีแนวโน้มเติบโตดี มีสถานะทางการคลัง และนโยบายการเงินที่มั่นคง


แต่ทั้งนี้การฟื้นตัวอาจได้รับผลกระทบจากความตึงเครียดทางด้านภูมิศาสตร์ การชะลอตัวของจีน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศที่ซบเซา


ขณะเดียวกันธนาคารคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยเฉลี่ยทั้งปีนี้จะอยู่ที่ร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบร้อยละ 6 ในปีที่ผ่านมา ซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำลงนี้ จึงส่งผลกระทบเชิงลบน้อยลงต่อสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศโดยรวม และสอดคล้องกับค่าเฉลี่ยของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ประเมินอยู่ที่ร้อยละ 1-3 ดังนั้นทางธนาคารจึงประเมินว่าในปีหน้าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีจะลดลงไปอยู่ที่ร้อยละ 2.2 จากระบบห่วงโซ่อุปทานโลกที่เข้าสู่ภาวะฟื้นตัว 


คาดเงินบาทเคลื่อนไหวตามค่าเงินหยวนจีน จนกว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะชัดเจน 

แต่กระนั้นถึงแม้ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายจากการเข้าสู่สังคมสูงวัย และปัญหาหนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้น นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารยูโอบี ก็ยังคงเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยยังคงสามารถมองหาโอกาสในการพัฒนา จากภาคการส่งออกอาหารที่มีความเข้มแข็ง การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และอีคอมเมิร์ซ


ส่วนทางด้านเงินบาทน่าจะเคลื่อนไหวตามค่าเงิน CNY (หยวนจีน) จนกว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะชัดเจน นอกจากนี้ทางธนาคารได้ปรับมุมมองที่คาดว่าเงินบาทจะแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาคลง เนื่องจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะจากจีนไม่ได้เป็นไปตามที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ คาดว่าเงิน USD/THB จะอยู่ที่ 35.5 ในไตรมาส 3/66,34.00 ในไตรมาส 4/66, 33.5 ในไตรมาส 1/67 และ 33.0 ในไตรมาส 2/67


ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือการกระจายความเสี่ยง เพราะสิ่งที่ให้น้ำหนักในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังถดถอยซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2567 คือ Downside Protection ดังนั้นต้องจำกัดความเสี่ยงขาลงในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว ส่วนพอร์ตโฟลิโอที่ธนาคารแนะนำคือ ตราสารหนี้ เพราะจะช่วยชนะตลาดได้เมื่อเทียบกับหุ้นในอดีตที่ผ่านมาสามารถชนะได้สูงถึง 16% นอกจากนี้ในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอยนี้จะส่งผลให้ตราสารหนี้ได้รับผลตอบแทนทั้งสองฝั่งด้วยเช่นกัน


กลยุทธ์สร้างพอร์ตลงทุนเพื่อรับมือกับความผันผวน 

ส่วนทางด้านนายเอเบล ลิม Head of Wealth Management Advisory and Strategy ธนาคารยูโอบี เน้นย้ำถึงความสำคัญในการถือพอร์ตลงทุนที่มีความหลากหลายที่ตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ทางการเงินในระยะยาวของนักลงทุน ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา นักลงทุนได้รับผลกำไรตามคาดหมายควบคู่ไปกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดหลายอย่าง เช่น การล่มสลายของธนาคารระดับภูมิภาคถึง 3 แห่งทั้งในและนอกประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ก่อให้เกิดวิกฤติความเชื่อมั่นในวงการธนาคาร ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจในตลาดที่พัฒนาแล้ว (Developed Market) เริ่มเข้าสู่สภาวะชะลอตัว และอาจทำให้สภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกในช่วงครึ่งปีหลังนี้เกิดความผันผวนอย่างต่อเนื่อง ธนาคารจึงแนะนำกลยุทธ์การลงทุนที่จะช่วยให้ลูกค้าสามารถสร้างพอร์ตการลงทุนที่เข้ากับวัตถุประสงค์ทางการเงินในระยะยาว


ซึ่งปัจจุบันเป็นโอกาสที่ดีสำหรับลูกค้าที่ควรลงทุนในตราสราหนี้ประเภท Investment Grade (IG) เพื่อเพิ่มผลตอบแทนที่สูงขึ้น เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อได้ขึ้นไปแตะจุดสุงสุด และการดำเนินนโยบายทางการเงินทั่วโลกแบบรัดกุมกำลังเข้าสู่จุดสิ้นสุด โดยการลงทุนในตราสารหนี้ที่ถือครองแบบระยะยาวจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า และโอกาสในการซื้อตราสารหนี้ที่น่าสนใจเหล่านี้อาจหมดไปในอนาคตอันใกล้นี้ อีกทั้งการลงทุนในตราสารหนี้มักจะให้ผลตอบแทนสูง และกำไรจากส่วนต่าง (Capital Gain) ดีกว่าการลงทุนในหุ้น ในช่วงที่สภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวหรือถดถอย


ธีมการลงทุนที่น่าสนใจ

ในส่วนของ Top Ideas สำหรับลูกค้าที่ต้องการจะลงทุนในหุ้น แนะนำให้ลูกค้าลงทุนในกลุ่มการดูแลสุขภาพทั่วโลก (Global Healthcare) เนื่องจากเป็นหุ้นที่มีความเสี่ยงต่ำ มีความปลอดภัย และมีการเติบโตเชิงโครงสร้างในระยะยาว 

รวมทั้งที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการรองรับสังคมผู้สูงอายุและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และหุ้นในเอเชียแปซิฟิกที่ไม่รวมญี่ปุ่น อาเซียน และ จีน (Asia-ex Japan/ASEAN/China) แม้จะยังเจอแรงปะทะในระยะสั้นจากการที่เศรษฐกิจจีนยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ และมูลค่าการส่งออกทั่วภูมิภาคเอเชียปรับตัวลดลง แต่ในมุมมองระยะกลาง เป็นไปในเชิงบวก จากการบริโภคในภูมิภาคที่ยังแข็งแรง อีกทั้งระดับมูลค่าหุ้นในกลุ่มนี้ยังอยู่ในระดับที่ต่ำ 


พัฒนาเทคโนโลยีและโซลูชันด้านการบริหารความมั่งคั่ง 

นายกิดอน เจอโรม เคสเซล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผลิตภัณฑ์เงินฝากและบริหารการลงทุนบุคคลธนกิจ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ได้เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของธนาคารยูโอบีในการพัฒนาขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและการให้บริการเฉพาะบุคคล โดยกล่าวว่า “ธนาคารยูโอบีมีทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนและเทคโนโลยี ที่พร้อมให้บริการแนะนำการลงทุนแบบครบวงจรอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ธนาคารจะมีการเปิดตัว PAT (Portfolio Advisory Tool) ที่จะช่วยให้ลูกค้าสามารถตรวจสอบและบริหารพอร์ตลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

ธนาคารยูโอบีพร้อมให้คำปรึกษากลยุทธ์การลงทุนในกองทุนรวมในประเทศ และกองทุนรวมต่างประเทศ รวมถึงมอบบริการเฉพาะบุคคลที่คำนึงถึงเป้าหมายในการลงทุนของลูกค้าแต่ละราย ร่วมกับสิทธิพิเศษและสิทธิประโยชน์แก่ลูกค้าที่เหมาะสมกับทุกสถานการณ์ตลาด และความต้องการในทุกช่วงของชีวิต

นักลงทุนต้องตระหนักถึงความเสี่ยงที่ตนเองยอมรับได้ และกระจายพอร์ตการลงทุนให้หลากหลายเพื่อลดความเสี่ยงจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน ด้วยทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนของธนาคารยูโอบี และผลิตภัณฑ์และบริการลงทุนที่หลากหลายและครบวงจรสำหรับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์นอกประเทศไทย ธนาคารสามารถมอบคำแนะนำด้วยความใส่ใจในทุกเรื่องที่สำคัญสำหรับนักลงทุน ก่อนการตัดสินใจลงทุนใดๆ นักลงทุนควรตรวจสอบให้แน่ใจเสมอว่าพวกเขามีเป้าหมายการลงทุนที่ชัดเจนและได้พิจารณาถึงปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น


จากสถานการณ์การเงินที่ไม่แน่นอน นายเอ็นริโก้ มีมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง และปีหน้า มี 2 มิติที่จะต้องติดตาม โดยอันดับแรกจะต้องดูเสถียรภาพที่จะมีความชัดเจนในวันพรุ่งนี้ แต่หากแบ่งออกเป็น 2 senarios ดังนี้ คือ 1. ใครจะได้รับเลือกให้เป็นรัฐบาล หากเป็นรักษาการในปัจจุบันอาจจะเห็นนโยบายเศรษฐกิจไม่ต่างจากเดิมมากนัก การขาดดุลการคลังประมาณ 3-4%


2. หากเป็นฝั่งตรงข้ามน่าจะได้เห็นการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ หรือแม้แต่สวัสดิการต่างๆ ที่จะเพิ่มเข้ามา ซึ่งตรงนี้อาจจะส่งอาจจะส่งผลให้การขาดดุลการคลังสูงขึ้น และจะส่งผลต่อฐานะการคลังของไทยด้วยเช่นกัน แต่ทั้งนี้หากการขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้นอาจจะส่งผลให้เชิงบวกกับเศรษฐกิจได้ ซึ่งถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจเข้าไป จึงถือได้ว่าอาจจะดีกับการลงทุน แต่ในระยะยาวจะมีความท้าทายอื่นๆ ที่รออยู่ไม่ว่าจะเป็นสังคมสูงวัย หรือแม้แต่ในด้านของหนี้ครัวเรือนที่ยังสูงอยู่ก็จะทำให้การใช้นโยบายเป็นไปอย่างจำกัด


ทั้งนี้สิ่งที่เป็นระยะยาว คือ เนื่องจากประเทศไทยมีศักยภาพในหลากหลายด้าน อาทิ อุตสาหกรรมการส่งออกอาหาร จึงต้องผลักดันทางด้านนี้ในฐานะที่เป็นผู้นำ ถัดมาคืออุตสาหกรรมยา อีกทั้ง Digital Transformation หรือแม้กระทั่งการสนับสนุนการบริโภคอาจจะเกิดอานิสงส์ตามมา และสุดท้ายคือ EV ที่ไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่ค่อนข้างแข็งแรง และมีกำลังการผลิตที่มหาศาลเพื่อล้อไปกับเทรนด์ที่กำลังโตนี้ได้ ก็จะเป็นอานิสงส์ต่อเศรษฐกิจไทยในภาพใหญ่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ